สินค้าแนะนำ

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดแพร่

ต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดแพร่

ต้นยมหิน
ยมหิน ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chukrasia tabularis A.Juss. ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ฝักดาบ (จันทบุรี), เสียดกา (ปราจีนบุรี), เสียดค่าย (สุราษฎร์ธานี), ยมขาว (ภาคเหนือ), มะเฟืองต้น มะเฟืองช้าง ยมหิน สะเดาหิน สะเดาช้าง (ภาคกลาง), ช้ากะเดา (ภาคใต้), มะยมหลวง (ไทใหญ่), โค้โย่ง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ริ้งบ้าง รี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลำชา (ลั้วะ), ตุ๊ดสะเต๊ะ (ขมุ) เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นยมหิน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่เร็ว เรือนยอดเป็นทรงพุ่มรูป กรวยตํ่า มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เมตร ลำต้นเปลาตรง มีพูพอนที่โคนต้น เปลือกต้นเป็นสีนํ้าตาลคลํ้า สีเทา หรือสีเทาปนดำ เปลือกต้นแตกเป็นสะเก็ดรูปสี่เหลี่ยมเมื่อมีอายุมากขึ้น แตกเป็นร่องลึกตามยาวของลำต้น เปลือกชั้นในเป็นสีแดงออกนํ้าตาลหรือสีชมพู ส่วนกระพี้เป็นสีเหลืองคล้ายฟางข้าว และแก่นไม้เป็นสีเหลืองเข้มถึงสีนํ้าตาล กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนนุ่ม

ลักษณะใบยมหิน

ใบยมหิน : ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเยื้องกันเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 30-60 เซ็นติเมจร มีใบย่อยประมาณ 6-20 คู่ จัดเรียงตัวกันแบบสลับ แต่ใบย่อย 2 คู่แรกจะเรียงตัวกันแบบตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบมีขนอ่อนนุ่ม 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นขนยาว ปลายแหลม อ่อนนุ่ม ส่วนอีกชนิดจะมีจำนวนน้อยกว่าและสั้นกว่า มีลักษณะปลายขนมนแข็งกว่าชนิดแรก ขึ้นปกคลุมด้านหลังใบเป็นจำนวนมาก

ลักษณะดอกยมหิน

ดอกยมหิน : ออกดอกเป็นช่อตามมุมกิ่งอ่อนหรือตามปลายยอด ปลายช่อห้อยลง ดอกยมหินมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม ออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์

ลักษณะผลแก่ และผลแห้งยมหิน

ผลยมหิน : ออกผลเป็นพวง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรีหรือรูปไข่ ผลเป็นแบบผลแห้งมีเปลือกแข็งสีนํ้าตาล ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลเป็นสีนํ้าตาล เมื่อสุกจะเปลี่ยนสีดำ เมื่อแห้งหรือแก่จะแตกเป็น 3-5 เสี่ยง ภายในผลแบ่งออกเป็นช่องประมาณ 3-5 ช่อง มีเมล็ดลักษณะแบน เป็นแผ่นบางๆ สีนํ้าตาล ในแต่ละช่องของผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 60-100 เมล็ด

ประโยชน์
เนื้อไม้ยมหินมีลายไม้ที่สวยงามและเป็นสีนํ้าตาลอมเหลืองเป็นมัน เนื้อไม้ละเอียดเหมาะสำหรับงานไม้ที่ใช้ในที่ร่ม ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ที่มีราคาแพง หรือนำไปใช้ในงานก่อสร้างบ้านเรือน งานโครงสร้างอื่นๆ เครื่องจักสาน และเครื่องมือใช้สอยต่างๆ เช่น การนำมาใช้ทำเสา ขื่อ รอด ตง ปูพื้นห้อง กระดาน หน้าต่าง ประตู ฝาบ้าน ไม้อัด ทำด้ามเครื่องมือ รวมทั้งการนำมาใช้ในการทำกล่องใส่ใบชา ไม้อัด และลังบรรจุสิ่งของต่างๆ

สรรพคุณทางยา
เปลือกจากเนื้อไม้ : ใช้ผสมเป็นยาปรุงแก้ไข้เปลี่ยนฤดู หนาวๆ ร้อนๆ ไข้จับสั่น เปลือก : ใช้เป็นยาสมานแผล, ผลสุกใช้รับประทานได้

ผู้นำเสนอ

หมี ปาฏิหารย์

Share

Written by: