สินค้าแนะนำ

พาเที่ยว‘ถ้ำเจ็ดคต’ ความงามใต้พิภพ 400 ล้านปี

พาเที่ยว‘ถ้ำเจ็ดคต’ ความงามใต้พิภพ 400 ล้านปี

ความรู้สึกที่มีต่อ จ.สตูล เปลี่ยนไป ตั้งแต่ยูเนสโกประกาศให้พื้นที่แหล่งธรณีวิทยาของสตูลเป็น “อุทยานธรณีโลก” ซึ่งเป็นอุทยานธรณีระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทย และมีความสำคัญเทียบได้กับมรดกโลก

จากจังหวัดที่ธรรมดาก็มีความพิเศษขึ้นมาในพริบตา น่าดึงดูดใจกว่า และน่าไปค้นหาว่ายูเนสโกเห็นอะไรที่คนไทยไม่ได้มอง

อย่างแรกที่ทำให้ตาลุกวาวคือ อุทยานธรณีสตูลมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา 28 แห่ง ครอบคลุม 4 อำเภอ คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และ อ.เมือง โดยทั้งหมดมีความสำคัญที่ทำให้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรณี 6 ข้อ คือ

1.มีปรากฏการณ์ของโลกในมหายุคพาลีโอโซอิก (ประมาณ 500 ล้านปีก่อน เก่าแก่กว่ายุคไดโนเสาร์) ครบทั้ง 6 ยุคในเขตพื้นที่อุทยานธรณีสตูล ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากที่จะพบซากดึกดำบรรพ์กำกับครบ

2.มีความหลากหลายทางธรณีทั้งทางบกและทางทะเล

ADVERTISEMENThttps://2e5963b1c25cea150551df6937db4b54.safeframe.googlesyndication.com/safeframe/1-0-38/html/container.html

3.มีปรากฏการณ์ถ้ำในพื้นที่มากมาย ทั้งถ้ำบนภูเขาและถ้ำลอดใต้ภูเขา

4.มีความหลากหลายของธรรมชาติ เช่น น้ำตก ถ้ำ และหน้าผา

5.มีคนพื้นเมืองหลากหลายชาติพันธุ์ทั้งคนพื้นเมืองที่นับถือศาสนาพุทธ อิสลาม คนไทยเชื้อสายจีน และชนเผ่ามานิที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันอย่างสงบสุข

และ 6.ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ เช่น ผลิตสินค้าในชุมชนออกจำหน่าย กลุ่มแม่บ้านทำอาหารพื้นเมืองขายนักท่องเที่ยว และมีกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ยูเนสโกจึงได้ประกาศอย่างเป็นทางการผ่านหน้าเว็บไซต์ www.unesco.org ให้อุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีระดับโลก ซึ่งปัจจุบันมีอุทยานธรณีโลกทั้งสิ้น 140 แหล่งใน 38 ประเทศ ประเทศเพื่อนบ้านที่มีอุทยานธรณีโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย 2 แห่ง มาเลเซีย 1 แห่ง และเวียดนาม 1 แห่ง

ทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุไว้ในคำนำคู่มือท่องเที่ยวอุทยานธรณีสตูลตอนหนึ่งว่า

“สำหรับอุทยานธรณีสตูล แม้จะไม่เห็นความโดดเด่นโดยชัดในพื้นที่ แต่เมื่อมองลึกลงไปในเนื้อแท้จะเห็นว่าพื้นที่มีความหลากหลาย…”

เป็นดังนั้นโดยเท็จจริง ทว่านอกจากจะมองให้ลึกลงไปถึงธรณีแล้ว ยังต้องมองอย่างมีความรู้เพื่อเห็นอย่างลึกซึ้ง เพราะไม่เช่นนั้นหินก็จะกลายเป็นเพียงหินเท่านั้น

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ตาลุกวาว เพราะแผ่นดินของอุทยานธรณีสตูลใน 4 อำเภอมีความพิเศษตรงที่ล้วนแต่มีซากฟอสซิล จนมีคนเคยพูดว่าถนนบางสายในทุ่งหว้าทำด้วยซากฟอสซิลทั้งหมด และซากฟอสซิลที่พบนั้นเป็นซากสัตว์ทะเลหรือสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลมหายุคพาลีโอโซอิกอายุตั้งแต่ 542-251 ล้านปี!

เหตุที่พบซากสัตว์ทะเลบนบกในปัจจุบัน ก็เพราะโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งในระยะเวลานับล้านๆ ปีแผ่นเปลือกโลกได้เคลื่อนที่มาเบียดชนกันทำให้บางส่วนถูกดันขึ้นมากลายเป็นภูเขา สิ่งมีชีวิตในน้ำที่ตายและทับถมอยู่ในน้ำจนเกิดดินตะกอนซ้อนทับจนเป็นหินในน้ำก็ถูกดันขึ้นมาบนพื้นดิน

หมายความว่าแผ่นดินสตูลก็เป็นจุดที่แผ่นเปลือกโลกมาชนกันและดันแผ่นหินที่เคยอยู่ใต้น้ำขึ้นมา โดยนักท่องเที่ยวไม่ต้องเสียเวลาไปเดินหา เพราะนักธรณีวิทยาได้ค้นหา ค้นคว้า และค้นเลือกไฮไลต์ทั้ง 28 แห่งในอุทยานธรณีสตูลไว้ให้แล้ว เพียงแค่เลือกเส้นทางที่สะดวกและสนใจ อย่างเส้นทางระหว่างมะนังถึงละงูที่จะกล่าวต่อไปนี้

เจ็ดคต เจ็ดโค้ง เจ็ดร้อยเมตร

ณ บ้านป่าพน ต.ปาล์มพัฒนา อ.มะนัง มีโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ไม่ธรรมดา เพราะข้างๆ สนามฟุตบอลที่นักเรียนกำลังเล่นสนุกสนาน มีลานหินล้านปีรูปร่างประหลาดโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดิน

โรงเรียนบ้านป่าพน เป็นสถานที่ตั้งของ “ลานหินป่าพน” เป็นหินปูนที่มีลักษณะเป็นชั้น โดยแต่ละชั้นแสดงโครงสร้างของซากฟอสซิลของสโตรมาโตไลต์ หรือแบคทีเรียโบราณที่อาศัยอยู่ใต้ทะเล

หากอธิบายให้ลึกไปกว่านั้น สโตรมาโตไลต์คือผลผลิตของไซนาโนแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเริ่มแรกของโลก แบคทีเรียชนิดนี้จะดูดเอาแคลเซียมจากน้ำมาสร้างเกราะคลุมตัวเอง มีการเกิดต่อกันเป็นสาย พอมันตายลงแล้วเกิดการทับถมจนกลายเป็นฟอสซิล จึงมองเห็นเป็นรูปตาราง

ไม่ห่างจากโรงเรียนนัก จะพบกับอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ว่าจะสายธรณีวิทยา สายลุย สายวิบาก สายธรรมชาติก็ต้องชอบ เพราะที่นี่คือ “ถ้ำเจ็ดคต” ถ้าเป็นนักธรณีวิทยาจะเรียกชื่ออย่างถูกต้องว่า ถ้ำ “ลอด” เจ็ดคต เพราะถ้ำแห่งนี้มีลักษณะเป็นถ้ำลอด มีลำคลองลำโลนไหลลอดภูเขาหินปูนออกไปรวมกับคลองละงู โดยนักท่องเที่ยวจะใช้วิธีชมถ้ำด้วยการพายเรือคายักเข้าไป

องค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนา เป็นผู้ดูแลการท่องเที่ยวในพื้นที่ รองรับการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ ทั้งเดินป่า เที่ยวถ้ำ ล่องแก่ง เล่นน้ำตก ชมวิถีชีวิตชาวมานิ การศึกษาสำหรับนักวิจัย และเข้าค่ายพักแรม ทาง อบต.จะชักชวนชาวบ้านมาเป็นฝีพายคายักให้นักท่องเที่ยว รวมทั้งทำหน้าที่เป็นไกด์ให้ข้อมูลไปด้วยในตัว

เริ่มแรกที่จุดลงคายักจะเป็นลำธารกลางป่าชื้น ผ่านแก่งเล็กน้อยพอเสียวไส้ และให้ซึมซับแสงธรรมชาติเป็นระยะทางประมาณ 300 เมตร ก่อนถึงปากความมืด ซึ่งบริเวณปากถ้ำนี้จะมีกองหินขัดขวางกลางคลองลำโลนอยู่ ทำให้ฝีพายต้องออกแรงขนถ่ายเรือข้ามก้อนหินไปยังลำธารด้านในถ้ำลอด

