สินค้าแนะนำ

พาเที่ยวปิดตำนาน สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) 105 ปี

พาเที่ยวปิดตำนาน สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) 105 ปี

หัวลำโพง เพื่อน..ที่ระลึก
อำลาอาลัย ‘หัวลำโพง’ ความในใจจากแฟนพันธุ์แท้รถไฟไทย ตัวแทนชาวไทยที่ผูกพันกับสถานีรถไฟกรุงเทพ

บางทีสิ่งที่เรารัก อาจไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดหรอกนะ
เราบอกกับตัวเองเป็นการปลอบใจ

ถ้าหากว่าสิ่งนั้นมันสลายไปตามวาระของมันจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราคงทำใจได้มากกว่านี้

แต่ถ้าสิ่งนั้นมันเป็นสถานที่ที่ผูกพัน มันคงทำใจยากเหมือนกัน เรื่องหนึ่งก็คือการนับถอยหลังบทบาทของสถานีกรุงเทพ หรือหัวลำโพง ในฐานะสถานีหลัก

การกำเนิดเกิดมาของสถานีกลางบางซื่อเป็นการลดบทบาทของสถานีกรุงเทพอยู่แล้ว ให้รถไฟส่วนใหญ่ไปใช้งานที่สถานีกลางบางซื่อ และทำให้สถานีกรุงเทพกลายเป็นสถานีรองในเขตเมือง จะมีแค่รถไฟเข้ามาบางขบวน และรับหน้าที่ใหม่ในการเป็นสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง เรื่องนี้เข้าใจดี มันต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาที่สูงขึ้น

นั่นคือการกระจายให้รถไฟทุกขบวนไม่ต้องมากองที่สถานีกรุงเทพ ถัว ๆ แบ่ง ๆ กันไป

อยู่ ๆ เมื่อต้น พ.ศ. 2564 เสียงแพร่สะพัดมาว่าจะไม่มีรถไฟเข้าหัวลำโพงเลยแม้แต่ขบวนเดียว รวมถึงรถไฟสายตะวันออกด้วย ตามนโยบายที่จะให้ใช้สถานีกลางบางซื่ออย่างเต็มรูปแบบ และแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ

เสียงบ่นเซ็งแซ่ขึ้นมาทันที เพราะการเดินทางด้วยรถไฟที่เข้าในเมืองนั้นมันต้องลำบากขึ้นแน่นอน แถมทางรถไฟตัดตรงเข้ามาที่สามเสน รามาธิบดี ยมราช และหัวลำโพง เป็นอันที่จะต้องยุติบทบาททำให้คนที่ลงสถานีละแวกนั้นต้องคิดเรื่องการเดินทางใหม่ เพราะรถเมล์ก็ไม่มี รถไฟฟ้าก็มาไม่ถึง

ไม่นานนักก็มีเสียงสวรรค์ดังก้อง ราวกับหยาดฝนชโลมหัวใจว่า จะยังคงเหลือรถไฟเข้าหัวลำโพง 22 ขบวน เป็นรถไฟชานเมืองคนทำงานเที่ยวเช้าและเที่ยวเย็น ซึ่งแน่นอนว่ามันช่วยต่อชีวิตให้กับคนทำงานที่ใช้รถไฟชานเมืองในชีวิตประจำวัน เพราะประหยัดทั้งราคาและเวลา

หัวลำโพงได้ต่อลมหายใจออกไปอีกในฐานะสถานีรถไฟที่มีขบวนคนทำงานเข้ามาอยู่ ความเบาใจของประชาชนก็เกิดขึ้น ส่วนตัวอาคารสถานีที่ลดภารกิจลง ก็ใช้พื้นที่บางส่วนพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ เราชาวคนรักรถไฟรู้สึกดีใจกับทางออกนี้ และรู้สึกว่ามันคือความลงตัวที่สุด เพราะที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ทำให้หัวลำโพงยังมีชีวิตและรถไฟเข้ามาใช้บริการหรือมาถึงพิพิธภัณฑ์นั้น นับเป็นข่าวดีที่สุดที่เคยได้ยินมาในโมงยามแห่งความสับสนของข่าวสารมีอยู่เต็มโซเชียลเน็ตเวิร์ก

แต่แล้วในช่วงแห่งความสับสนนั้นก็มีข่าวเรื่องการปิดสถานีกลับมาอีกครั้งจนกลายเป็นกระแสที่ถือว่ากระเพื่อมแรงมากทีเดียว ซึ่งในที่สุดแล้วผู้เกี่ยวข้องก็ได้ตระเตรียมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้หัวลำโพงยังคงเป็นพื้นที่สำคัญของทุก ๆ คนอยู่

ในระยะนี้จะเห็นคนที่ไม่ค่อยได้ใช้รถไฟก็เข้ามาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกจนหนาตา ช่วงนี้หัวลำโพงจึงอบอุ่นและคึกคักเป็นพิเศษ ทั้งที่ก่อนหน้าเงียบงันจากช่วงโควิด-19

เราใช้เวลาในวันเสาร์นั่งอยู่ที่สถานีกรุงเทพเต็มวัน เพื่ออยู่กับเพื่อนเก่าแก่ของเราให้ได้นานที่สุด และเฝ้ามองช่วงชีวิตของเขาในหนึ่งวัน ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก เราเก็บรายละเอียดทั้งหมดในสถานีในวันนั้น เดินย่ำต๊อกไปบนชานชาลา ตามองเข้าไปผ่านกล้องถ่ายรูป บันทึกภาพให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วความทรงจำมันก็ Flashback เข้ามาเป็นฉาก ๆ

ความผูกพันของเรากับสถานีรถไฟนี้กินเวลายาวนานกว่าที่คิดไว้ซะอีก ก็คงเหมือนต้นไม้ที่หยั่งรากลึกลงไป ขุดเท่าไหร่ก็ไม่เจอปลาย แถมดึงต้นไม้นั้นออกมาก็ต้องใช้แรงมหาศาล

ไม่ใช่เพราะเราเป็นคนที่ชอบรถไฟ แต่เราเป็นคนใช้รถไฟมา 30 กว่าปีตั้งแต่ลืมตาดูโลก

ช่วงวัยเด็กของเรานั้น แม่เล่าให้ฟังว่าหลังจากคลอดเราไม่กี่เดือน แม่อุ้มเราขึ้นรถไฟจากสถานีกรุงเทพ ไปบ้านคุณยายที่พิจิตร ต่อมาก็กลายเป็นกิจวัตรประจำปีที่ต้องไปอยู่บ้านคุณยายในทุก ๆ ปิดเทอม การนั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปตะพานหินนั้น คือสิ่งที่เราปรารถนาและตั้งตารอทุกครั้งด้วยความตื่นเต้น วันก่อนเดินทางจะเป็นคืนที่เรานอนไม่หลับเลย ภาพรถไฟกับสถานีหัวลำโพงเวียนวนในหัวอยู่ตลอด หัวใจเต้นตึกตัก พอดึกเข้าไม่หลับไม่นอน พ่อกับแม่ก็จะท้าวเอววีนไล่ให้ไปนอนโดยทันที

เราจำได้ว่าการขึ้นรถไฟเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เป็นชาเลนจ์ของพ่อเรามากทีเดียว สองคนพ่อลูกเข้าไปรอรถไฟค่อย ๆ ไหลเข้ามาจอด ด้วยความนิยมเดินทางด้วยรถไฟนั้น ทำให้ทุกที่นั่งถูกจองเต็มหมด และมักไม่มีคนนั่งตามที่นั่งของตัวเอง สิ่งที่พ่อเราทำได้เพื่อให้ลูกรักได้มีที่นั่งคือ เมื่อรถไฟจอดสนิท พ่อจะจับเราอุ้มเข้าทางหน้าต่าง ให้จองที่ไว้ก่อนแล้วพ่อค่อยขึ้นตามมา และเมื่อถึงเวลารถไฟออก เราจะโผล่หัวน้อย ๆ หน้ากลม ๆ ออกไปนอกหน้าต่าง เพื่อดูรถไฟขบวนยาวค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากสถานี

