ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดอ่างทอง

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดอ่างทอง

มะพลับ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diospyros malabarica var. siamensis (Hochr.) Phengklai ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขะนิง ถะยิง (นครราชสีมา),          มะเขื่อเถื่อน (สกลนคร), ตะโกสวน ปลาบ (เพชรบุรี), ตะโกไทย (ภาคกลาง), ตะโกสวน พลับ มะพลับใหญ่ (ทั่วไปเรียก), มะสุลัวะ (ลำปาง-กะเหรี่ยง) เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นมะพลับ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ทรงพุ่มกลมทึบ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทาปนดำ หรือบางทีแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาว ส่วนเนื้อไม้เป็นสีขาว มีถิ่นกำเนิดในป่าดงดิบของประเทศไทย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย มีนํ้าและความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดจัด มะพลับเป็นไม้ป่าดงดิบ พบขึ้นในป่าที่ลุ่มตํ่าบริเวณกันชนระหว่างป่าบกและป่าชายเลน ชายป่าพรุ บริเวณชายคลอง ป่าดิบใกล้แหล่งนํ้า ป่าละเมาะริมทะเล และตามเรือกสวนทั่วไป ในประเทศไทยพบได้ทางภาคใต้ ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่มาเลเซีย อินเดีย และในชวาเกาะเซลีเบส
ใบ : ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอกกลับ ปลายใบแหลมทู่ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบแต่มีสีอ่อนกว่า หรือมีขนประปรายบ้างตามเส้นกลางใบด้านล่าง โดยมีเส้นใบประมาณ 6-12 คู่ แต่ละเส้นมีลักษณะคดงอไปมา พอมองเห็นได้ทั้งสองด้าน ส่วนก้านใบมีขนประปราย

ดอก : ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่กันคนละต้น ดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ โดยจะออกตามซอกใบ ก้านดอกมีขนอยู่หนาแน่น มีกลีบดอก 4-5 กลีบ ส่วนดอกเพศเมียจะออกดอกเดี่ยว สีเหลือง ก้านดอกมีขนคลุมแน่น ที่โคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็นแฉกแบบตื้น ๆ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ที่โคนและปลายผลบุ๋ม ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงมีขนสีนํ้าตาลแผ่กว้างแนบกับส่วนล่างของผล ขอบกลีบเป็นคลื่น ๆ กลีบไม่พับกลับ ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเหลือง ผลสุกหรือผลแก่จะค่อนข้างนุ่ม ผิวมีเกล็ดสีนํ้าตาลแดงคลุม เกล็ดเหล่านี้จะหลุดได้ง่าย ภายในมีเมล็ด 8 เมล็ด เป็นสีนํ้าตาลดำทรงรีแป้น โดยจะติดผลในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม

การใช้ประโยชน์
เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องกลึงและแกะสลัก, เปลือกให้นํ้าฝาดสำหรับฟอกหนัง, ยางของลูกมะพลับให้สีนํ้าตาลนำมาละลายนํ้าใช้ย้อมผ้า แห และอวน เพื่อให้ทนทานเช่นเดียวกับตะโก แต่ยางของลูกมะพลับใช้ได้ดีกว่ามาก เพราะไม่ทำให้เส้นด้ายแข็งกรอบเหมือนผลตะโก จึงทำให้ยางของมะพลับมีราคาดีกว่าตะโกมาก

สรรพคุณทางยา
เปลือกต้นและเนื้อไม้ : มีรสฝาดมีสรรพคุณใช้ต้มกับนํ้าดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้บิด แก้ท้องร่วง ขับผายลม แก้กามตายด้าน บำรุงความกำหนัด เป็นยาสมานแผล และห้ามเลือด, ผลแก่รับประทานได้
เปลือกต้น : เป็นยาลดไข้
เปลือกและผลอ่อน : ใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย
เปลือกและผลแก่ : มีรสฝาดหวาน ใช้เป็นยารักษาแผลในปาก แก้คออักเสบ ด้วยการใช้เปลือกและผลแก่นำมาต้มเป็นยาอม กลั้วคอ

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: