ลำดวน ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melodorum fruticosum Lour. มีชื่อตามภาษาท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หอมนวล (ภาคเหนือ) ลำดวน (ภาคอีสาน) เป็นไม้ดอกชนิดหนึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำดวนเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 5-20 เมตร ไม่ผลัดใบ แตกกิ่งใบจำนวนมาก เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือเป็นพุ่มเป็นรูปกรวย เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทา เมื่อลำต้นแก่เปลือกต้นจะเป็นสีนํ้าตาลอมดำ มีรอยแตกตามแนวยาวของลำต้น ส่วนกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวสด ยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นสีแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ส่วนแผ่นใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกมีสีเขียวเป็นมัน ส่วนใต้ใบจะมีสีเขียวนวล โดยมีความกว้างประมาณ 2.5-4 ซม. และมีความยาวประมาณ 5-11.5 ซม. ยอดอ่อนและใบอ่อนจะมีสีแดง ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ และโคนใบสอบหรือมน
ดอก : ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อแบบกระจุกประมาณ 2-3 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกเป็นสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม ลักษณะเป็นรูปไข่ป้อมถึงรูปเกือบกลม ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง ดอกมีกลีบ 6 กลีบ กลีบดอกหนาแข็ง สีเขียวปนเหลือง และมีขน แยกเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกมี 3 กลีบ กลีบแผ่แบน กลีบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกชั้นใน ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง โดยกว้างประมาณ 1 ซม. และยาวประมาณ 1.2 ซม. ส่วนกลีบดอกชั้นในงุ้มเข้าหากันลักษณะเป็นรูปโดม มีขนาดเล็กกว่า แต่จะหนาและโค้งกว่ากลีบชั้นนอก กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก มี 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปเกือบกลม ปลายกลีบมน เกลี้ยงหรือมีขนประปราย จะออกดอกในช่วงเดือนพ.ย.-ม.ค.
ผล : ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ออกผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 15-27 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี รูปไข่ หรือรูปกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดง และผลสุกมีสีนํ้าเงินดำ มีคราบขาว มีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด รับประทานได้ โดยจะมีรสหวานอมเปรี้ยว
สรรพคุณทางยา
ดอกแห้ง : มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง, ยาบำรุงโลหิต ช่วยบำรุงหัวใจ, ใช้เป็นยาแก้ลมวิงเวียน, ใช้เป็นยาแก้ไข้, ช่วยแก้อาการไอ
ดอกลำดวนแห้งจัดอยู่ใน “พิกัดเกสรทั้งเก้า” (ประกอบไปด้วย เกสรดอกบัวหลวง ดอกกระดังงา ดอกจำปา ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกสารภี ดอกลำเจียก และดอกลําดวน) ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายนํ้า ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเหลีบ ช่วยบำรุงหัว แก้พิษโลหิต แก้ลม