พฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Albizia lebbeck ชื่ออื่นๆ ซึก, มะรุมป่า หรือ จามจุรีทอง, จ๊าขาม, ตุ๊ด, กะซึก, ถ่อนนา, ก้านฮุ้ง, มะขามโคก, พญากะบุก, ก้ามปู, ชุงรุ้ง, ชุ้งรุ้ง, จามรี, กาแซ, กาไพ, แกร๊ะ, กรีด, กระพี้เขาควาย Indian walnut (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เรียกว่า จามจุรี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พฤกษ์ เป็นพืชวงศ์ถั่ว เป็นไม้ยืนต้น เปลือกสีเทาเข้มหรือสีนํ้าตาล แตกเป็นร่อง
ใบ : ใบประกอบย่อย 2-3 คู่ เรียงตรงข้าม ใบย่อย 3-6 คู่ เรียงตรงข้าม แผ่นใบย่อยรูปไข่กลับหรือคล้ายสามเหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบกลมหรือตัด โคนใบเบี้ยว มนหรือตัด
ดอก : ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกบริเวณซอกใบที่ปลายยอด ช่อดอกย่อยเป็นกระจุกกลมแน่น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เกสรเพศผู้จำนวนมาก
ผล : เป็นฝัก รูปขอบขนาน แบน ปลายเรียวแคบทั้งสองด้าน เมื่อแก่จะแตกอ้าตามรอยตะเข็บ เมล็ดทรงรี แบน การกระจายพันธุ์ พบในทวีปแอฟริกา และเอเชียเขตร้อนชื้น ในประเทศไทยพบตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ หรือพื้นที่เสื่อมโทรม ทั่วทุกภาค
ประโยชน์ของพฤกษ์
เนื้อไม้แข็ง มีลายสวยงาม นิยมใช้ในงานก่อสร้าง ทำเครื่องมือทางการเกษตร
พฤกษ์ในฐานะผักพื้นบ้าน ใบอ่อนและยอดอ่อนของพฤกษ์ นำมากินเป็นผักได้ รสมัน เช่น ใช้เป็นผักจิ้มนํ้าพริกปลาร้า ฯลฯ โดยนำไปทำให้สุกเสียก่อน เช่น ต้ม, ลวก, ย่าง ฯลฯ นอกจากนี้ยังนำไปปรุงอาหารตำรับอื่นๆ ได้อีก เช่น แกงส้ม เป็นต้น ยอดพฤกษ์เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และรสชาติดีไม่แพ้ผักพื้นบ้านชนิดอื่นๆ แต่น่าเสียดายที่คนไทยรู้จักกินกันน้อยกว่าในอดีตมาก เท่าที่สังเกตดูตามตลาดสดต่างๆ ไม่พบว่า มียอดพฤกษ์ขายเลย ยกเว้นตลาดท้องถิ่นเล็กๆ ในบางจังหวัดเท่านั้น หากมีการแนะนำส่งเสริมกันบ้างแล้ว คิดว่าคนไทยจะหันมานิยมกินพฤกษ์กันได้ไม่ยาก
สรรพคุณทางยา
พฤกษ์เป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย อยู่คู่คนไทยมาเนิ่นนานจึง ย่อมถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างรอบด้าน เช่น ด้านสมุนไพรรักษาโรค โดยใช้ส่วนต่างๆ ของพฤกษ์ ดังนี้
เมล็ดและเปลือก : มีรสฝาด เป็นยาสมาน เช่น รักษาแผลในปาก, ในลำคอ, เหงือกหรือฟันผุ, ริดสีดวงทวารหนัก, แก้ท้องร่วง, ห้ามเลือดตกใน เปลือกให้นํ้าฝาด ใช้ฟอกหนัง
เมล็ด : รักษากลากเกลื้อน, โรคเรื้อน, ทำยารักษาเยื่อตาอักเสบ
ใบ : ใช้ดับพิษร้อน ทำให้เย็น