ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด

กระบก ชื่อวิทยาศาสตร์ : Irvingia malayana ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ มะลื่น หมักลื่น (สุโขทัย, นครราชสีมา), ซะอัง (ตราด), หลักกาย (ส่วน-สุรินทร์), มื่น มะมื่น (ภาคเหนือ), บก หมากบก หมากกระบก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กะบก กระบก จะบก ตระบก (ภาคกลาง), จำเมาะ (เขมร), ไม้มื่น (ขมุ), เปรียวด้องเดี๋ยง (เมี่ยน), สือมั่วลื้อ (ม้ง) เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กระบก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบ ทรงเรือนยอดเป็นพุ่มแน่นทึบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นเปลา เปลือกต้นมีสีเทาอ่อนปนสีนํ้าตาลค่อนข้างเรียบ โคนต้นมักขึ้นเป็นพูพอน เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินทุกชนิด ในที่กลางแจ้ง ต้องการนํ้าและความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ

ใบกระบก

ใบกระบก : มีใบเป็นใบเดี่ยวติดเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรีแกมรูปขอบขนานจนถึงรูปใบหอก เนื้อใบหนาเกลี้ยงทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบ โคนใบมนแหลมหรือเว้าเล็กน้อย สอบเรียวไปทางปลายใบ ปลายใบแหลมทู่ ขอบใบเรียบ มีเส้นแขนง ปลายใบเป็นติ่งมน มีหูใบ หูใบมีลักษณะพิเศษคือ ม้วนหุ้มยอด เรียวแหลม โค้งเล็กน้อยลักษณะเป็นรูปดาบ ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร

ดอกกระบก

ดอกกระบก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกมีสีเขียวอมเขียวอ่อน มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้อยู่ 10 อัน และจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม

ลูกกระบก
เมล็ดกระบก

ผลกระบก หรือ ลูกกระบก : ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี หรือค่อนข้างเป็นรูปไข่ คล้ายกับผลมะม่วงขนาดเล็ก โดยผลอ่อนจะมีสีเขียว ผลแก่ จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ในผลมีเมล็ดและมีเนื้อหุ้มเมล็ด เหมือนมะม่วง
เมล็ดกระบก หรือ เม็ดกระบก เมล็ดโตเป็นรูปไข่ เป็นเมล็ดเดี่ยว มีเปลือกแข็ง เนื้อในเมล็ดมีสีขาวอัดแน่นอยู่ (ลักษณะเป็นเนื้อแป้ง) และมีนํ้ามัน มักติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

เปลือกต้นกระบก

ประโยชน์ของกระบก
ไม้กระบกเป็นไม้เนื้อแข็งและหนัก มีเสี้ยนตรงแข็งมาก ไม่แตกแยกเมื่อแห้ง สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือกสิกรรมต่าง ๆ เช่น ครก สาก เครื่องสีข้าว รวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในร่ม และยังนำมาทำเป็นฟืน หรือถ่านที่ให้ความร้อนสูงได้ เป็นต้น เนื้อในเมล็ดมีรสหวานมัน นิยมนำมาคั่วรับประทานเป็นของว่าง มีรสคล้ายกับถั่วลิสง หรือที่เรียกว่า “กระบกคั่ว ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักหรือรับประทานกับลาบ

สรรพคุณทางยา
นํ้ามันจากเมล็ด : นํ้ามันเมล็ดกระบกช่วยบำรุงสมอง, ช่วยบำรุงหัวใจ, ช่วยรักษาริดสีดวงจมูก, ช่วยบรรเทาอาการหอบหืด
เมล็ด : ช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย, ช่วยฆ่าพยาธิในท้อง, ช่วยบำรุงไต, เนื้อในเมล็ดมีรสร้อน ช่วยบำรุงเส้นเอ็น แก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงไขข้อกระดูก แก้ข้อขัดได้
เนื้อไม้ : ช่วยทำให้เจริญอาหาร, ช่วยขับพยาธิในเด็ก
ผล : ลูกกระบกใช้เป็นยาระบาย ด้วยการใช้ผลกระบกอ่อนประมาณ 1 กำมือ นำมาตมผสมกับพริกเกลือ แล้วใช้รับประทานสัปดาห์ละครั้ง (หากใช้เยอะมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย), (สามารถใช้ได้ทั้งคนและสัตว์) หากเป็นคนให้ใช้ผลกระบกไม่แก่หรืออ่อนมากเกินไปประมาณ 3 ลูก ตำผสมกับนํ้าซาวข้าว 1 ถ้วยตราไก่ขนาดกลาง แล้วกรองเอาแต่นํ้ามาดื่มกินก่อนนอนวันละครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน ส่วนถ้าเป็นสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขที่เป็นขี้เรื้อน ก็ให้ใช้สูตรเดียวกับคน แต่ให้เพิ่มปริมาณของผลกระบกเป็นเท่าตัว ใช้กินไม่เกินสามวันหายขาด
ใบ : ช่วยแก้อาการคันตามผิวหนัง

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: