สินค้าแนะนำ

พาเที่ยวพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี

พาเที่ยวพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2209 บนพื้นที่ 41 ไร่ ณ เมืองลพบุรี เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง พระองค์ทรงประทับ ณ พระราชวัง 8-9 เดือนในช่วงปลายรัชกาลและเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2231ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระนารายณ์ราชนิเวศน์ถูกทิ้งร้าง จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้บูรณะพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2399 และพระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่พระที่นั่งจันทรพิศาลในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2467 เรียกว่า ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน และในปี พ.ศ. 2504 จึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ ปัจจุบันได้จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุตามอาคารและพระที่นั่งต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นจำนวนกว่า 1,864 รายการ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วนคือ

1.เขตพระราชฐานชั้นนอก

ประกอบด้วยอาคารเก่าโบราณ ที่สร้าง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้แก่
– อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก จากบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่าระบบการจ่ายทดน้ำเป็นผลงานของชาวฝรั่งเศส และอิตาลี น้ำที่เก็บในถังเป็นน้ำที่ไหลมาจากอ่างซับเหล็ก
– สิบสองท้องพระคลัง สันนิษฐานว่าเป็นคลังเก็บสินค้าหรือเก็บสิ่งของเพื่อใช้ในราชการเลี้ยงตึก แขกเมือง ใช้เป็นสถานที่พระราชทานเลี้ยง บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่ามีคูน้ำล้อมรอบตึก ภายในมีคูน้ำมีสายน้ำพุขึ้น มาเหมือนจากฝักบัวรดน้ำ
– ตึกพระเจ้าเหาสันนิษฐานว่าคงเป็นหอพระประจำพระราชวังและมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในตึก ซึ่งอาจชื่อว่าพระเจ้าเหา
– ตึกรับรองคณะทูตต่างประเทศตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยาน ซึ่งแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส รอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบ ภายในคูน้ำมีน้ำพุพุ่งเรียงรายได้ระยะยาว 20แห่ง สมเด็จพระนารายณ์ฯได้ พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากประเทศฝรั่งเศส ณ สถานที่นี้ใน พ.ศ.2228 และ พ.ศ2230
-โรงช้างหลวง มีทั้งหมด 10 โรงด้วยกันและช้างที่ยืนโรงอยู่คงเป็นช้างทรงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหรือเจ้านาย

ตึกสิบสองท้องพระคลัง

  1. เขตพระราชฐานชั้นกลาง
    มีพระที่นั่งที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 2 องค์และสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แก่

พระที่นั่งพิมานมงกุฎ

พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน สำหรับเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ จัดแสดงหลักฐานโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่พบจากแหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแหล่งโบราณคดีจังหวัดลพบุรี โครงกระดูกมนุษย์ภาชนะดินเผาเตาดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากโลหะ ภาชนะสำริด เครื่องประดับทำจากหินและเปลือกหอย เป็นต้น

ชั้นที่ 1

อารยธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 700 – 1400 จำแนกเป็นเรื่องเมืองและการตั้งถิ่นฐาน และการดำรงชีวิต อักษร-ภาษา ศาสนสถาน ศาสนาและความเชื่อ จากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุแบบทวารวดีที่พบในจังหวัดลพบุรี โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ รูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เหรียญ ตราประทับ จารึก ฯลฯ

ชั้นที่ 2

จัดแสดงนิทรรศการถาวร 4 เรื่อง คือ เรื่องประวัติศาสตร์และศิลปกรรมภาคกลางของประเทศไทย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 หรือสมัยอิทธิพลศิลปะเขมร โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ ทับหลัง พระพุทธรูปนาคปรก และเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย จัดแสดงศิลปกรรมแบบต่างๆ ที่พบในภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา คือ ศิลปะแบบลพบุรี ศิลปะสุโขทัย ศิลปะบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ประเทศไทย (ศิลปะศรีวิชัย) ศิลปะทางภาคเหนือศิลปะล้านนาและศิลปะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นต้น การแสดงเครื่องถ้วยที่พบในประเทศไทย จัดแสดงเครื่องถ้วยแบบต่างๆ ทั้งที่ผลิตในประเทศไทย และศิลปโบราณวัตถุ พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา (ศิลปกรมอยุธยา-รัตนโกสินทร์) โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระพุทธรูป บานประตูไม้แกะสลัก ชิ้นส่วนปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรม เหรียญตรา ผ้า เครื่องเงิน-ทอง เครื่องถ้วย ฯลฯ

ชั้นที่ 3

แต่เดิมเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 4 คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้องดังกล่าวจัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ ฉลองพระองค์ ภาพพระสาทิสลักษณ์ แท่นบรรทม เหรียญ เครื่องแก้ว และจานชามมีสัญลักษณ์รูปมงกุฎ

พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นท้องพระโรงสำหรับประชุมเสนาบดีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีห้องจัดแสดง 2 ห้อง คือเรื่องประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดแสดงภาพประวัติศาสตร์ที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ ที่ชาวต่างประเทศได้วาดไว้ และโบราณวัตถุที่มีอายุในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมไปถึงการติดต่อกับชาติตะวันตก เช่น ฮอลันดา โปรตุเกส ในสมัยนั้นเป็นต้น เรื่องศาสนวัตถุต่างๆ ในพุทธศตวรรษที่ 19 – 24 (สมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์) จัดแสดงตู้พระธรรม ธรรมาสน์ ตาลปัตร สมุดไทย

3.เขตพระราชฐานใน
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระที่นั่งเพียงพระองค์เดียว
– พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นพระที่นั่งที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระองค์ทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2231
– หมู่ตึกพระประเทียบ สร้างในสมัยรัชกาลที 4 เป็นที่พักของข้าราชบริภารฝ่ายใน มีทั้งหมด 8 หลัง

นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ยังมีบ้านตึกเขียว หรือ สำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเคยเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดหลังแรกของลพบุรี เป็นสถานที่เก็บหนังสือจินดามณี เล่มที่ 2 ไว้ให้ชมกันด้วย ส่วนเล่มแรกเก็บไว้ที่จดหมายเหตุ รวมถึงร้านกาแฟที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าพระนารายณ์ราชนิเวศน์ให้บริการด้วย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
ที่ตั้ง : เขตตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

พิพิธภัณฑ์ในส่วนจัดแสดงวัตถุ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 8.30-16.00 น. ในส่วนของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานด้านนอก ปิด 18.00 น.

หยุดวันจันทร์-วันอังคารและวันหยุนักขัตฤกษ์

เสียค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท
ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ถนนสรศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี 15000

Share