สะเดาเทียม ชื่อวิทยาศาสตร์ : Azadirachta excelsa (Jack) Jacobs ชื่ออื่น ๆ ต้นเทียม, ไม้เทียม, สะเดาช้าง, สะเดาเทียม, สะเดาใบใหญ่ (ภาคใต้) พบขึ้นในป่าดิบและบริเวณริมนํ้า มีเขตการกระจายพันธุ์ในพม่าตอนใต้ คาบสมุทรมลายู และชวา ในไทยพบทางภาคเหนือแถบที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงมาทางภาคใต้แถบจังหวัดภูเก็ต ตรัง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบชื้น ระดับความสูงจนถึงประมาณ 1000 เมตร
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
สะเดาเทียม เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงราว 20-35 ม. ขนาดทรงพุ่ม 10-15 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม ค่อนข้างแน่น เปลือกต้นสีนํ้าตาลอมแดงหรือเทา ค่อนข้างเรียบหรือแตกหลุดล่อน เป็นแผ่นเล็ก ๆ เนื้อไม้มีคุณภาพดี มอดและปลวกไม่ค่อยทำลาย และจัดอยู่ในประเภทของไม้อเนกประสงค์
ใบ : ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียนสลับ แกนกลางใบ ประกอบยาว 20-60 ซม.ใบย่อย 7-12 คู่ เรียงสลับหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่แกมรูปใบหอกกว้าง 3-4.5 ซม. ยาว 7-15 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเบี้ยว ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว และย่นเป็นลอน สีเขียวเข้มเป็นมัน ใบอ่อนสีนํ้าตาลแดง
ดอก : ดอก สีขาวอมเขียว มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 10-15 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน กลีบดอก 5 กลีบ รูปซ้อน ปลายมนและโค้งไปข้างหลัง ติดอยู่กับหลอดเกสรตัวผู้โดยโคนกลีบเชื่อมติดกันเกสรเพศผู้ 8-10 อัน เชื่อมติดกันเป็นหลอด เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1 -1.2 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-มี.ค.
ผล : ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ทรงกลมรี กว้าง 1-2 ซม. ยาว 1.5-3 ซม. เปลือกหนา สีเขียวเป็นมัน ผลเมื่อสุกสีเหลือง เมล็ดมีเนื้อผล ฉ่ำนํ้า สีขาวขุ่นห่อหุ้ม เมล็ดรูปกลมรี สีนํ้าตาลอ่อน ติดผลเดือน เม.ย.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
ประโยชน์
ดอกอ่อน ใช้รับประทานได้ เนื้อไม้ ใช้ในการก่อสร้างและประดิษฐกรรมไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าทำลายของเชื้อราสีนํ้าเงินจึงเป็นคุณสมบัติที่เหมาะในการทำเฟอร์นิเจอร์ บานหน้าต่าง วงกบ และไม้แกะสลักดีมาก
สรรพคุณทางยา
เมล็ด : นำมาสกัดสารทำยาฆ่าแมลง
เปลือก : ต้มทำยาแก้บิดหรือท้องร่วง