ถ้ำเจ็ดคตมีความยาวประมาณ 700 เมตร ขนาดกว้าง 70-80 เมตร ความสูงประมาณ 40-50 เมตร มีทั้งหมด 7 โค้ง หรือ 7 คต อันเป็นที่มาของชื่อถ้ำ ได้แก่ คตบัวคว่ำ คตหัวสิงโต คตม่านเพชร คตลานกุหลาบหิน คตส่องนภา คตประติมากรรมพระพุทธรูป และคตแผนที่ประเทศไทย

ลักษณะเป็นถ้ำลอดหินปูนยุคออร์โดวิเชียนอายุ 444 ล้านปี ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นตระกูลปลาที่ยังไม่มีครีบและขากรรไกร และเป็นยุคของสัตว์ที่มีเปลือกแข็งหุ้มตัว เช่น ไทรโลไบต์แกรปโตไลต์ และนอติลอยด์

บริเวณปากถ้ำจะต้อนรับด้วยหินย้อยสีเหลืองมัสตาร์ด ซึ่งเป็นสีธรรมชาติของสีหินปูนผสมสารละลายธาตุเหล็กทำให้มีสีเหลืองอมน้ำตาล ซึ่งเข้มกว่าสีเหลืองอ่อนๆ ของสีหินปูนทั่วไป

จากนั้นเมื่อพายเรือเข้าไปอีกหน่อย จะถูกทักทายด้วยฝูงค้างคาวขนาดใหญ่ที่เข้ามาอาศัย พวกมันส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวเหมือนกำลังบ่นรำคาญพวกมนุษย์ที่เข้ามารบกวนเวลานอน แต่หลังจากนั้นเพียงแวบเดียว ทุกสรรพเสียงก็สงบลงเหลือเพียงเสียงพายวักน้ำ และเสียงหยดน้ำดังติ๋งๆ จากเพดาน ซึ่งสามารถอธิบายได้ถึงการเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติ

เนื่องจากหินปูนสามารถละลายน้ำได้ น้ำฝนที่ตกลงมาจะละลายหินปูนไหลไปตามร่องแตกของภูเขา สารละลายหินปูนจะค่อยๆ สะสมตัวกลายเป็นหินย้อย และส่วนที่ตกลงมาถึงพื้นก็จะค่อยๆ สะสมกลายเป็นหินงอก ซึ่งถ้ำเจ็ดคตพบหินย้อยขนาดใหญ่หลายจุด

รูบางแห่งที่แตกเป็นช่องน้ำขนาดใหญ่ก็จะปล่อยให้น้ำไหลตกลงมา หินปูนจะสะสมตัวกลายเป็นเนินหินปูนลดหลั่น เป็นลักษณะที่เรียกว่า น้ำตกถ้ำ แต่ถ้าช่องที่น้ำหินปูนไหลออกมามีพื้นต่างระดับไม่มาก หินปูนก็จะค่อยๆ สะสมตัวเป็นขอบลดหลั่นลงมาเรียกว่า ทำนบถ้ำ ซึ่งทำนบในถ้ำเจ็ดคตยังมีขนาดไม่ใหญ่ แต่ยังเห็นเม็ดหินเล็กๆ ในแอ่งทำนบ เรียกว่า ไข่มุกถ้ำ

บริเวณตอนกลางของถ้ำจะมีช่องแสงบนเพดาน ทำให้ในยามเที่ยงวันแสงอาทิตย์จะส่องลอดลงมา เกิดความสว่างเป็นสีเขียวมรกตจากแสงแดดที่ส่องผ่านใบไม้

นอกจากนี้ จะเห็นริ้วของหินบนเพดานถ้ำ ริ้วเหล่านี้เกิดจากกระแสน้ำที่เคยไหลในอดีต ต่อมาถ้ำมีการปรับเปลี่ยนรูปร่างจากการดันของแผ่นเปลือกโลก ทำให้หินที่เคยอยู่ในระดับน้ำไหลถูกดันยกขึ้นไปอยู่บนเพดานถ้ำ

จากนั้นเมื่อถึงคตสุดท้าย ฝีพายจะชี้ให้มองแผนที่ประเทศไทยจากรูปทรงของหินและช่องแสงที่ปลายทาง ก่อนจะจ้ำหัวเรือไปทางนั้นเพื่อออกไปยังทิศตะวันตก จุดที่ลำคลองลำโลนไปบรรจบกับคลองละงูเป็นพื้นที่ล่องแก่งวังสายทอง โดยบริเวณปากถ้ำทิศตะวันตกมีหาดทรายให้พักก่อนล่องคายักออกไปยังคลอง และเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่จะเก็บเกี่ยวความงดงาม ก่อนจะนั่งไทม์แมชีนออกจากยุคออร์โดวิเชียนสู่โลกปัจจุบัน

ลักษณะดีของถ้ำเจ็ดคตคือ มักมีหาดทรายให้จอดเรือลงไปเดินส่องไฟฉายดูรายละเอียดของธรรมชาติได้ใกล้ๆ แถมยังไม่รู้สึกอึดอัดเวลาหายใจ และระยะทางที่ไม่ใกล้ไม่ไกลทำให้ไขข้อยังไม่ติดขัดเวลานั่งอยู่บนคายักนานๆ โดยใช้เวลาเที่ยวถ้ำเจ็ดคตตั้งแต่ขึ้นถึงสละเรือประมาณ 2 ชั่วโมง

หลังจากนั้นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยายังชี้นำไปยังละงู อำเภอที่อยู่ติดกัน มีอาณาเขตติดกับทะเลอันดามัน และมีความน่าตื่นตาตื่นใจทางธรณีวิทยาไม่แพ้กัน เพราะเป็นที่ตั้งของเขตข้ามกาลเวลา

เขาโต๊ะหงาย สองกาลเวลา

นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวมะนัง มักไปค้างแรมที่ละงู เนื่องจากมีที่พักสะอาดสบาย และละงูยังมีที่เที่ยวอีกมากอย่างในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา หนึ่งในนั้นคือ “เขาโต๊ะหงาย”แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาบนบกแต่ติดทะเล มีสะพานเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานฯ เลียบไปตามชายฝั่งผาชันด้านตะวันออก โค้งไปทางตะวันตกผ่านเขตรอยต่อระหว่างหินปูนสีเทาและหินทรายสีแดง ซึ่งถูกตั้งชื่อเก๋ไก๋ว่า “เขตข้ามกาลเวลา”

แม้ไม่มีหลักฐานจากซากฟอสซิลแต่จากการเปรียบเทียบลำดับชั้นหิน กล่าวได้ว่า หินทรายสีแดงเป็นหินทรายกลุ่มตะรุเตายุคแคมเบรียน (อายุประมาณ 541-485 ล้านปี) ส่วนหินปูนสีเทาเป็นหินปูนกลุ่มหินยุคออร์โดวิเชียน (อายุประมาณ 485-444 ล้านปี)โดยรอยสัมผัสของหินทั้งสองยุค เป็นรอยสัมผัสที่เกิดจากรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่มีความชัดเจนมากและหาดูได้ยาก เสมือนหนึ่งว่ากำลังก้าวย่างข้ามกาลเวลาจากยุคหนึ่งไปยังอีกยุคได้เพียงก้าวเดียว

เมื่อมองจากเขตข้ามกาลเวลาออกไปจะเห็นเกาะเขาใหญ่อยู่เบื้องหน้า โดยเส้นทางท่องเที่ยวเกาะเขาใหญ่ มีจุดห้ามพลาดอย่างปราสาทหินพันยอดที่แหลมคมน่าเกรงขาม ทั้งยังมีหลักฐานชี้ว่าเกาะเขาใหญ่เคยเป็นทะเลโบราณมาก่อน ก่อนจะมาเป็นเกาะกลางทะเลในปัจจุบัน ซึ่งคงต้องยกไปเล่าต่อในฉบับหน้า

นับพระอาทิตย์ที่เขาโต๊ะหงายขึ้นใหม่อีก 7 ครั้ง วันนั้นเรือคายักจะกลับมาพาไปตะลุยอุทยานธรณีโลกแห่งแรกในประเทศไทยอีกหน

Share