ยางนา ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยางกุง (เลย), ยางควาย (หนองคาย), ชันนา ยางตัง (ชุมพร), ยางขาว ยางแม่นํ้า ยางหยวก (ภาคเหนือ), ยางใต้ ยางเนิน (ภาคตะวันออก), ยาง (ภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กาตีล (เขมร-ปราจีนบุรี), ขะยาง (ชาวบน-นครราชสีมา), จะเตียล (เขมร), เยียง (เขมร-สุรินทร์), จ้อง (กะเหรี่ยง), ทองหลัก (ละว้า), ราลอย (ส่วย-สุรินทร์), ลอยด์ (โซ่-นครพนม), ด่งจ้อ (ม้ง), เห่ง (ลื้อ) เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นยางนา จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง 50 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ โคนต้นมักเป็นพูพอน ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เปลือกต้นเกลี้ยงเป็นสีออกเทาอ่อน หลุดลอกออกเป็นชิ้นกลม ๆ เนื้อไม้เป็นสีนํ้าตาลแดง เสี้ยนตรง เนื้อหยาบ ส่วนตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนและมีรอยแผลใบเห็นได้ชัด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (เด็ดปีกออกก่อนนำไปเพาะ เมล็ดจะงอกภายในเวลา 12 วัน และภายในเวลา 7 เดือน ต้นกล้าจะมีความสูงได้ประมาณ 30-35 เซนติเมตร และพร้อมที่จะย้ายไปปลูกได้) เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิด ชอบดินที่มีอินทรียวัตถุค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวัน มักขึ้นในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ตามที่ตํ่าชุ่มชื้นใกล้แม่นํ้าลำธารทั่วไป และตามหุบเขาทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ความสูงจากระดับนํ้าทะเลประมาณ 50-400 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่บังกลาเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามใต้ และมาเลเซีย
สรรพคุณทางยา
ตำรายาไทยจะนำนํ้าต้มจากเปลือกเป็นยาบำรุงร่างกาย ฟอกเลือด บำรุงโลหิต แก้ตับอักเสบ และใช้ทาถูนวดขณะร้อน ๆ เป็นยาแก้ปวดตามข้อ
นํ้ามันยาง : นํ้ามันยางใช้ผสมกับเมล็ดกุยช่าย (Allium tuberosum Rottler ex Spreng.) นำมาคั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด ใช้เป็นยาอุดฟันแก้ฟันผุ, ใช้นํ้ามันยาง 1 ส่วน ผสมกับแอลกอฮอล์กิน 2 ส่วน แล้วนำมารับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้มุตกิดระดูขาวของสตรี หรือใช้จิบเป็นยาขับเสมหะก็ได้, นํ้ามันยางจากต้นมีรสร้อนเมาขื่น มีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล ห้ามหนอง ใช้เป็นยาทาแผลเน่าเปื่อย แผลมีหนอง แผลโรคเรื้อน แก้โรคหนองใน และเป็นยากล่อมเสมหะ
เมล็ด, ใบ : มีรสฝาดร้อน นำมาต้มใส่เกลือ ใช้อมแก้ปวดฟัน ฟันโยกคลอน
ใบ, ยาง : มีรสฝาดขมร้อน ใช้รับประทานกินเป็นยาขับเลือด ตัดลูก (ทำให้เป็นหมัน)
นํ้ามันยางดิบ : มีรสร้อนเมาขื่น มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายหัวริดสีดวงทวารหนักให้ฝ่อ