อินทนิล หรือ อินทนิลนํ้า ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagerstroemia speciosa (L.) Pers. มีชื่อในแต่ละท้องถิ่นต่าง ๆ กัน เช่น ตะแบกอินเดีย ฉ่องมู ซอง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) บาเอ (ปัตตานี) บางอบะซา (ยะลา นราธิวาส มาเลเซีย) อินทนิล (ภาคกลาง ภาคใต้) ตะแบกดำ (กรุงเทพฯ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
อินทนิลเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เจริญเติบโตเร็วหากปลูกในที่เหมาะสม ต้นมีความสูงประมาณ 5-20 ม. ลำต้นเล็กและมักคดงอ แต่พอใหญ่ขึ้นจะเปลา ตรง เป็นไม้ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว เป็นพุ่มลักษณะคล้ายรูปร่มและคลุมส่วนโคนต้นเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนผิวเปลือกต้นอินทนิลจะมีสีเทาหรือสีนํ้าตาลอ่อน มักจะมีรอยด่างเป็นดวงขาว ๆ อยู่ทั่วไป ผิวเปลือกจะค่อนข้างเรียบ ไม่แตกเป็นร่องหรือเป็นรอยแผลเป็น เปลือกมีความหนาประมาณ 1 ซม. ที่เปลือกในจะออกสีม่วง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มักพบขึ้นตามที่ราบลุ่มที่ชื้นแฉะทั่วไป รวมไปถึงบริเวณริมฝั่งแม่นํ้าลำห้วย หรือในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดงดิบของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ แต่จะพบได้มากสุดตามป่าดงดิบทางภาคใต้
เนื้อไม้เมื่อยังใหม่สดอยู่จะเป็นสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีชมพูอ่อน พอนานเข้าจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลอมแดง เนื้อไม้ค่อนข้างละเอียด มีเสี้ยนตรง เป็นมันเลื่อม มีความแข็งแรงปานกลาง เหนียวและทนทาน ใช้เลื่อยไสกบตบแต่งง่าย ขัดเงาได้เป็นเงางาม
ใบ : ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันหรือออกเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปทรงขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก ใบมีสีเขียว เนื้อใบค่อนข้างหนาและเกลี้ยงเป็นมันทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ส่วนปลายใบเรียวและเป็นติ่งแหลม ก้านใบเกลี้ยงและไม่มีขน
ดอก : ดอกใหญ่มีหลายสี เช่น สีม่วงอมชมพู สีม่วงสด หรือม่วงล้วน ออกดอกรวมกันเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบตอนใกล้ ๆ ปลายกิ่ง ส่วนบนสุดของดอกตูมจะมีตุ่มกลม ๆ เล็ก ๆ ตั้งอยู่ตรงกลาง ที่ผิวนอกของกลีบฐานดอกจะติดกันเป็นรูปถ้วยหรือรูปทรงกรวยหงาย จะมีสีสันนูนตามยาวเห็นชัด และมีเส้นขนสั้น ๆ ดอกอินทนิลมีกลีบดอกบาง ลักษณะเป็นรูปช้อนที่มีโคนกลีบเป็นก้านเรียว ผิวกลีบจะเป็นคลื่น ๆ เล็กน้อย และมีรังไข่กลมเกลี้ยง จะเริ่มออกดอกได้เมื่อมีอายุประมาณ 4-6 ปี
ผล : ผลลักษณะเป็นรูปไข่เกลี้ยง ๆ ที่ผิวของผลอินทนิลจะเรียบ ไม่มีขนปกคลุม ผลมีสีนํ้าตาลแดง ผลเป็นผลแห้ง เมื่อแก่จะแยกออกเป็น 6 เสี่ยง และจะเผยให้เห็นเมล็ดเล็ก ๆ ที่มีปีกเป็นครีบบาง ๆ ทางด้านบน
การใช้ประโยชน์
เนื้อไม้ นิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน โดยมากใช้ทำกระดานพื้น ฝา กระเบื้อง มุงหลังคา ใช้ต่อเรือใบ เรือแจว เรือเดินทะเล ทำเกวียน เครื่องตกแต่งบ้าน ทำแจว พาย เปียโน หีบใส่ของ ถังไม้ กังหันนํ้า เครื่องมือการเกษตรต่าง ๆ เช่น ทำไถ ไม้นวดข้าว ครก สาก กระเดื่อง ลูกหีบ ซี่ล้อ ทำไม้คาน ไม้กั้นบ่อนํ้า ร่องนํ้า ทำหีบศพอย่างดี
สรรพคุณทางยา
เปลือก : รสฝาดขม แก้ไข้ แก้ท้องเสีย
ใบ : รสจืดขมฝาดเย็น ต้มหรือชงนํ้าร้อนดื่ม แก้โรคเบาหวาน ขับปัสสาวะ เป็นยาลดความดัน ช่วยลดนํ้าตาลในเลือด โดยใช้ใบแก่เต็มที่ประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับนํ้าดื่มในตอนเช้า
เมล็ด : รสขม แก้โรคเบาหวาน แก้นอนไม่หลับ
แก่น : รสขม ต้มดื่มแก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้โรคเบาหวาน
ราก : มีรสขม ช่วยรักษาแผลในช่องปากและคอ เป็นยาสมานท้อง