โมกมัน ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wrightia arborea (Dennst.) Mabb. ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มูกเกื้อ (จันทบุรี), มูก โมก (ภาคกลาง) ส่วนชลบุรี, กาญจนบุรี มูกน้อย มูกมัน (น่าน), โมกมันเหลือง (สระบุรี), มักมัน (สุราษฎร์ธานี), โมกน้อย (ทั่วไป), เส่ทือ แนแก แหน่แก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) และนครราชสีมาเรียก “โมกมัน”
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นโมกมัน เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีขาวหรือสีเทาอ่อน เปลือกต้นแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว มีขนสีขาวตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีรูอากาศมาก ที่เปลือกด้านในมีนํ้ายางสีขาว โมกมันเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท ชอบความชื้นปานกลาง เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ทนต่อความร้อนและแสงแดดได้ดี นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ และป่าโปร่งทั่วไป
ใบ : ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 ซม.และยาวประมาณ 7-18 ซม. ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก พื้นผิวใบบางคล้ายแผ่นกระดาษ แผ่นใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ด้านบนมีขนเฉพาะที่เส้นกลางใบหรือมีขนทั่วไป ส่วนด้านล่างมีขนที่เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบอย่างทั่วถึง มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 8-12 เส้น มีขนสั้นนุ่มประปราย
ดอก : ดอกมีกลีบเลี้ยงรูปไข่ ดอกสีขาวอมเขียว เหลืองอ่อนหรือสีชมพู หลอดกลีบดอกยาว 3-7 มม. กลีบรูปขอบขนาน โคนเรียว มีกะบัง 2 ชั้นแผ่กว้าง ด้านนอกมีขนกระจาย กะบังหน้ากลีบดอกแนบติดกลีบดอกประมาณกึ่งหนึ่ง จักเป็นคลื่น กะบังระหว่างกลีบดอกรูปตัววี สั้นกว่ากะบังหน้ากลีบดอกเล็กน้อย เกสรเพศผู้ติดบนคอหลอดกลีบดอก อับเรณูยาว 5-6 มม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียรวมยอดเกสรยาว 6-8 มม.
ผล : ผลรูปกระสวยติดกัน แห้งแยกกัน มีช่องอากาศ เมล็ดยาว 1.5-1.7 ซม. กระจุกขนยาว 5-6 ซม. ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง
สรรพคุณทางยา
เปลือกต้น : มีรสขมร้อนฝาดเมา ช่วยรักษาธาตุไฟให้เป็นปกติ ช่วยบำรุงธาตุทั้งสี่ให้เจริญ รู้ปิดธาตุ, เป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร, ช่วยรักษาโรคไต, ช่วยฆ่าเชื้อคุดทะราด เชื้อรำมะนาด
รากและใบ : ที่ประเทศจีนจะใช้สารสกัดจากรากและใบเป็นยารักษาวัณโรคแรกเริ่มที่ต่อมนํ้าเหลืองบริเวณคอ
ใบ : มีรสเย็น ใช้เป็นยาแก้ท้องมาน, ช่วยแก้ตับพิการ, ช่วยขับนํ้าเหลืองเสีย
ดอก : มีรสจืด เป็นยาระบาย และช่วยแก้พรรดึกหรืออาการท้องผูก
ผล : มีรสเมา ช่วยแก้ฟันผุ, ช่วยขับเหงื่อ
ราก : มีรสร้อน ช่วยแก้ลม แก้ลมที่เกิดเรื้อรัง ลมสันดาน, ใช้เป็นยารักษางูกัด
ยางจากต้น : ช่วยแก้ท้องร่วง, ส่วนนํ้ายางจากต้นใช้แก้พิษงู, ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากและเนื้อไม้นำมาต้มกับนํ้าดื่มเป็นยาแก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด (เปลือกต้น, ยางจากต้น, รากและเนื้อไม้)
เนื้อไม้หรือแก่น : มีรสร้อนขม เป็นยาขับโลหิต ช่วยขับโลหิตเสีย ช่วยทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ, แก่นช่วยบำรุงถุงนํ้าดี แก้ดีพิการ