มะกลํ่าต้น ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adenanthera pavonina L. ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะแค้ก หมากแค้ก (แม่ฮ่องสอน), มะหล่าม (นครราชสีมา), บนซี (สตูล), ไพ (ปัตตานี), มะแดง มะหัวแดง มะโหกแดง (ภาคเหนือ), มะกลํ่าตาช้าง (ทั่วไป), หมากแค้ก มะแค้ก (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), มะแค้กตาหนู (คนเมือง), กัวตีมเบล้ (ม้ง), ซอรี่เหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), กล่องเคร็ด (ขมุ), ลิไพ, ไพเงินกํ่า เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มะกลํ่าต้น จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบระยะสั้น มีความสูงของต้นได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดแผ่กิ่งกว้าง ต้นเป็นทรงโปร่ง เปลือกลำต้นหนาเป็นสีนํ้าตาลอ่อน ส่วนเปลือกชั้นในนุ่มเป็นสีครีมอ่อน ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ระบายนํ้าได้ดี ชอบแสงแดดจัด พบขึ้นได้ตามป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง
ใบ : มะกลํ่าต้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรี รูปไข่ หรือเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบไม่สมมาตรกัน ส่วนขอบใบเรียบ มีประมาณ 8-16 คู่ เรียงสลับ แผ่นใบบางเป็นสีเขียวเข้ม ใบเรียบเกลี้ยง ด้านหลังใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวอมเทา ส่วนท้องใบเป็นสีอ่อนกว่า มีนวลเล็กน้อย มีขนนุ่ม ก้านใบย่อยสั้น ไม่มีหูใบ ส่วนก้านใบหลักมีหูใบขนาดเล็กมากและหลุดร่วงได้ง่าย
ดอก : มะกลํ่าต้น ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกแคบยาวเป็นรูปทรงกระบอก โดยจะออกดอกตามซอกใบช่วงบนหรือแตกแขนงที่ปลายกิ่ง และจะออกดอกเป็นช่อเดี่ยวหรือหลายช่อรวมกัน ช่อดอกมีความยาวประมาณ 7.5-20 ซม. ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อนอมสีครีม เมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ดอกจะมีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ ในช่วงเย็นคล้ายกลิ่นของดอกส้ม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
ผล : มะกลํ่าต้น ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปแถบแบนยาว ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะแตกออกเป็นสองตะเข็บและบิดม้วนงอเป็นเกลียวแน่นเพื่อกระจายเมล็ด และมีรอยคอดตามเมล็ดชัดเจน เมล็ดจะติดอยู่ในฝักเป็นเวลานาน ในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดประมาณ 10-15 เมล็ด
เมล็ด : มะกลํ่าต้น เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลม แข็ง ผิวมัน และเป็นสีแดงเลือดนกหรือเป็นสีแดงส้ม
ประโยชน์
ยอดอ่อนและใบอ่อนมีรสมัน ใช้กินเป็นผักสดร่วมกับอาหารได้หลายประเภท เช่น ลาบ ส้มตำ นํ้าตก และอาหารประเภทที่มีรสจัด หรือนำมาลวกจิ้มกับนํ้าพริก หรือนำมาแกง เมล็ดนำมาประดับตกแต่งเสื้อผ้าหรือตุ๊กตา ไม้มะกลํ่าต้น นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้เพราะเป็นฟืนที่ให้ความร้อนได้สูง เนื้อไม้จะให้สีแดงที่ใช้สำหรับย้อมผ้าได้, ทำเสาบ้าน ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ทำเรือ เกวียนได้ดี ฯลฯ เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งและหนัก
สรรพคุณทางยา
ใบ : มีรสฝาดเฝื่อน ใช้ต้มกินเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงธาตุในร่างกาย แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้โรคปวดข้อ แก้ลมเข้าข้อ และใช้เป็นยาฝาดสมาน
เนื้อไม้, เมล็ด : นำมาฝนกับนํ้าทาแก้อาการปวดศีรษะ หรือจะใช้เนื้อไม้ฝนกับนํ้าทาขมับก็แก้ปวดศีรษะได้เช่นกัน
ราก : เป็นยาแก้ร้อนใน รากมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น ใช้เป็นยาขับเสมหะ แก้เสมหะ กัดเสมหะในคอ ช่วยถอนพิษฝี
เนื้อไม้ : มีรสเฝื่อน ฝนกับนํ้ากินกับนํ้าอุ่นทำให้อาเจียน ช่วยแก้อาเจียน, แก้หืดไอ เสียงแหบแห้ง แก้อาการสะอึก และช่วยแก้ลมในท้อง
เมล็ด : มีรสเฝื่อนเมา นำมาบดผสมกับนํ้าผึ้งปั้นเป็นเม็ดกินแก้อาการจุกเสียด, เมล็ดนำมาบดผสมกับนํ้าผึ้ง ปั้นเป็นเม็ด ใช้กินเป็นยาแก้หนองใน, นำเมล็ดมาบดให้เป็นผงใช้โรยใส่แผลฝีหนอง ช่วยดับพิษฝี ดับพิษบาดแผล, เมล็ดนำมาฝนกับนํ้าทาแก้อักเสบ
เนื้อในเมล็ดมีรสเมาเบื่อ นำมาบดเป็นผงแล้วปั้นเป็นมัด ใช้กินเป็นยาขับพยาธิไส้เดือนและพยาธิเส้นด้าย หรือจะใช้เมล็ดคั่วไฟเอาเปลือกหุ้มสีแดงออก แล้วนำมาบดเป็นผงผสมกับยาระบาย ใช้เป็นยาขับพยาธิ เบื่อพยาธิไส้เดือนหรือพยาธิตัวตืด และใช้ผสมกับยาอื่นเป็นยาระบายได้
เมล็ดและใบมีรสเฝื่อนเมา เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก