ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสระแก้ว

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสระแก้ว

มะขามป้อม หรือ มะขามป้อมอินเดีย (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus emblica) เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง และมีคุณค่าทางสมุนไพรด้วย ชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ กันโตด (เขมร-กาญจนบุรี) กำทวด (ราชบุรี) มะขามป้อม (ทั่วไป) มั่งลู่, สันยาส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ใบมะขามป้อม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 8-20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดโปร่ง ลำต้นคดงอ เปลือกนอกสีนํ้าตาลอมเทา ผิวเรียบหรือค่อนข้างเรียบ หลุดลอกเป็นแผ่นกว้าง ๆ เปลือกชั้นในสีนํ้าตาลแดง ปลายกิ่งมักลู่ลง
ใบ : ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว ลักษณะคล้ายใบแบบขนนก มักเรียงตัวหนาแน่นตามกิ่งก้าน ส่วนตามลำต้น และกิ่งก้านใหญ่ ๆ มักไม่มี ใบอ่อนมีขนละเอียดมักจะมีแต้มสีแดง ใบแก่ไม่มีขน ใบมีขนาดเล็ก รูปแถบแกมรูปขอบขนาน ปลายมน โคนรูปหัวใจเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบาง เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดเจนทางด้านบน หูใบรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก

ดอกมะขามป้อม

ดอก : ดอกขนาดเล็กแยกเพศติดตามกิ่งก้าน บริเวณโคนกิ่งจะเป็น กระจุกของดอกเพศผู้ ส่วนบนมีดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ บางครั้งอาจมี ดอกเพศผู้ร่วมอยู่ด้วยเล็กน้อย ดอกเล็ก ๆ สีเขียวอ่อนหรือเหลืองออกครีม อาจพบแต้มสีชมพู ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ แต่ละกระจุกมีดอกเพศผู้หลายดอก ดอกเพศเมีย 1 หรือ 2 ดอก ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 วง รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือรูปช้อน

ผลมะขามป้อม
ผลแก่มะขามป้อม

ผล : ผลไม่มีก้าน ผลแก่สีเขียวอมเหลือง ผิวใส ชุ่มนํ้า มีรสเปรี้ยวและฝาด ชั้นหุ้มเมล็ดแข็ง 3 หน่วย แต่ละหน่วยหุ้ม 2 เมล็ด พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสนผสมก่อ ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือน มกราคม-สิงหาคม

สรรพคุณทางยา
ผล : รสเปรี้ยว ฝาด ขมชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด ม้ามและกระเพาะ รับประทาน แก้กระหายนํ้า แก้คอตีบ แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้พิษ แก้หวัด เป็นไข้ตัวร้อน แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้เจ็บคอ คอแห้ง และใช้สำหรับผู้ขาดวิตามินซี ผลอ่อน รสเปรี้ยวหวานฝาดขม บำรุงเนื้อหนัง กัดเสมหะ บำรุงเสียง แก้ท้องผูก แก้พยาธิ ผลแก่ รสเปรี้ยวฝาด ขมเผ็ด แก้ไข้เจือลม แก้ไอ แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ลดไข้ ขับปัสสาวะ ระบายท้อง บำรุงหัวใจ ฟอกโลหิต แก้ลม แก้โรคลักปิดลักเปิด มีวิตามินซีสูงกว่าส้มประมาณ 20 เท่า ผลแห้ง ต้มสกัดเอานํ้ามาใช้แก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด แก้หวัด ตัวร้อน มีอาการไอ เจ็บคอ และกระหายนํ้า
เนื้อผล : ใช้ทาบนศีรษะ แก้อาการปวดหัว และแก้วิงเวียนจากอาการไข้ขึ้นสูง แก้สะอึก ขับพยาธิ เนื้อผลแห้ง รสเปรี้ยวฝาดขม เป็นยาฝาดสมาน แก้ริดสีดวงทวาร แก้บิด ท้องเสีย ใช้ร่วมกับธาตุเหล็กแก้ดีซ่าน ช่วยย่อยอาหาร
ยางจากผล : รสเปรี้ยวฝาดขม หยอดแก้ตาอักเสบ ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ นํ้าคั้นผล ขับเสมหะ เป็นยาระบาย แก้เสียดท้อง ขับปัสสาวะ หยอดตา รักษาเยื่อตาอักเสบ เมล็ด แก้โรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ
ราก : รสจืดฝาด เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อม้าม ใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง แก้ปวดกระเพาะหรือลำไส้อักเสบ ต้มดื่มแก้ไข้ แก้พิษไข้ แก้พิษโลหิต รักษามะเร็งลาม ทำให้เส้นเอ็นยืด ฟอกโลหิต ทำให้อาเจียน แก้ร้อนใน แก้ท้องเสีย แก้โรคเรื้อน แก้พิษตะขาบกัด
เปลือกราก : ห้ามเลือด สมานแผล
ใบ : รสฝาด ขม เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาแก้บวมนํ้า ขับปัสสาวะ แก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน ใช้ทาแก้โรคผิวหนังผื่นคัน มีนํ้าเหลือง แก้บิดมูกเลือด แก้ฝี แก้ความดันโลหิตสูง ต้มอาบลดไข้
ดอก : รสหอมเย็น ใช้ลดไข้ และช่วยเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ดอกมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นมะนาว ใช้เข้าเครื่องยาเป็นยาเย็นและระบายท้อง
เปลือกต้น : รสฝาดขม สมานแผล แก้บาดแผลเลือดออก แก้บิด แก้บาดแผลฟกชํ้า แก้ท้องร่วง

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: