ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสุรินทร์

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสุรินทร์

มะค่าแต้ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sindora siamensis Miq. มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะค่าหยุม มะค่าหนาม (ภาคเหนือ), แต้ (ภาคอีสาน), มะค่าหนาม มะค่าแต้ มะค่าลิง (ภาคกลาง), กอกก้อ (ชาวบน-นครราชสีมา), กอเก๊าะ ก้าเกาะ (เขมร-สุรินทร์), กรอก๊อส (เขมร-พระตะบอง), แต้หนาม เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มะค่าแต้ มีเขตการกระจายพันธุ์จากภูมิภาคอินโดจีนจนถึงมาเลเซีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าโคกข่าว ป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้ง และป่าชายหาดที่ระดับใกล้กับนํ้าทะเลไปจนถึงที่ระดับความสูง 400 เมตร โดยจัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่กว้าง มีเรือนยอดเป็นรูปร่มหรือเป็นทรงเจดีย์ตํ่า กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีนํ้าตาล เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทาคลํ้า ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง

ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 3-4 ใบ แกนช่อใบยาวประมาณ 2-4 ซม. ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือ รูปไข่ ปลายใบเว้าตื้น โคนใบเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบหนา แผ่นใบด้านบนมีขนหยาบ ส่วนด้านท้องใบมีขนนุ่ม

ดอก : มะค่าแต้ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 10-25 ซม. ดอกเป็นสีเหลืองแกมเขียว มีกลีบเลี้ยงหนา 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ปลายกลีบมีหนามขนาดเล็ก ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน และมี 2 ก้านใหญ่กว่าก้านอื่น ๆ ด้านนอกดอกมีขนสีนํ้าตาล ก้านดอกยาวประมาณ 0.2-0.4 ซม. โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม

ผล : มะค่าแต้ ออกผลเป็นฝักเดี่ยวแบนค่อนข้างกลม ที่ผิวเปลือกมีหนามแหลมอยู่ทั่วไป ผลเป็นรูปไข่กว้างหรือเป็นรูปโล่ โคนเบี้ยวและมักมีติ่งแหลม พอแห้งจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดสีดำประมาณ 1-3 เมล็ด โดยผลจะแก่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน

ประโยชน์
เมล็ดแก่เมื่อนำมาเผาไฟแล้วกะเทาะเปลือกออก เอาแต่เนื้อข้างในมารับประทานเป็นอาหารว่างได้ โดยเนื้อจะมีลักษณะแข็ง ๆ คล้ายกับเมล็ดมะขามและมีรสมัน, ฝักและเปลือกให้นํ้าฝาดชนิด Catechol และ Pyrogallol ใช้สำหรับฟอกหนัง ส่วนเปลือกต้นจะนิยมนำมาใช้ย้อมสีเส้นไหม ย้อมแห โดยจะให้สีแดง
เนื้อไม้เป็นสีนํ้าตาลอ่อนหรือเป็นสีนํ้าตาลแก่ เมื่อทิ้งไว้นาน ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น เนื้อไม้มีความแข็งแรงทนทาน ทนต่อปลวกได้ดี เลื่อย ผ่า ไสกบตบแต่งได้ยาก สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ดี ใช้ทำเสา รอด ตง พื้น พื้นรอง เครื่องเรือน เครื่องบน เครื่องมือทางการเกษตร เครื่องเกวียน เครื่องไถนา หมอนรองรางรถไฟ ลูกกลิ้งนาเกลือ กระดูกเรือ หรือใช้ทำโครงเรือใบเดินทะเล ฯลฯ

สรรพคุณทางยา
เปลือก : ใช้ต้มแก้ซาง แก้ลิ้นเป็นฝ้า (เปลือก)
ปุ่มเปลือก : ปุ่มที่เปลือกมีรสเมาเบื่อ ใช้ต้มกับนํ้าดื่มเป็นยาแก้พยาธิ, นำมาต้มรมให้หัวริดสีดวงทวารหนักฝ่อได้
เมล็ด : ส่วนเมล็ดมีรสเบื่อขม ทำให้ริดสีดวงทวารแห้ง, เป็นยาขับพยาธิ
เปลือกต้น : เปลือกต้นมะค่าแต้ใช้ผสมกับเปลือกต้นมะกอกเหลี่ยม เปลือกต้นหนามทัน เปลือกต้นยางยา และรากถั่วแปบช้าง นำมาต้มกับนํ้าดื่มเป็นยาแก้อีสุกอีใส
ผล, ปุ่มเปลือก, เมล็ด : ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: