สินค้าแนะนำ

พาเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ซุ้มต้นลีลาวดี โบราณสถานวัดน้อย

พาเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ซุ้มต้นลีลาวดี โบราณสถานวัดน้อย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ตั้งอยู่ใจกลางเมืองน่านใกล้กับวัดภูมินทร์ เป็นอาคารแบบยุโรปซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองน่าน เดิมเป็น หอคำ ซึ่งเป็นที่ประทับและที่ว่าราชการของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2475 ใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดแห่งแรกของจังหวัดน่าน ต่อมาใน พ.ศ. 2517 และประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นในปี พ.ศ. 2528 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2530

ลักษณะการจัดพิพิธภัณฑ์จะใช้แสงธรรมชาติเข้าช่วย ตัวอาคารโปร่งมีหน้าต่างโดยรอบ ผู้มาเที่ยวจะรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในบ้านมากกว่าพิพิธภัณฑ์ ทำให้เพลิดเพลินในการเดินชมสิ่งของที่จัดแสดง
ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน รวมทั้งเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัด เช่น การสืบชะตา การแข่งเรือ ส่วนชั้นบนจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดน่าน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคเจ้าผู้ครองนครน่าน

สิ่งของในพิพิธภัณฑ์ชิ้นที่สำคัญ ได้แก่ งาช้างดำ วัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน สมบัติของเจ้าผู้ครองนครเมืองน่านรักษาสืบต่อกันมาหลายชั่วคน เป็นงาช้างข้างซ้าย ยาว 94 เซนติเมตร วัดโดยรอบส่วนที่ใหญ่สุดได้ 47 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 18 กิโลกรัม ได้มาในสมัยพระยาการเมืองเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 5 ส่วนครุฑที่แบกรับงา ทำจากไม้สักทั้งท่อน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2469

เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 จากเตาเผาบ่อสวก ตำบลสวก อำเภอเมือง น่าน สิ่งของชิ้นที่สำคัญจะจัดแสดงให้ห้องกระจก สามารถมองเห็นได้จากด้านนอก

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 25 พานพระศรีเครื่องเงินลงยา ซึ่งเป็นเครื่องประกอบอิสริยยศของ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย

โบราณสถานวัดน้อย หรือ วัดน้อย เป็นวัดขนาดเล็กที่สุดในจังหวัดน่าน ตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ใต้ต้นโพธิ์ มีตำนานเล่าขานกันมาว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 ได้กราบบังคมทูลถึงจำนวนวัดในเมืองน่านต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่ปรากฏว่านับจำนวนเกินไป 1 วัด จึงได้สร้างวัดน้อยแห่งนี้ โดยให้ช่างพื้นเมืองน่านก่อสร้างวัดตรงโคนต้นโพธิ์หน้าหอคำหรือวังที่พระองค์ประทับ (หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองน่าน ในปัจจุบัน) ขึ้นมาเพื่อให้ครบตามจำนวนที่กราบทูล พระองค์เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 5 เพียงครั้งเดียวใน พ.ศ. 2416 วัดน้อยคงสร้างหลังจากนั้น

รูปทรงของวัด เป็นวิหารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 1.98 เมตร ยาว 2.34 เมตร สูง 3.35 เมตร แบบศิลปะล้านนา สกุลช่างน่าน มีพระพุทธรูปและแผงพระพิมพ์ไม้ประดิษฐานอยู่ภายในวัดน้อยแห่งนี้ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงให้วัดน้อยเป็นอันซีนไทยแลนด์ (Unseen Thailand) ด้วย

ซุ้มต้นลีลาวดี หรือต้นลั่นทม บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ที่ขึ้นเป็นแถวเรียงราย 2 ข้างทางเดิน แผ่ขยายกิ่งก้านโค้งเข้าหากัน ดูคล้ายอุโมงค์ต้นไม้ เหมาะอย่างยิ่งที่จะมาพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยเดินเล่นชมบรรยายากาศที่ร่มรื่น และการเก็บภาพสวยๆ

บริเวณกลางเมืองน่านมีวัด และ สถานที่สำคัญอยู่ใกล้กันหลายแห่งที่สามารถเดินถึงกันได้ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน วัดภูมินทร์ วัดหัวข่วง และ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ควรจัดโปรแกรมเที่ยวเข้าด้วยกันจะได้ไม่เสียเวลา

บริเวณกลางเมืองน่านมีวัด และ สถานที่สำคัญอยู่ใกล้กันหลายแห่งที่สามารถเดินถึงกันได้ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน วัดภูมินทร์ วัดหัวข่วง และ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ควรจัดโปรแกรมเที่ยวเข้าด้วยกันจะได้ไม่เสียเวลา

การเข้าชม
เวลาทำการ : วันพุธ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00– 16.00 น. (ปิดวันจันทร์และอังคาร)
ช่วงเวลาเที่ยว : ตลอดทั้งปี
ค่าเข้าชม
ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท
ผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าเข้าชม

นักเรียน/นักศึกษา ในเครื่องแบบหรือแสดงบัตรนักศึกษา
พระภิกษุสงฆ์ ผู้ทรงศีลทุกศาสนา
ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ที่ตั้ง – พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ซุ้มต้นลีลาวดี โบราณสถานวัดน้อย
ที่อยู่ :ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน 55000

รถยนต์ : ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านจังหวัดแพร่เข้าสู่ตัวเมืองน่าน วัดตั้งอยู่ติดกับข่วงเมืองน่าน บริเวณสี่แยกถนนสุริยพงษ์และถนนผากอง ตรงข้ามวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

Share