ต้นไม้พระราชทานประจำจังหวัดสุพรรณบุรี

ต้นไม้พระราชทานประจำจังหวัดสุพรรณบุรี

มะเกลือ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diospyros mollis Griff. ชื่อท้องถิ่น    อื่น ๆ ว่า มักเกลือ (เขมร-ตราด), มักเกลือ หมักเกลือ มะเกลือ (ตราด),           ผีเผา ผีผา (ฉาน-ภาคเหนือ), มะเกือ มะเกีย (ภาคเหนือ), เกลือ (ภาคใต้), มะเกลือ (ทั่วไป) เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นมะเกลือ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า และไทย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-30 เมตร มีเรือนยอดเป็นพุ่ม ลำต้นเปลา ที่โคนต้นมักขึ้นเป็นพูพอน ที่ผิวเปลือกเป็นรอยแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ตามยาว สีดำ เปลือกด้านในมีสีเหลือง ส่วนกระพี้มีสีขาว แก่นมีสีดำสนิท เนื้อมีความละเอียดเป็นมันสวยงาม ที่กิ่งอ่อนมีขนนุ่มขึ้นอยู่ประปราย โดยทุกส่วนของมะเกลือเมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด สามารถพบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ พบได้มากในจังหวัดลพบุรี ราชบุรี สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ สกลนคร และอุดรธานี
ใบมะเกลือ : เป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรี เรียงแบบสลับ โคนใบกลมหรือมน ปลายใบสอบเข้าหากัน ผิวใบเกลี้ยง ใบอ่อนจะมีขนปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน

ดอกมะเกลือ : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศต่างต้นกัน ดอกตัวผู้จะมีขนาดเล็ก สีเหลืองอ่อน ในหนึ่งช่อจะมีอยู่ 3 ดอก ส่วนดอกตัวเมียจะเป็นดอกเดี่ยว ลักษณะของดอกเหมือนกัน ที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายกลีบดอกจะแยกเป็น 4 กลีบ มีสีเหลือง เรียงเวียนซ้อนทับกัน ที่กลางดอกจะมีเกสร

ผลมะเกลือ : ลักษณะของผลกลม มีผิวเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง ส่วนผลแก่เป็นสีดำ ผลเมื่อแก่จัดจะแห้ง ที่ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่บนผล 4 กลีบ ผลมีเมล็ดแบนสีเหลืองประมาณ 4-5 เมล็ด

ประโยชน์
ไม้มะเกลือ มีความละเอียดและแข็งแรงทนทาน สามารถนำมาใช้ทำเครื่องเรือนได้เป็นอย่างดี หรือจะใช้ทำเป็นเครื่องดนตรี เครื่องประดับมุก เครื่องเขียน เฟอร์นิเจอร์ ตะเกียบ ฯลฯ เปลือกนำไปปิ้งไฟให้เหลือง ใช้ใส่ผสมรวมกับนํ้าตาล นำไปหมักก็จะได้แอลกอฮอล์หรือที่เรียกว่านํ้าเมา เปลือกต้นมะเกลือใช้ทำเป็นยากันบูดได้ ผลมะเกลือสุกมีสีดำ ซึ่งสามารถนำมาใช้ย้อมผ้าหรือย้อมแห โดยจะให้สีดำ สีที่ได้จะเข้มและติดทนนาน สีดำที่ได้จากผลมะเกลือยังนำมาใช้ทาไม้ให้มีสีดำเป็นมันในการฝังมุกโต๊ะและเก้าอี้ ช่วยทำให้มีลวดลายสวยงามและเด่นมากขึ้น

สรรพคุณทางยา
มะเกลือ มีสรรพคุณในด้านการแพทย์ที่โดดเด่นมากที่สุดนั่นก็คือ การนำมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิได้หลายชนิด
ลำต้น, เปลือกต้น, ราก, ทั้งต้น : ช่วยแก้กระษัย
เปลือกต้น : ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร, ช่วยแก้พิษ
ลำต้น : ช่วยแก้ตานซางขโมย, ต้มกับนํ้าอาบช่วยรักษาโรคดีซ่าน
ผลสด, แก่น, เปลือกต้น, ราก, ทั้งต้น : ช่วยแก้พิษตานซาง
เปลือกต้น, ทั้งต้น : ช่วยขับเสมหะ
ราก, แก่น : ช่วยแก้ลม อาการหน้ามืด
ราก : รากมะเกลือมีรสเบื่อเมา ใช้ฝนกับนํ้าซาวข้าว ใช้รับประทานแก้ลม แก้อาเจียน, ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร
แก่น : ช่วยแก้ฝีในท้อง
ใบ : นำมาตำคั้นเอาแต่นํ้าผสมกับสุรา ใช้ดื่มแก้อาการตกเลือดภายหลังการคลอดบุตรของสตรี
เปลือกต้น, ราก : ช่วยแก้พิษตานซาง
ลำต้น, แก่น, เปลือกต้น, ราก, เมล็ด, ทั้งต้น : ช่วยขับพยาธิ
ข้อควรระวังในการใช้มะเกลือขับพยาธิ
ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีหลังคลอดใหม่ ๆ หรือในเด็กอายุตํ่ากว่า 10 ขวบ รวมไปถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร มีอาการขับถ่ายผิดปกติอยู่บ่อย ๆ มีอาการไข้ เป็นต้น
ควรเลือกใช้ลูกมะเกลือสดผลสีเขียวเท่านั้น ไม่ควรรับประทานผลมะเกลือสุกหรือผลมะเกลือสีดำในการถ่ายพยาธิโดยเด็ดขาด เพราะมีพิษอันตรายมาก อาจทำให้ตาบอดได้ สำหรับการใช้ผลมะเกลือเพื่อช่วยขับพยาธิ ห้ามใช้เกินกว่าขนาดที่แนะนำ

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: