สนสามใบ หรือเกี๊ยะแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pinus kesiya ชื่อท้องถิ่น เกี๊ยะเปลือกแดง (ภาคเหนือ), เกี๊ยะเปลือกบาง (เชียงใหม่), เชียงบั้ง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แปก (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน, เพชรบูรณ์), จ๋วง (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), สนเขา, สนสามใบ (ภาคกลาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นสนสามใบ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร วัดรอบได้ประมาณ 30-40 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดแตกออกเป็นพุ่มกลม เปลือกต้นแตกล่อนเป็นสะเก็ดตื้น ๆ รูปตาข่าย เปลือกต้นเป็นสีนํ้าตาลแกมสีชมพู มีถิ่นกำเนิดในประเทศพม่า ขึ้นเป็นกลุ่มบนเขาหรือเนินเขา สูงจากระดับนํ้าทะเล 1,000-1,600 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
ใบ : ใบมีขนาดเล็กยาวเรียว ออกเป็นกระจุก กระจุกละ 3 ใบ ลักษณะเป็นรูปเข็ม เรียงสลับ มีความยาวประมาณ 10-25 ซม. ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยละเอียด
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อสีเหลืองแบบหางกระรอก โดยจะออกใกล้ ๆ กับปลายกิ่ง ช่อหนึ่งยาวได้ประมาณ 2-4 ซม. ส่วนดอกเพศเมียออกดอกเดี่ยวหรืออย่างมากจะออกไม่เกิน 3 ดอก โดยจะออกตามกิ่ง ออกดอกในช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค.
ผล : ผลเป็นโคน มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง โคนป้อมปลายสอบ มีขนาดกว้างประมาณ 5-8 ซม. ผลเมื่อแก่จะแยกออกเป็นกลีบแข็ง แต่บริเวณโคนกลีบยังคงติดอยู่กับแกนกลางของผล ภายในมีเมล็ดรูปรีมีครีบบาง ๆ ซึ่งยาวกว่าเมล็ดสี่เท่า
การใช้ประโยชน์
เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้างที่อาศัยหรือใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่อยู่ในร่มได้ดี เช่น ตู้ โต๊ะ เตียง ทำฝา พื้น รอด ตง กระดานดำ ไม้บุผนัง เครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ลังใส่ของ เครื่องดนตรี เสากระโดงเรือ ใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง จุดไฟ ฯลฯ และยังมีคุณสมบัติเหมาะที่จะนำไปใช้เยื่อหรือทำกระดาษได้อีกด้วย
ส่วนยางนำมากลั่นทำเป็นนํ้ามันและชันสน นํ้ามันใช้ผสมยาทำการบูรเทียม ทำนํ้ามันชักเงา ทำบู่ ใช้ผสมสี
ชันใช้ผสมกับยารักษาโรค หรือใช้ในกิจการอุตสาหกรรม ทำกาว กระดาษ นํ้ามันวานิช และยางสังเคราะห์ หรือใช้ถูคันชักของเครื่องดนตรีบางชนิด เช่น ซออู้ ซอด้วง ไวโอลิน ฯลฯ ใช้ทำนํ้ามันชักเงา สีย้อมผ้า เป็นต้น
สรรพคุณทางยา
แก่น : รสเผ็ดขมฝาดมัน ต้มหรือฝนรับประทาน แก้ไข้เพื่อเสมหะ กระจายลม ระงับประสาท แก้ฟุ้งซ่าน แก้อ่อนเพลีย แก้คลื่นเหียนอาเจียน บำรุงไขข้อ ไขกระดูก และแก้ท้องเดิน
กระพี้ : รสขมเผ็ดมัน ต้มเอานํ้าดื่มแก้ไข้สันนิบาต
นํ้ามัน : รสร้อน ใช้ผสมยาทาแก้เคล็ดขัดยอก อักเสบบวม หยดลงนํ้าร้อนประคบท้องแก้บวม แก้ลำไส้พิการ แก้มดลูกอักเสบ
ชัน หรือยางสน : รสฝาดมันร้อน สมานแผล แก้บิด ปิดธาตุ
วิธีและปริมาณที่ใช้
เป็นยาทาแก้เคล็ดขัดยอก อักเสบบวม โดยใช้นํ้ามันที่ได้จากการกลั่นยาง 10-15 ซีซี. ผสมกับนํ้ามันไพลหรือไพลบดละเอียด นวดถูบริเวณที่เคล็ดขัดยอกหรือปวดเมื่อยเป็นประจำ