ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดภูเก็ต

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดภูเก็ต

ต้นประดู่
ประดู่บ้าน หรือ ประดู่กิ่งอ่อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus indicus เป็นไม้ผลัดใบขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในสกุล Pterocarpus วงศ์ Leguminosae ประดู่ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในออสตราเลเซียตอนเหนือ, หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก, ติมอร์-เลสเต, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, หมู่เกาะรีวกีว, หมู่เกาะโซโลมอน, เวียดนาม และภาคใต้ของไทย โดยมีการนำไปปลูกในภูมิภาคอื่น ๆ ของไทยในภายหลัง ชื่อเรียกตามท้องถิ่น ดู่บ้าน (ภาคเหนือ) ประดู่บ้าน, ประดู่กิ่งอ่อน, ประดู่อังสนา, อังสนา (ภาคกลาง) สะโน (มลายู-นราธิวาส)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ประดู่บ้านเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลักษณะทั่วไปคล้ายประดู่ แต่แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มกว้างกว่าและมีปลายกิ่งยาวห้อยระย้า มีความสูงประมาณ 10-25 เมตร ผิวเปลือกลำต้นมีสีดำหรือเทา ลำต้นเป็นพูไม่กลม แตกเป็นสะเก็ดร่องตื้น ๆ มีนํ้ายางน้อยกว่าประดู่

ลักษณะใบประดู่บ้าน

ใบ : ใบเป็นช่อแตกออกจากปลายกิ่ง มีใบย่อยประกอบอยู่ประมาณ 6-12 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบเป็นมันสีเขียว ใบมีขนาดยาวประมาณ 2-3 นิ้ว กว้างประมาณ 1-2 นิ้ว

ลักษณะดอกประดู่บ้าน

ดอก : ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะแตกแขนงเป็นช่อใหญ่กว่าประดู่ป่า

ผลแก่ประดู่บ้าน
ผลแห้งประดู่บ้าน

ผล : ผลมีขนเล็กๆ ปกคลุม ขนาดผลโตประมาณ 4-6 เซนติเมตร

การใช้ประโยชน์
ปลูกเป็นต้นไม้ประดับริมถนน เช่น ในกรุงเทพมหานคร ประดู่บ้านสะสมแคดเมียมได้ 470 µg/g เมื่อปลูกแบบไร้ดิน (hydroponics)
ไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง เครื่องมือเครื่องใช้
เปลือกให้นํ้าฝาดสำหรับฟอกหนัง ให้สีนํ้าตาลสำหรับย้อมผ้า แก่นให้สีแดงคลํ้าสำหรับย้อมผ้า

สรรพคุณทางยา
เปลือกต้น : มีรสฝาดจัด มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย, ใช้เป็นยาแก้ปากเปื่อย ปากแตก, เปลือกต้นและยางมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการท้องเสีย, แก้โรคบิด, เป็นยาสมานบาดแผล
แก่นเนื้อไม้ประดู่ : มีรสขมฝาดร้อน มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงธาตุในร่างกาย, ใช้ต้มกับนํ้ากินเป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้, เป็นยาขับเสมหะ, ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้แก่นเนื้อไม้นำมาต้มกับนํ้ากินเป็นยา, แก้ผื่นคัน, ใช้เป็นยาแก้โรคคุดทะราด
ราก : ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้
ใบ : นำมาตากแห้งใช้ชงกับนํ้าร้อนเป็นชาใบประดู่ นำมาดื่มจะช่วยบรรเทาอาการระคายคอได้
ผล : มีรสฝาดสมาน มีสรรพคุณเป็นยาแก้อาเจียน, แก้ท้องร่วง
ยาง : มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคปากเปื่อยได้เช่นกัน ยางไม้ประดู่มีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Gum Kino” สามารถนำมาใช้เป็นยาแก้โรคท้องเสียได้
ใบอ่อน : นำมาตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาพอกแผล พอกฝี จะช่วยทำให้ฝีสุกหรือแห้งเร็ว, ใช้ตำพอกแก้ผดผื่นคัน

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: