ชิงชัน ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia oliveri Gamble มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ กระซิก กระซิบ กำพี้ต้น เก็ด เก็ดดำ เก็ดแดง ดู่ลาย ดู่สะแดน ประดู่ชิงชัน พะยูงแกลบ พะยูงแดง พะยูงหิน ยูน อัญชัน ประดู่ชิงชัน ดู่สะแดน เก็ดแดง อีเม็ง พยุงแกลบ กะซิก กะซิบ หมากพลูตั๊กแตน เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ชิงชันเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงใหญ่ ผลัดใบ สูง 15-20 เมตร เรือนยอดพุ่มกลม ลำต้นเปลาตรง เปลือกหนาสีเทาหรือสีนํ้าตาลเทา กระเทาะล่อนเป็นแผ่น
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับระนาบเดียวกัน ใบย่อยเรียงสลับ มี 5-8 คู่ ใบรูปรี รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบสอบทู่ โคนใบมนหรือสอบ ใบเกลี้ยง ผิวใบด้านล่างมีนวลสีขาว ขอบใบเรียบ
ดอก : ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง สีขาวอมม่วงหรือม่วงคราม ช่อดอกยาว 10-30 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงรูปกรวยปลายแยก 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบบน ใหญ่ที่สุด สองกลีบข้าง ๆ ขนาดเล็กกว่ากลีบคู่ล่างสุดเชื่อประสานกันเป็นรูปท้องเรือ ดอกบานเต็มที่ กว้าง 8-10 มิลลิเมตร
ผล : เป็นฝักแบน รูปทรงขอบขนาน สีเขียวเป็นมัน ฝักแห้งไม่แตก กว้าง 3-3.5 เซนติเมตร ยาว 8-17 เซนติเมตร เมล็ดรูปไตเรียงตามยาวมี 1-3 เมล็ด ส่วนที่หุ้มเมล็ดบนเป็นกระเปาะแข็ง
การกระจายพันธุ์ : พบในป่าเบญจพรรณทั่วไปและป่าดิบแล้ง ในพื้นที่ที่มีความสูงใกล้กับระดับนํ้าทะเล จนถึง 500 เมตร
ประโยชน์
เนื้อไม้สีนํ้าตาอ่อนอมเหลืองมีเส้นแทรกสีดำ เนื้อละเอียดปานกลาง แข็งและเหนียวมาก เลื่อยผ่าตกแต่งยาก แต่ขัดชักเงาได้ดีมาก ใช้ทำเครื่องเรือน ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ต่าง ๆ ได้สวยงามและทนทาน
สรรพคุณทางยา
แก่น : แก่นของชิงชันจะมีรสฝาด สามารถนำมาใช้บำรุงเลือด เหมาะกับสตรีหลังคลอด
เปลือก : เปลือกของชิงชันสามารถนำมาใช้ใน การสมานแผล รักษาแผลเรื้อรังได้