พิกุล ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mimusops elengi เป็นไม้ยืนต้น มีดอกหอม สีขาว มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ คือ แก้ว (เชียงใหม่) ซางดง (ลำปาง) ตันหยง (นราธิวาส) พิกุล (ภาคกลาง), กัน (ภาคใต้), พิกุลเขา, พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช), พิกุลป่า (สตูล)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พิกุลเป็นไม้ยืนต้น ปลือกต้นสีเทาปนดำ แตกเป็นร่องลึกและเป็นสะเก็ด เปลือกในเป็นเส้นใยนุ่ม สีชมพู ลำต้นและกิ่งมักคดงอเป็นปุ่มปม ไม้ผลัดใบ เรือนยอดสีเขียวเข้มรูปเจดีย์ เป็นพุ่มกลมแน่นทึบ
ใบ : เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนากรอบ ผิวใบเรียบมัน ใบมีสีเขียวเข้ม
ดอก : ดอกเดี่ยว อยู่รวมกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่งหรือที่ซอกใบ กลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น กลีบดอกประมาณ 24 กลีบ เรียงซ้อนกันโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเล็กน้อย ดอกสีขาว เมื่อใกล้โรยสีเหลืองอมนํ้าตาล ดอกบานวันเดียวแล้วร่วง มีกลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี
ผล : ผลลักษณะรูปไข่ ผลสุกมีสีส้ม รสหวานอมฝาด และมักมีเมล็ดเดียว
ปลูกได้ในดินทุกชนิด กลางแจ้ง ต้องการนํ้าและความชื้นปานกลาง เจริญได้ดีในดินทุกชนิด ชอบแดดจัด ทนต่อสภาพต่าง ๆ ได้ดี ขึ้นประปรายในป่าดิบทางภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ปัจจุบันมีการเพาะปลูกจำหน่ายเป็นจำนวนมาก
สรรพคุณทางยา
ราก : รสเฝื่อน แก้เสมหะ บำรุงโลหิต และแก้ลม
เปลือกต้น : รสฝาด ฆ่าแมลงกินฟัน (ฟันผุ) แก้เหงือกอักเสบ นิยมเป็นยาต้มเอานํ้าอมบ้วนปาก อมแก้ปากเปื่อย
กระพี้ : รสเมาเบื่อ แก้กลากเกลื้อน
แก่น : รสขมเฝื่อน บำรุงโลหิต แก้ไข้ ใช้ทำเป็นยาบำรุงหัวใจ
ใบ : รสเบื่อฝาด แก้หืด ฆ่าเชื้อกามโรค
ดอก : รสหอมสุขุม แก้ลม บำรุงโลหิต เป็นยาบำรุงหัวใจ ใช้แต่งกลิ่น เข้ายาไทย รักษาลม ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มชื่น
เมล็ด : รสเฝื่อน นำไปโขลกให้ละเอียด ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาเหน็บทวารหนักเด็ก รักษาอาการท้องผูก
วิธีใช้และปริมาณที่ใช้
แก้ปวดฟัน ฟันโยก โดยใช้เปลือกต้นสด 1 ฝ่ามือ หรือประมาณ 15-20 กรัม สับเป็นชิ้น ต้มในนํ้าเดือด 500 ซี.ซี. นานประมาณ 10 นาที กรองเอานํ้าอมกลั้วคอเป็นประจำ วันละ 3 เวลา
แก้ปวดหัว เจ็บคอ และแก้ไข้ โดยใช้ดอกพิกุลสดตากแดดให้แห้งแล้วนำมาบดให้ละเอียดทำเป็นยานัตถุ์ ใช้นัตถุ์วันละ 3 ครั้ง เช้า-เย็น