ถนนประวัติศาสตร์ของจังหวัดระนอง เป็นถนนในจังหวัดระนอง จำนวน 10 สาย ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้และแหลมมลายู ทรงแวะประทับจังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 23 – 26 เมษายน พ.ศ. 2433
ในครั้งนั้นพระองค์ยังได้พระราชทานนามพลับพลาที่ประทับ คือ “พระที่นั่งรัตนรังสรรค์” และเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของพระที่นั่ง ฯ ชื่อว่า ” เขานิเวศน์คีรี” ถนน 10 สายที่สำคัญที่ได้ชื่อว่าเป็นถนนประวัติศาสตร์ นั้นเป็นพระมหากรุณาธิคุณของชาวจังหวัดระนอง เป็นล้นพ้น เป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจของจังหวัดระนอง มิรู้ลืม
ถนนประวัติศาสตร์ 10 สาย ดังกล่าว ที่เป็นที่เทิดทูนของชาวจังหวัดระนอง เนื่องจากนับเป็นพระปรีชาสามารถที่พระองค์ได้ทรงตั้งชื่อถนนได้คล้องจองกัน ถึง 10 สาย และถนน แต่ละสายชื่อจะ สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และสภาพของชุมชน เช่นถนนเรืองราษฎร์ เป็นถนนที่ผ่านย่านตลาดและ การค้าขาย ถนนดับคดีเป็นถนนซึ่งผ่านที่ตั้งศาลจังหวัดระนอง เป็นต้น
จึงได้นำชื่อถนนทั้ง 10 สาย มานำเสนอไว้เพื่อคนรุ่นหลังจะได้ทราบถึงสภาพของถนน ตั้งแต่ จุดเริ่มต้นถึงสุดระยะทางของถนนต่างๆ ได้แก่ ท่าเมือง เรืองราษฎร์ ชาติเฉลิม เพิ่มผล ชลระอุ ลุวัง กำลังทรัพย์ ดับคดี ทวีสินค้า ผาดาด รายละเอียดดังน
สายที่ 1 ถนนท่าเมือง
เริ่มต้นจากบ้านด่านท่าเมือง หัวถนนมีศาลาท่าน้ำสร้างด้วยไม้ยื่นลงในแม่น้ำจะเป็น ที่นั่งพักสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางไปยังจุดต่างๆ โดยทางเรือ ที่ด่านท่าเมืองมีเรือยนต์ เรือใบ เรือแจว เรือสำเภา จากระนอง-ไปกระบุรี ระนอง-ไปกะเปอร์ ระนอง-ไปละอุ่น และจากระนองไปยังเกาะสอง หรือวิกเตอเรียปอยด์ ของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพเมียนมาร์ ที่ท่าเรือแห่งนี้จะมีเรือมาจอดขนถ่ายสินค้า และรับส่งคนโดยสาร รวมทั้งเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าขาออกและขาเข้า สินค้าขาออกที่สำคัญคือดีบุก กระบือ ซึ่งสมัยก่อนมีสะพานควายที่นำกระบือไปขายต่างประเทศ
และบริเวณนี้จะเป็นแหล่งชุมนุม การติดต่อการค้ากับชาวต่างประเทศ ที่จะมาจอดเรือกลไฟขนถ่ายสินค้าจากประเทศจีน ประเทศอังกฤษ ประเภทสินค้าซึ่งเป็นที่นิยมจะเป็นน้ำหอม อาหารกระป๋อง ยารักษาโรค และผลไม้สดเช่น แอปเปิ้ล สาลี่ ลูกแพร องุ่น นับเป็นถนนสายสำคัญ มากในการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงในอดีต ถนนสายนี้ยาวประมาณ 2 กิโลเมตรปัจจุบันผ่านที่ทำการป่าไม้ชายเลนที่ 1 จังหวัดระนอง สองข้างทางในอดีดจะเป็นป่าโกงกางด้านซ้ายมือของถนนจะมีทางน้ำขนาดกว้าง เรือขนาดใหญ่สามารถวิ่งผ่านเข้ามาได้ถึงสถานีอนามัยในปัจจุบันและคลองนี้เชื่อมต่อไปถึงท่าเรือที่ถนนทวีสินค้า
ปัจจุบันลำคลองนี้ได้ตื้นเขินเหลือเป็นทางน้ำแคบ ๆ ติดกับสนามฟุตบอลของหมู่บ้าน ถนนผ่านตลาดแขกซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของแขกกะลา หรือชาวสิงหล เป็นแขกผิวดำเป็นมัน ปากแดง ฟันขาว ยังชีพด้วยการเลี้ยง กระบือ วัว แพะ ด้านขวามือของถนนมองเข้าไปจะเห็นคอกวัวและคอกกระบือ เรียงรายหลายคอก คอกหนึ่ง ๆ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ตัว ส่วนด้านซ้ายมือซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดระนองธานี จะเป็นป่าชายเลนและนาเกลือ
นอกจากนั้นมีต้นโกงกางขนาดใหญ่ ต้นเสม็ด ต้นลำพู ต้นไทร เป็นที่อาศัยของฝูงลิงแสมจำนวนมาก ฝูงหนึ่ง ๆ ไม่น้อยกว่า 30-40 ตัว จะมีอยู่หลายฝูง ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยลิงแสมให้เห็นอีก จากตลาดแขกจะผ่านโรงเรียนศรีอรุโณทัย ด้านขวามือของถนนเป็นที่ตั้งของวัดอุปนันทาราม (วัดด่าน) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองระนอง ด้านหลังของวัดฯ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเทศบาลวัดอุปนันทาราม จากวัดอุปนันทารามจะถึงตลาดเก่าจุดที่มี ลำน้ำ และสะพานเชื่อมกับถนนเพิ่มผล มีระยะทาง ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร
สายที่ 2 ถนนเรืองราษฎร์
เริ่มต้นจากสี่แยกตลาดเก่าผ่านศาลเจ้าต่ายเต๊เอี๋ยผ่านตลาดบางส้านซึ่งเป็นตลาดสดแห่งแรกของจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ ถนนสายนี้ในอดีตจะมีบ้านเรือนเรียงรายและมีร้านค้าเปิดขาย สินค้าทั้ง 2 ฟากถนน มีสวนมะพร้าวและสวนผลไม้ สลับอยู่ประปราย แต่ปัจจุบันไม่มีให้เห็นอีกเพราะสองฟากถนนจะแออัด ไปด้วยร้านค้าที่เปิดขายสินค้า ต่างๆ
จากตลาดสดด้านขวามือมองขึ้นไปจะมีศาลเจ้าฮกเต็กสือตั้งอยู่บนเนินสูงมีผู้คนขึ้น ไปกราบไหว้บูชาอยู่เสมอ
ด้านซ้ายมือจะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนหมิงซิน เป็นโรงเรียนที่ เปิดสอนภาษาจีนจัดตั้งขึ้นโดยสมาคมคนจีนผู้มีฐานะดีที่อาศัยทำมาหากินอยู่ในจังหวัดระนองทำให้ ลูกหลานได้เรียนรู้ภาษาจีน แต่ปัจจุบันเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ และมีการสอนภาษาจีนควบคู่ไปด้วยต่อมาขออนุญาตเปิดการเรียนการสอนเป็นโรงเรียนเอกชนการกุศลไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเรียน จากโรงเรียนหมิงซินจะเป็นโรงภาพยนตร์สักรินทร์และโรงภาพยนตร์สวัสดิ์ภักดี ปัจจุบันนี้ โรงภาพยนตร์ทั้ง 2 แห่งได้ปิดกิจการไปแล้ว จากโรงภาพยนตร์สวัสดิ์ภักดีลงไปจะเป็นย่านที่มีร้านค้าเปิดขายกิจการขายสินค้าต่าง ๆ มากมาย
ทั้งร้านขายของชำ ขายผ้า ขายอุปกรณ์การก่อสร้าง ขายอุปกรณ์การกีฬา นอกจากนี้ถนนเรืองราษฎร์ จะมีอาคารบ้านเรือนเป็นสถาปัตยกรรมแบบ ชิโนโปรตุกีส ซึ่งจะมีเสาและ ซุ้มประตูเป็นรูปโค้ง ยังคงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหลายหลัง โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้เพื่ออนุรักษ์ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา
ผ่านจากย่านชุมชนธุรกิจหนาแน่น ช่วงนี้จะถึงโรงภาพยนตร์พฤฒินันท์ เป็นโรงภาพยนต์แห่งเดียวที่ยังเปิดกิจการสร้างความบันเทิงแก่ประชาชนในปัจจุบันถนนช่วงนี้ เรียกว่าย่านตลาดพม่า เพราะในอดีตจะมีชาวพม่ามาตั้งบ้านเรือนอยู่มากมายหลายหลังคาเรือน ลักษณะเด่นของบ้านเรือนชาวพม่า คือทุกบ้านจะมีดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม เช่น ดอกแก้ว ดอกกุหลาบ ดอกมณฑา และดอกพวงชมพู ปลูกไว้หน้าบ้านทำให้มองดูร่มรื่น บ้านเรือนเป็นบ้านสองชั้น มีใต้ถุนยกระดับ มีระเบียงสำหรับ นั่งเล่นหน้าบ้าน ฝาบ้านจะมีลูกกรงเป็นลายฉลุสวยงามเพื่อระบายอากาศ เลยไปอีกเล็กน้อยจะเป็นที่ว่าการอำเภอเมืองระนอง ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ และอาคารหลังที่ใช้เป็น ที่ว่าการอำเภอในปัจจุบันเป็นหลังที่สอง หลังจากได้ รื้อถอนหลังเดิมซึ่งเป็นอาคารไม้สองชั้นมี ใต้ถุนสูง เสาอาคารจะเป็นเสาก่ออิฐถือปูนสี่เหลี่ยม ขนาดใหญ่ มีมุขอยู่ด้านหน้า สาเหตุที่ได้รื้อถอนเนื่องจากทรุดโทรมมาก จากที่ว่าการอำเภอเมืองระนอง จะเป็นสำนักงานองค์การโทรศัพท์จังหวัดระนอง เรือนจำจังหวัดระนอง โรงเรียนอนุบาลดวงกมล ค่ายเจ้าเมือง (บ้านพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี) ผ่านสามแยกในค่าย (จวนเจ้าเมือง) ผ่านด้านข้างของโรงเรียนสตรีระนองสู่สะพานยูง ซึ่งเป็นตลาดสด (ตลาดเช้า) อีกแห่งหนึ่งที่มีประชาชนจับจ่ายใช้สอยในปัจจุบันถนนนี้สุดสายที่สะพานยูง หรือสะพานคอซู้เจียงในปัจจุบัน ต่อจากนั้นจะเป็นถนนชาติเฉลิม
สายที่ 3 ถนนชาติเฉลิม
เริ่มต้นจากสะพานยูงปัจจุบันชื่อ”สะพานคอซู้เจียง”ในอดีตสะพานยูงเป็น สะพานไม้โค้งสูง ด้านล่างของสะพานเป็นคลองบางนอน ซึ่งในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ อันได้แก่ปู ปลา กุ้ง หอย และจระเข้น้ำเค็ม เพราะคลองนี้โดยสภาพมีน้ำเค็มขึ้นถึง เวลาน้ำขึ้น น้ำทะเลจะหนุนขึ้นมาทำให้ระดับน้ำขึ้นสูง และจะมีจระเข้ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ จะมีช่วงน้ำลึกเป็นบริเวณกว้างเป็นที่อาศัยอยู่ของจระเข้ หรือที่เรียกว่า วัง หรือวังเข้ ทำให้มีการตกจระเข้ (วิธีการจับจระเข้ วิธีหนึ่ง) เพื่อนำเอาหนังไปขาย เพราะหนังจระเข้นำเค็มของจังหวัดระนองเป็นหนังที่มีคุณภาพดีที่สุดของประเทศ ผ่านสะพานไปด้านซ้ายมือจะเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลระนองแห่งแรกซึ่งเป็นเรือนไม้เป็นแนวยาว ไปกับถนน มีนายแพทย์เพียง 1 คน คือหลวงอาทร ธุรสุข (นายแพทย์อยู่อี้ ถนอมชีพ) มี เภสัชกร 1 คน มี บุรุษพยาบาล 1 คน และมีเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์อีก 1 คน แต่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ โดยแมลงที่ 49 ระนอง กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณะสุข เลยไปอีกเล็กน้อยตรงข้ามจะเป็น วัดสุวรรณคีรีวิหารซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ วัดสุวรรณคีรีวิหาร เป็นชื่อพระราชทาน มีหลักฐานเป็น พระบรมราชโองการ ปรากฎอยู่ ชาวบ้านเรียกว่าวัดหน้าเมือง ได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2544 ในอดีตจะมีสวนยาง และสวนมะพร้าวอยู่หนาแน่นภายในวัด เมื่อมองเข้าไปจะมองแทบไม่เห็นตัวอาคารในวัด ตรงข้ามวัดจะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนชาติเฉลิม ซึ่งในอดีตด้านหลังของโรงเรียนจะมีกอง ทรายขนาดใหญ่หลายกองที่เกิดจากการทำเหมือง โดยมีเรือขุดแร่ของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รับสัมปทานให้ขุดแร่ในบริเวณนี้ และเมื่อเลิกกิจการไปแล้วก็ทำให้เกิด ขุมเหมือง และกองทรายขนาดใหญ่ จึงทำให้เป็นที่เล่นพักผ่อนของนักเรียนยามว่างจากการเรียน แต่เนื่องจากน้ำในขุมเหมืองลึกและเย็นจัดทำให้บางครั้งเกิดอุบัติเหตุถึงเสียชีวิตเมื่อเด็กลงไป ว่ายน้ำเล่น จากการเป็นตะคริวแล้วจมน้ำตายไปหลายคน ปัจจุบันกองทรายได้ยุบสลายไป และขุมเหมืองได้มีการถมและปรับสภาพเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน ถนนสายนี้ไปสิ้นสุดที่กำแพงวัดวรรณคีรีวิหารพระอารามหลวงกับถนนระนองปากน้ำ ความยาวของถนนทั้งสายนี้ ประมาณ 500 เมตร.
สายที่ 4 ถนนเพิ่มผล
เริ่มต้น จากถนนชลระอุ ผ่านด้านข้างของแขวงการทางระนอง ด้านข้างโรงพยาบาลระนอง และด้านข้างของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนองในปัจจุบัน ผ่านสี่แยกไฟแดง ผ่านศาลหลักเมืองระนอง สำนักงานเทศบาลเมืองระนอง สวนสุขภาพ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดระนอง และสำนักงานโทรคมนาคม ไปเชื่อมต่อกับถนนท่าเมือง
สายที่ 5 ถนนชลระอุ
เริ่มต้นจากสี่แยกสะพานยูง (สะพานคอซู้เจียง) แยกจากถนนเรืองราษฎร์ตรงข้ามถนนสะพานยูงหน้าค่าย (จวนเจ้าเมือง) ผ่านด้านหลังของโรงเรียนสตรีระนอง ผ่านสี่แยกตลาดใหม่ผ่านที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขจังหวัดระนอง ผ่านสะพานระหัดบน จากสะพานระหัดบนจะเป็นสนามฟุตบอลของชมรมคนรุ่นใหม่ ซึ่งในอดีตบริเวณนี้ตลอดแนวจะเป็นเหมืองแร่ที่ทำการ
ขุดแร่โดยใช้วิธีทำเหมืองฉีดเหมืองแร่เหล่านี้จะตั้งอยู่ใกล้ถนน จากบริเวณเหมืองแร่นี้จะเป็น โรงล้างแร่ดีบุกขนาดใหญ่ ที่จะรับจ้างล้างแร่จากผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ในจังหวัดระนอง ซึ่งมีอยู่มากมายหลายเหมือง ก่อนจะนำแร่ที่ได้ส่งไปถลุงที่จังหวัดภูเก็ต ในปัจจุบันราคาแร่ดีบุกตกต่ำ จึงทำให้กิจการเหมืองแร่เหล่านี้เลิกราไปหลายสิบปี ปัจจุบันบริเวณนี้ได้เป็นที่ตั้งของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จะเป็นที่ตั้งของแขวงการทางระนอง ผ่านข้ามถนนเพชรเกษมที่ห้าแยกต่อไปยังบ่อน้ำร้อน (วัดตโปทาราม) สุดสายเชื่อมกับถนนระนอง – หาดส้มแป้น มีระยะทางยาวประมาณ 2 กิโลเมตร
สายที่ 6 ถนนลุวัง
เริ่มต้นจากสามแยกรัตนสิน ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัด ผ่าน โรงเรียนอนุบาลระนอง หอพระ 9 เกจิอาจารย์ ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดระนอง (เดิมคือศาลาประชาคมจังหวัดระนอง) ผ่านเนินเขานิเวศน์คีรี แยกขึ้นศาลากลางจังหวัดระนอง
ซึ่อในอดีตเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ ปี พ.ศ. 2433 เสด็จประพาสจังหวัดระนอง และเมื่อ ปี พ.ศ. 2507 ได้ถูกรื้อถอนและสร้างเป็นศาลากลางจังหวัดระนองในปัจจุบัน ผ่านแยกศาลากลางจังหวัด ซ้ายมือจะเป็นสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระนอง ขวามือเป็น ด้านหลังของโรงเรียนเทศบาลบ้านเขานิเวศน์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดระนอง ตรงข้ามเป็นสำนักงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง ไปต่อกับถนนชลระอุ มีระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร
สายที่ 7 ถนนกำลังทรัพย์