นั่นคือความทรงจำในวัยเด็ก

โตมาหน่อยสักมัธยม ช่วง ม.ต้น คือไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้ไปที่สถานีรถไฟเลย เพราะยังไม่ปีกกล้าขาแข็งพอจะออกไปนั่งรถไฟคนเดียวได้ อิสระเสรีของเราเริ่มต้นขึ้นเมื่อมัธยมปลาย ที่เข้ามาสู่แวดวงรถไฟไทยอย่างเต็มตัว เมื่อโลกอินเทอร์เน็ตได้พัดพาเราไปอยู่ในกลุ่มคนรักรถในโลกออนไลน์ เราเริ่มขอที่บ้านเพื่อไปนั่งรถไฟเที่ยว ไกลที่สุดของเด็กวัยรุ่นอายุ 16 ตอนนั้นใน พ.ศ. 2546 คือการนั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปบางซื่อ นั่นคือไกลแล้วจริง ๆ นะ พอเริ่มกล้าหาญชาญชัยขึ้น ก็ต่อขยายออกไปเป็นดอนเมืองบ้าง รังสิตบ้าง อยุธยาบ้าง

การทัศนศึกษาหัวลำโพงเกิดขึ้นเพราะการนั่งรถไฟนี่แหละ กิจวัตรการเยือนหัวลำโพง คือการเข้าไปขอตารางรถไฟที่หน่วยบริการเดินทาง เดินถ่ายรูปในชานชาลา ดูรถไฟวิ่งเข้าออก สเก็ตช์ภาพรถไฟ และถ่ายรูปรถไฟไว้ทั้งวัน ไปโพสต์ในเว็บบอร์ดคนรักรถไฟ ตอนนั้นจำได้ว่าหัวลำโพงคือบ้านหลังที่ 3 รองมาจากบ้านตัวเอง ไอ้การไปทัศนศึกษาหัวลำโพงทำให้เราได้เปิดโลกแบบขั้นสุด เพราะไปเห็นป้ายชื่อหน้าสถานี แล้วก็ลองค้นหาข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติ จนได้ค้นพบว่า “สถานีหัวลำโพงที่เราเรียกกันมาตลอดนั้น จริง ๆ มันชื่อสถานีกรุงเทพ และก็เป็นคนละที่กับสถานีหัวลำโพง”

หลังจากย่อหน้านี้ไป เราขอเรียกสถานีกรุงเทพว่า ‘หัวลำโพง’ ก็แล้วกัน

ย่างเข้าสู่วัยมหาวิทยาลัย จำได้ว่าพอเอ็นทรานซ์ติด เราขอที่บ้านนั่งรถไฟไปขุนตานกับเพื่อน และแน่นอนว่าจุดเริ่มต้นคือสถานีกรุงเทพนี่แหละ ช่วงวัยนี้เราได้นั่งรถไฟมากขึ้น และทุก ๆ ครั้ง เราเลือกที่จะใช้หัวลำโพงเป็นต้นทางเสมอ แม้ว่าบ้านจะอยู่ใกล้สามเสนมากกว่า

เหตุผลในการเลือกนั้นไม่ได้มีอะไรเลย นอกจากอยากนั่งรถไฟที่ต้นทาง ความฮึกเหิมในการนั่งรถไฟที่เคลื่อนตัวออกจากสถานีสุดคลาสสิก และเป็นการนั่งรถไฟแบบ ‘เต็มสาย’ จริง ๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น รวมถึงการได้นั่งเฝ้าดูรถไฟขบวนแล้วขบวนเล่า วิ่งเข้า ๆ ออก ๆ ชานชาลาสถานีภายใต้หลังคาโค้งนั้น มันเป็นความสุขของเราที่ยากจะอธิบายได้ วัยขึ้นต้นด้วยเลข 2 ของเรามันขยับเข้าใกล้คำว่าผูกพันกับสถานีแล้วจริง ๆ จนเมื่อการฝึกงานเดินทางมาถึง เราเลือกโดยไม่ต้องคิดว่าจะใช้ชีวิต 3 เดือนฝึกงานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้ชิดรถไฟ และเริ่มต้นความฝันของเราที่จะได้ทำงานในหน่วยงานแห่งนี้

