สินค้าแนะนำ

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดยะลา

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดยะลา

ศรียะลา ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saraca thaipingensis ชื่ออื่น ๆ อโศกเหลือง, โสกเหลือง, โสกใหญ่ (ภาคใต้), โสกป่า, โสกนํ้า

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
โสกเหลือง, ศรียะลา เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 10-15 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดกลมทึบ โตช้า เปลือกเรียบ สีเทาอมนํ้าตาล มีช่องระบายอากาศเป็นตุ่มกระจายทั่วลำต้น พบขึ้นในป่าดิบและบริเวณริมนํ้า มีเขตการกระจายพันธุ์ในพม่าตอนใต้ คาบสมุทรมลายู และชวา ในไทยพบทางภาคเหนือแถบที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงมาทางภาคใต้แถบจังหวัดภูเก็ต ตรัง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบชื้น ระดับความสูงจนถึงประมาณ 1000 เมตร

ใบศรียะลา

ใบ : ใบประกอบแบบขนนก ปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อย 2-7 คู่ เรียงตรงข้าม ใบรูป รูปรี รูปขอบขนาน แกมรูปใบหอกหรือรูปไข่ กว้าง 3-9 ซม. ยาว 7-32 ซม. ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบเรียว ผิวใบด้านบนมองเห็นเส้นแขนงใบเป็นร่องลึกชัดเจนข้างละ 10-12 เส้น ก้านใบย่อยยาว 3-5 มม.

ดอกศรียะลา

ดอก : สีเหลืองสด มีกลิ่นหอม ออกรวมเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่นที่ปลายกิ่งและลำต้น ช่อดอกกว้าง 15-40 ซม. ใบประดับร่วงง่าย กลีบเลี้ยง 4 กลีบ ไม่มีกลีบดอก ดอกบานไม่พร้อมกัน ดอกบานเต็มที่กว้าง 1-1.5 ซม. ระยะออกดอกประมาณเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม

ฝักศรียะลา

ผล : เป็นฝักแห้งแตกแบน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ผิวสีแดงปนนํ้าตาล ปลายฝักโค้งทั้งสองด้าน กว้าง 3.5-8 ซม. ยาว 15-40 ซม. เมล็ดรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มี 2-3 เมล็ด

สรรพคุณทางยา
ดอก : แก้ไอ ขับเสมหะ

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: