ตะเคียนหิน ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hopea ferrea ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ตะเคียนหิน (ใต้) เคียนทราย (ตราด, ตรัง) ตะเคียนหนู (นครราชสีมา) เหลาเตา (สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช) กระจายพันธุ์ในแถบอินโดจีนและคาบสมุทรมลายู
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ตะเคียนหินเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 15-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือรูปกรวยแหลม โคนต้นมีพูพอน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปหอกแกมรูปไข่ กว้าง 2.5-3 เซนติเมตร ยาว 6-8.5 เซนติเมตร โคนใบทู่หรือกลมแล้วค่อย ๆ เรียวไปหาปลายใบ ปลายใบยาวคล้ายหาง ใบเกลี้ยงเป็นมันทั้งสองด้าน มีเส้นแขนงใบ 8-10 คู่ ก้านใบยาว 1-1.3 เซนติเมตร เมื่อแห้งจะมีสีดำ
ดอก : เป็นช่อแบบแยกแขนงสั้น ออกระหว่างง่ามใบหรือปลายกิ่ง มีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ จีบเวียนเป็นรูปกังหัน กลีบดอกยาวเป็นสองเท่าของกลีบเลี้ยง มีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนเช่นกัน
ผล : เป็นผลแห้งไม่แตก มีผิวแข็ง เป็นรูปขอบขนาน มีปีก 5 ปีก ผลและโคนปีกไม่เชื่อมติดกัน ปีกยาว 2 ปีก รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ปีกสีนํ้าตาลดำ ปีกสั้น 3 ปีก สั้นมากติดกับโคนผล
พบขึ้นในป่าดิบแล้ง ตามที่ลาดเชิงเขา ที่มีการระบายนํ้าดี มีกระจายตามสันเขา และที่ราบ เหนือระดับนํ้าทะเล 100-350 เมตร ทางภาคเหนือ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ การขยายพันธุ์ของไม้ชนิดนี้ดีมาก และเป็นพันธุ์ไม้ที่เข้าไปแทนที่ไม้เดิมของป่านั้น ๆ ทางภาคใต้พบขึ้นตามเขาหินปูนทั่ว ๆ ไป
สรรพคุณทางยา
แก่น : รสฝาดเฝื่อน ใช้เข้ายารักษาโรคเลือดลมไม่ปกติ แก้กระษัย
เปลือกต้น : รสฝาด ต้มนํ้าใช้ล้างแผล หรือผสมกับเกลืออมเพื่อป้องกันฟันผุ แก้พิษปรอท
ดอก : รสสุขุมหอม ใช้เข้ายาไทยเป็นเกสรร้อยแปด
ต้น : มียางไม้ที่มีกลิ่นหอมมาก แก่นใช้เป็นเครื่องยา รักษาโรคเลือดลม แก้กษัย นํ้าต้มเปลือกใช้ชะล้างบาดแผลเรื้อรัง และผสมกับเกลือ อมเพื่อป้องกันฟันหลุด เนื่องจากได้รับสารปรอทเข้าไป