จากเด็กที่แวะเวียนมาสถานี สู่การเริ่มต้น ‘ฝึกงาน’ อย่างเป็นทางการกับการรถไฟฯ เราเลือกงานที่หน่วยบริการเดินทาง จุดสำคัญในสถานี จุดที่ใครต่อใครหากไม่รู้จะไปไหน ไม่รู้เวลารถ จะต้องมุ่งหน้าเข้ามาถามไถ่ข้อมูล เราเรียนรู้กับระบบของการรถไฟ เรียนรู้กับข้อมูลรถไฟที่ต้องตอบคำถามในแต่ละวัน จนค่อย ๆ ซึมซับเอารถไฟเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต นั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นจริง ๆ ของการหลงรักรถไฟไทย และได้จุดประกายการไปแข่งขันรายการ แฟนพันธุ์แท้ รถไฟไทยในเวลาต่อมา

การฝึกงานที่ดุเดือดเลือดพล่านในหัวลำโพงคือประสบการณ์ชีวิตที่สำคัญ ช่วงสงกรานต์ที่มวลมหาประชาชนทะลักล้นไปทั่วบริเวณ เราได้ฝึกการรับมือช่วงเทศกาล ฝึกความอดทน เรียนรู้ส่วนต่าง ๆ ในสถานี เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนให้มากที่สุด เหนื่อยแต่หัวใจพองโต จนในที่สุดช่วงเวลา 3 เดือนของการฝึกงานก็สิ้นสุดลง เรากลับไปใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง และตั้งตารอว่าในวันสำเร็จการศึกษา เราจะได้ทำงานในการรถไฟอย่างที่ฝันไว้ตั้งแต่วัยเด็ก

รูปถ่ายตอนสมัยเราฝึกงานที่หัวลำโพง

ในรอบออดิชันของรายการนั้น เราต้องเล่าเรื่องความชอบในรถไฟไทยให้กับกรรมการฟังในเวลาเพียง 2 นาที เพื่อเขาจะได้ตัดสินว่าเราเหมาะสมจะก้าวเข้าไปสู่รอบต่อไปหรือเปล่า และเพื่อเป็นการประกอบข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกันของรายการ กรรมการต้องถามคำถามเราเพิ่ม และมีกรรมการหนึ่งท่านถามเราว่า “เรื่องเกี่ยวกับรถไฟไทยอะไรที่คุณอยากเล่าแล้วคิดว่าว้าวที่สุด”

ในหัวตอนนั้นตีกันอยู่ 2 เรื่อง

โบกี้ไม่ใช่ตู้รถไฟ สถานีกรุงเทพไม่ใช่หัวลำโพง

เราเลือก ‘สถานีกรุงเทพไม่ใช่หัวลำโพง’ เพราะเป็นเรื่องที่คนทุกคนเข้าถึงได้มากที่สุด และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่เคยรู้เรื่องนี้ แน่นอน มันทำงานได้ดีมาก ความว้าวเกิดขึ้นจนเราสัมผัสได้ แม้ว่าเราจะรู้อยู่ลึก ๆ ว่า ยังไงชื่อของ หัวลำโพง ก็เป็นที่แพร่หลายมากกว่า สถานีกรุงเทพ อยู่แล้ว ซึ่งเราคงเปลี่ยนการเรียกไม่ได้อยู่แล้ว เพราะหลาย ๆ ครั้งเราก็เรียกชื่อสถานีกรุงเทพว่าหัวลำโพง แต่เราคิดว่ามันคือเรื่องเล่าที่น่าสนใจ

วัยทำงานของเรา หัวลำโพงเป็นสถานีปลายทางในช่วงเช้าและต้นทางในช่วงเย็น สถานีที่เป็นเหมือนกับที่ทำงานและที่พักผ่อนแบบ 2 in 1

34 ปีที่เราเป็นส่วนหนึ่งของหัวลำโพง และหัวลำโพงเป็นส่วนหนึ่งของเรา มันค่อย ๆ ไต่ระดับจากสถานีรถไฟที่พาเราไปบ้านยายในวัยเด็ก สนามเด็กเล่นให้เรียนรู้ตอนวัยเรียน สถานที่ฝึกงานวัยมหาวิทยาลัย และสถานีที่เป็นชีวิตประจำวันในวัยทำงาน

มันทำให้เรารู้สึกรักและผูกพันกับที่นี่ไม่น้อยไปกว่าใคร ลึก ๆ แล้วเราเสียดายถ้าที่นี่ต้องปิดตัวลง สถานีนี้อาจจะไม่ได้เป็นความทรงจำหรือส่วนหนึ่งของชีวิตกับทุกคน แต่มันก็ยังเป็นสถานที่ที่ใครจะเริ่มต้นนั่งรถไฟก็ต้องนึกถึง หรือแม้อีกหลากหลายเหตุการณ์และความทรงจำเกิดขึ้นที่นี่ และยังคงจำมันได้ชัดเจน

รถจักรไอน้ำขบวนพิเศษที่พ่นไอน้ำสีขาว และฉากหลังคือหลังคาโค้งของสถานีรถไฟ พร้อมหมู่คนที่ถือกล้องเพื่อถ่ายรูปขบวนคุณทวดท่าทางขึงขังที่ค่อย ๆ แผดเสียง พ่นไอน้ำ และเคลื่อนตัวออกจากสถานีซึ่งไม่มีที่ไหนเหมาะไปกว่าที่นี่อีกแล้ว

เสียงบูม เชียร์ สันทนาการของขบวนรับน้องรถไฟมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เรียกได้ว่าเป็นประเพณีมาร่วมครึ่งศตวรรษ การเริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่จากกระโปรงบานขาสั้นเป็นวัยมหาวิทยาลัยของใครหลาย ๆ คน เริ่มต้นที่นี่

ความตื่นเต้นของการเริ่มต้นเดินทางไปเที่ยว แวะถ่ายรูปก่อนขึ้นสถานีรถไฟ โพสต์ลงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ก็มีแต่รูปหัวลำโพงนี่แหละที่บอกได้โดยไม่ต้องมีรูปตู้รถไฟเลยว่า “ฉันจะนั่งรถไฟไปเที่ยวแล้วนะ”

ร้านอาหารหลากหลายรอบข้างสถานีรถไฟที่ฝากท้องได้ระหว่างวัน ก่อนจะไปเดินเที่ยวเยาวราช ตลาดน้อย สี่พระยา

อำลาอาลัย ‘หัวลำโพง’ ความในใจจากแฟนพันธ์ุแท้รถไฟไทย ตัวแทนชาวไทยที่ผูกพันกับสถานีรถไฟกรุงเทพ
ในแต่ละวันมีหลายพันชีวิตแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย ชีวิตของสถานีรถไฟก็คือการที่ยังมีคนและขบวนรถไฟเดินทางเข้ามาถึง ไม่ใช่แค่คนเดินทางรถไฟเท่านั้นที่มีบทบาทร่วมกับที่นี่ ความสำคัญของหัวลำโพงมันมีค่ามากกว่าการเป็นสถานีรถไฟ แต่ยังรวมถึงชุมชน ร้านค้า ร้านอาหาร หรือแม้แต่โรงแรมที่อยู่รายล้อมสถานีรถไฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นที่รู้จักมากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง

ในหลาย ๆ เมือง สถานีรถไฟหลักดั้งเดิมล้วนแล้วแต่อยู่ในเมืองทั้งสิ้น แม้ว่าการขยับขยายสถานีหลักออกไปเพื่อรองรับปริมาณขบวนรถไฟที่เพิ่มมากขึ้นจนทำให้เกิดการลดบทบาทของสถานีเดิม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสถานีเก่ากลางเมืองจะยุติบทบาทเพียงแค่มีสถานีใหม่เกิดขึ้น หากแต่การเชื่อมโยงของสถานีใหม่และเก่านั้นจะถูกวางระบบการเชื่อมต่อด้วยรถไฟเดิมนี่แหละ แค่ลดปริมาณเที่ยวรถแต่ไม่ตัดขาด พร้อมเพิ่มตัวเลือกการเดินทางอื่น ๆ เข้ามา เช่น รถเมล์ หรือรถไฟเมโทร ที่เชื่อมโยงให้สถานีเก่าและใหม่เดินทางไปสู่ส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ ไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะเขายังมองว่า ‘ใจกลางเมืองคือพื้นที่สำคัญ’ ที่คนต้องเดินทางได้อย่างสะดวกที่สุด

สำหรับหัวลำโพง ที่นี่เป็น iconic ของรถไฟไปแล้ว การลดบทบาทของสถานีอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าท้าทาย เราไม่คัดค้านในการพัฒนา เราไม่คัดค้านในการปรับเปลี่ยนให้สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีหลัก แต่สำหรับหัวลำโพงนั้นเราอยากเห็นเขายังคงทำหน้าที่เป็นสถานีรถไฟในเมืองที่ทำหน้าที่รับช่วงต่อจากสถานีหลักแห่งใหม่ เชื่อมจุดใจกลางเมืองกับสถานีใหม่ได้อย่างสะดวกด้วยเวลาและราคาที่สมเหตุสมผล และพื้นที่สำคัญของเมืองที่อยู่ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ ศูนย์แสดงศิลปะ ย่านการค้าของชุมชน Co-working space และพื้นที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยธรรมชาติท่ามตึกของเมืองหลวงที่ทำให้เราได้เลือกที่จะใช้ชีวิตได้ในย่านที่เรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดการเดินทางของประเทศ

เพราะหัวลำโพงไม่ใช่แค่สถานีรถไฟ แต่เป็นผู้คน และพื้นที่ที่เรามีความทรงจำร่วมกัน

ธงสีเขียวโบกสะบัดบนชานชาลาและบนขบวนรถ เสียงหวีดรถไฟดังขึ้น ล้อเหล็กค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากร่มเงาของหลังโค้งใหญ่โต ขบวนรถไฟค่อย ๆ เลื่อนห่างจากเราออกไปทีละนิด ๆ จนลับสายตา

เรายังนึกไม่ออกเลยว่า วันที่รถไฟขบวนสุดท้ายเคลื่อนออกจากสถานี เราจะเสียน้ำตาแค่ไหน เราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าในวันนั้นจะรู้สึกยังไง และไม่อยากให้ถึงวันนั้นจริง ๆ มันคงเจ็บปวดไม่น้อยกับภาพที่เห็นและความรู้สึกที่ถาโถมเข้ามา เก้าอี้ที่เคยมีคนนั่งเต็มต้องว่างเปล่า ชานชาลาที่มีรถไฟจอดก็เงียบเชียบ สถานีที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนก็เหงาหงอย หรือแม้แต่รอบนอกที่เคยเต็มไปด้วยผู้คนซึ่งมุ่งหน้าเข้ามาในสถานี อาจจะเหลือเพียงแค่คนที่เดินผ่านไป แล้วแค่ยกกล้องถ่ายรูปเฉย ๆ เท่านั้น

ความสุขมันอยู่กับเราไม่นาน เท้าเราก้าวออกจากสถานี เดินออกมาด้านหน้า มองย้อนหลังกลับไปดูอาคารที่เปิดไฟส่องสว่าง สร้างความโดดเด่นท่ามกลางตึกรามบ้านช่อง ที่รายล้อมใต้ท้องฟ้ายามสนธยา

ขอบคุณนะ ที่เป็นความทรงจำที่ดีของเรา เราจะไม่ลืมเธอในฐานะสถานีรถไฟที่ยิ่งใหญ่อีกเลย

แด่หัวลำโพง เพื่อน… ที่ระลึก

สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เลขที่ 1 ถ.รองเมือง แขวงรองเมือง
เขตปทุมวัน กทม.10330

Share