เริ่มต้นจากถนนเรืองราษฎร์บริเวณสามแยกบางส้าน (กรุงไทย) ผ่านโรงเรียนอนุบาลระนอง ผ่านมัสยิดอัลริดวาน ผ่านบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง(จวนผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง) ข้ามสะพานระหัดล่างด้านซ้ายเป็นสถานีตรวจสอบและเฝ้าฟังความถี่วิทยุระนอง ผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ด้านขวาเป็นศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยว บ้านพักปลัดจังหวัดระนอง ไปต่อกับถนนเพิ่มผล ตรงสี่แยกไฟแดง มีระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ถนนสายนี้ปัจจุบันตัดผ่านโรงพยาบาลระนอง ถึงบริเวณแยกตัดกับถนนเพชรเกษม
สายที่ 8 ถนนดับคดี
เริ่มต้นจากถนนเรืองราษฎร์บริเวณสามแยกในค่าย (จวนเจ้าเมือง) โรงเรียนสตรีระนองผ่านโรงเรียนสตรีระนอง กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดระนอง ศาลจังหวัดระนอง มีระยะทางประมาณ 500 เมตร สุดสายที่แยกเชื่อมกับถนนชลระอุตรงบริเวณสามแยกชลระอุ ใกล้กับ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขจังหวัดระนอง
สายที่ 9 ถนนทวีสินค้า
เริ่มต้นจากถนนเรืองราษฎร์บริเวณสามแยกตลาดพม่า ลงไปเป็นถนนที่มีระยะทางยาวประมาณ 150 เมตร ในอดีตเป็นที่ตั้งของโรงเลื่อยจักรท่าทวี เป็นโรงเลื่อยขนาดใหญ่ จะมีท่าเรือเพื่อขนไม้ซุงมาจอดที่ท่า ในอดีตจังหวัดระนองจะมีอาชีพในการทำไม้แปรรูป และผลิตภัณฑ์ไม้ ไปขายยังต่างจังหวัด จากท่าเรือลงไปจะเป็นลำคลองขนาดกว้าง ขนาบด้วยป่าชายเลนที่อุดมด้วยไม้โกงกางขนาดใหญ่ ต้นลำพู ต้นแสม และไม้ป่าชายเลนอื่นๆ อีกมากมาย ยังมีสัตว์ป่าที่อาศัย หากินแถบป่าชายเลนเช่น เสือ ชะมด แมวป่า ลิงแสม โดยฝูงลิงแสมที่หากินบริเวณรอยต่อระหว่างป่าชายเลนกับบริเวณตัวเมือง จากถนนท่าเมืองมายังบริเวณนี้ เดิมเป็นบริเวณที่ประชาชนใช้สำหรับประกอบอาชีพในการออกไปหาปู หาปลา ช้อนกุ้ง หาหอย เพื่อนำมาประกอบอาหาร และนำไปขายเป็นสินค้า แต่ในปัจจุบันลำคลองตื้นเขิน ไม่มีลำคลองที่แสดงให้เห็นว่าเป็นท่าเรือ และป่าชายเลนก็เปลี่ยนสภาพไม่เหลือให้เห็นอีก สาเหตุเนื่องมาจากการทำเหมืองเรือขุดของบริษัทเอกชน สุดถนนสายนี้ปัจจุบันจึงแปรสภาพเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของคนต่างถิ่นที่มาตั้งหลักแหล่งเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันทางราชการได้ตัดถนนเชื่อมผ่านตลาดสด (ตลาดภักดี) ต่อไปถึงสี่แยกหน้าวัดอุปนันทาราม (วัดด่าน) บริเวณสถานธนานุบาล ของจังหวัดระนองในปัจจุบัน (โรงรับจำนำ)
สายที่ 10 ถนนผาดาด
คือถนนที่ตัดไปบ้านบางนอน จะเริ่มต้นจากสามแยกจากถนนดับคดีผ่านสี่แยก ตลาดใหม่ ตัดกับถนนชลระอุ เลยไปถึงสะพานใกลๆ กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูระนองในปัจจุบัน แต่เดิมคงจะตัดถนนไปถึงเชิงเขาบ้านบางนอน แต่เมื่อมีการตัดถนนเพชรเกษมเข้ามาสู่จังหวัดระนอง เมื่อ พ.ศ. 2498 โดยกรมทางหลวงได้ตัดถนนจากบ้านเขาฝาชีมาตามแนว ถนนผาดาด เชื่อมต่อถึงเขตเทศบาลเมืองระนอง ถนนผาดาดถึงสุดเขตเทศบาล ที่สะพาน ตลาดใหม่ (คลองบางนอนปัจจุบัน) มีระยะทางประมาณ 600 เมตร