ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสมุทรสาคร

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสมุทรสาคร

พญาสัตบรรณ หรือ สัตบรรณ หรือ ตีนเป็ด ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alstonia scholaris ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ตีนเป็ด, ตีนเป็ดขาว, พญาสัตบรรณ, หัสบรรณ หัสบัน, จะบัน, บะซา, ปูลา, ปูแล
ใบพญาสัตบรรณ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พญาสัตบรรณ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 35-40 เมตร ต้นอายุน้อยมีเรือนยอดเป็นรูปเจดีย์ทรงแบนเมื่อต้นใหญ่เต็มที่ โคนจะเป็นพูพอนขยายใหญ่ ลำต้นมีร่องตามแนวยาวของความสูง เปลือกมีสีเทาอมเหลือง หรือสีนํ้าตาล เมื่อถาดเปลือกออกจะมีสีขาว เปลือกชั้นในสีนํ้าตาลมีนํ้ายางสีขาวไหลมาก เนื้อไม้ และกิ่งเปราะหักง่าย เนื้อไม้เรียบ แตกเป็นร่องง่าย กิ่งที่แตกออกมีรอยแตก เพื่อใช้แลกเปลี่ยนอากาศ มีถิ่นดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบได้ทุกภาคในประเทศไทย
ใบ : เป็นใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบกิ่ง วงละ 5-8 ใบ ก้านใบยาว 1.5-3 ซม. แผ่นใบเหนียวเหมือนหนังคล้ายใบต้นดอกรัก แผ่นใบรูปรีถึงรูปหอก ปลายใบแหลม และมีติ่งเล็กน้อย ขอบ และผิวใบเรียบ ใบอ่อนมีสีด้านบน และด้านล่างใกล้เคียงกัน ใบแก่มีใบด้านบนสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างใบมีสีขาวนวล มีเส้นใบมาก มองเห็นชัดเจน เส้นใบกางออกเป็นมุมฉากกับเส้นกลางใบ

ดอกพญาสัตบรรณ

ดอก : ออกเป็นดอกช่อ ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีก้านดอกหลักและก้านดอกย่อยดอกมีขนาดเล็ก ที่เป็นกลีบดอกรูปไข่ มีหยักเว้า สีขาวหรือเหลืองอมเขียว ปลายดอกอาจแหลม และแบบมน มีขนนุ่มปกคลุม ปากท่อด้านในดอกมีขนยาวปุกปุย เกสรตัวผู้อยู่บริเวณกลางวงท่อกลีบดอก อับเรณูเกสรตัวผู้มีขนนุ่มปกคลุม ยาว 1.1-1.5 มม. เกสรตัวเมียมีขนาด 2.8-5.2 มม. ดอกเริ่มบานประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม เมื่อดอกบาน 1-2 วัน จะส่งกลิ่นหอมแรงมาก หากดมมากบางคนอาจวิงเวียนศรีษะได้

ฝักพญาสัตบรรณ

ผล : ผลออกเป็นฝัก มีลักษณะกลมยาว สีขาวอมเขียว ออกเป็นคู่ มีผิวฝักเกลี้ยง หย่อนห้อยลงด้านล่าง ยาว 30-40 ซม. ปลายผลมีลักษณะมนกลม ฝักแก่มีสีเทานํ้าตาล และแตกตามตะเข็บ 2 ซีกซ้าย-ขวา ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก รูปทรงบรรทัด มีขนยาวอ่อนนุ่มเป็นกระจุกที่ปลายทั้งสองข้าง สำหรับพยุงลอยตามลม หลังจากดอกบานจะเริ่มติดฝักประมาณเดือนมกราคม และฝักแตกออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม

สรรพคุณทางยา
เปลือก : นำมาต้มดื่มแก้ไอ ลดไข้ ลดอาการหวัด, รักษามาเลเรีย, แก้ท้องเสีย, แก้บิด, รักษาเบาหวาน, รักษาโรคบิด, รักษาหลอดลมอักเสบ, รักษาโรคลักปิดลักเปิด, ขับระดู, ขับพยาธิ, ขับนํ้าเหลืองเสีย, ขับนํ้านม
เปลือก : นำมาบดหรือต้มอาบใช้ทารักษาแผล แผลติดเชื้อ เป็นหนอง, นำมาอาบช่วยป้องกันโรคเชื้อราทางผิวหนัง
ใบ : ใช้ต้มนํ้าดื่มช่วยขับพิษต่าง ๆ, รักษาโรคลักปิดลักเปิด, แก้ไอ ลดไข้หวัด
ยาง : ใช้ทารักษาแผล แผลเน่าเปื่อย, ผสมยาสีฟัน ลดอาการปวดฟัน, ผสมกับนํ้ามันแก้ปวดหู, ใช้เป็นยาบำรุงกระเพาะ และยาบำรุงหลังเจ็บไข้

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: