โพทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thespesia populnea ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปอกะหมัดไพร (ราชบุรี), ปอหมัดไซ (เพชรบุรี), บากู (ปัตตานี, มลายู-นราธิวาส), โพทะเล โพธิ์ทะเล (ภาคกลาง) เป็นต้น โพทะเลมีเขตการ กระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง สามารถพบได้ในแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงมาเลเซีย และในหมู่เกาะแปซิฟิค สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ตามชายฝั่งทะเลทั่วไป
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นโพทะเล จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 8-12 เมตร ลำต้นโค้งและแตกกิ่งในระดับตํ่า ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างและค่อนข้างหนาทึบ เปลือกเป็นสีเทาอ่อนหรือสีนํ้าตาล มีลักษณะเรียบหรือขรุขระมีรอยแตกตามยาวเป็นร่อง ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัด เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิดที่มีความชุ่มชื้น และจะพบได้มากที่ดอนหรือตามชายฝั่งทะเล และตามริมแม่นํ้าที่เป็นดินร่วนปนทราย
ใบ : ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบกว้างแหลมยาวถึงเรียวแหลม ส่วนฐานใบเว้าลึก ขอบใบเรียบ และมีเส้นใบออกจากโคนของใบประมาณ 5-7 เส้น ผิวใบด้านบนมีลักษณะเกลี้ยงและเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีเทาแกมสีนํ้าตาลและมีเกล็ด ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 16 ซม. และยังมีหูใบที่มีลักษณะเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.3-1 ซม. และหลุดร่วงได้ง่าย
ดอก : ออกดอกตามง่ามใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ตามซอกใบ ส่วนก้านดอกอ้วนสั้นและมีเกล็ด ดอกมีริ้วประดับ 3 แฉก ร่วงได้ง่าย มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ๆ และมีเกล็ด ส่วนวงกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วยไม่มีแฉก ลักษณะคล้ายแผ่นหนังไม่หลุดร่วง ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลือง ลักษณะเป็นรูปไข่ ส่วนโคนกลีบติดกันเป็นรูประฆังและมีจุดสีแดงเข้มอมสีนํ้าตาลแต้มอยู่ที่โคนกลีบดอกด้านใน โดยดอกจะบานเต็มที่ภายในวันเดียวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแกมสีม่วงอ่อนและเหี่ยวอยู่บนต้น ก่อนที่จะร่วงหล่นในวันถัดมา ส่วนหลอดเกสรตัวผู้เป็นสีเหลืองจาง ๆ และมีอับเรณูติดอยู่ตลอดตามความยาวของหลอด
ผล : ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 ซม. ผลเป็นสันตื้น ๆ 5 สัน มีนํ้ายางสีเหลือง ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่เป็นสีเขียวเข้ม เปลือกผลแข็ง มีวงกลีบเลี้ยงลักษณะคล้ายจานติดอยู่ที่ขั้วของผล เมื่อผลแก่จะแห้งแตกไม่มีทิศทาง ไม่ร่วงหล่นและติดอยู่บนต้น ในผลมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด หรือมีเมล็ด 4 เมล็ดในแต่ละช่อง ลักษณะของเมล็ดยาวรีคล้ายเส้นไหมเป็นสีนํ้าตาลอ่อนค่อนข้างแบน
สรรพคุณทางยา
ราก : ใช้กินเป็นยาบำรุง, ใช้เป็นยารักษาอาการไข้, ใช้เป็นยาระบาย, ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
ดอก : ใช้ต้มกับนํ้านมหยอดหู ใช้สำหรับรักษาอาการเจ็บหู โดยใช้ดอกสดประมาณ 2-3 ดอกนำมาต้มกับนํ้านมครึ่งถ้วยตวง แล้วนำมาหยอดหู จะช่วยแก้อาการเจ็บในหูได้
เปลือก : ใช้เป็นยาทำให้อาเจียน, (บ้างก็ว่านํ้าต้มจากเปลือกก็นำมาใช้ชะล้างแผลเรื้อรังได้เช่นกัน)
เมือก : เมือกที่ได้จากการนำส่วนของเปลือกสดมาแช่นํ้าใช้สำหรับรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร
ราก, ใบ : ใช้ทำเป็นยาระบายอ่อน ๆ, ใบใช้ทำเป็นผงยาสำหรับใช้ใส่รักษาแผลเรื้อรัง แผลสด และช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 2-3 ใบนำมาบดให้เป็นผงละเอียดแล้วนำมาพอกและทาบริเวณที่เป็นแผล
ผลและใบ : ใช้ตำพอกแก้หิด
ข้อควรระวัง ! : นํ้ามันที่ได้จากเมล็ดหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ ดังนั้นควรระมัดระวังให้มาก ส่วนยางจากต้นและเปลือก หากเข้าตาก็ทำให้ตาบอดได้ ส่วนเปลือกมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน
ดอก ผล และใบอ่อนสามารถนำมารับประทานได้