พุทธสุวรรณเจดีย์หรือเจดีย์ชเวดากอง วัดสุวรรณคีรี สิ่งน่าสนใจแห่งใหม่ใน จ.ระนอง
ชื่อนี้อาจไม่เป็นที่คุ้นหูเท่ากับชื่อ“คอคอดกระ”
ทั้งๆที่กระบุรีเป็นอำเภอจุดที่ตั้งสำคัญของคอคอดกระอันลือลั่น
กระบุรี เป็นเมืองเก่าแก่มีหลักฐานการตั้งเมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมมีชื่อเรียกขานว่า “เมืองตระ”
ป้ายแสดงข้อมูลคอคอดกระ ที่จุดท่องเที่ยวคอคอดกระ อ.กระบุรี จ.ระนอง
ปัจจุบันกระบุรีเป็นอำเภอแรกสุดของจังหวัดระนอง (อยู่เหนือสุดของระนอง เมื่อเดินทางจากกรุงเทพฯ ผ่านชุมพร จะเข้าสู่จังหวัดระนองที่ อ.กระบุรี) ได้ชื่อว่าเป็นประตูบานแรกสู่ระนอง
นอกจากนี้กระบุรียังเป็นอำเภอที่มียุทธศาสตร์สำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นที่ตั้งของ“คอคอดกระ” ซึ่งเราๆท่านๆต่างคุ้นเคยกับชื่อนี้มาเป็นอย่างดี เพราะมีสอนไว้ในตำราเรียนมาตั้งแต่เด็กถึงความสำคัญของคอคอดกระ ที่ถือเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คอคอดกระ หรือ กิ่วกระ เป็นส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู ตั้งอยู่ในเขตบ้านทับหลี ต.มะมุ อ.กระบุรี จ.ระนอง(กับพื้นที่ของ จ.ชุมพร) มีความกว้าง(หรือความแคบ) 50 กม.(บางข้อมูลระบุว่าแคบเพียง 44 กม.)
คอคอดกระถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งเป็นเส้นทางการสู้รบ เส้นทางลำเลียงสินค้าเชื่อมฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย และที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้มีการ“ขุดคอคอดกระ” หรือ“ขุดคลอง” ตัดผ่านพื้นที่ส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู เพื่อเชื่อมเส้นทางเดินเรือระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย
เรื่องขุดคอคอดกระนี้มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่เพียงเป็นประเด็นถกเถียงกันมายาวนานนับจากอดีตถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังคงจะเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันต่อไปในอนาคตอีกด้วย
แม่น้ำกระบุรี ไหลแบ่งเขตแดนไทย-พม่า ที่บริเวณจุดท่องเที่ยวคอคอดกระ
สำหรับพื้นที่จุดท่องเที่ยวคอคอดกระใน อ.กระบุรี จ.ระนอง เป็นพื้นที่พรหมแดนรอยต่อไทย-พม่า(เมียนมาร์)ฝั่งตะวันตก มีแม่น้ำกระบุรีไหลแบ่งแยกพรหมแดนระหว่าง 2 ประเทศ และไหลมาออกทะเลฝั่งอันดามันในบริเวณนี้
บริเวณจุดท่องเที่ยวคอคอดกระ อ.กระบุรี มีการสร้างแผ่นป้ายคอนกรีตขนาดย่อมเอาไว้(ริมถนน) พร้อมกับแผนที่และข้อมูลเบื้องต้นบอกเล่าข้อมูลของคอคอดกระ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดที่มีแลนมาร์คสำคัญของระนองที่มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาถ่ายรูปคู่กับคอคอดกระกันเป็นจำนวนมาก
ขณะที่หลังแผ่นป้ายคอคอดกระเมื่อเดินลงไปก็จะเป็นจุดชมวิวแม่น้ำกระบุรีและทิวทัศน์ของประเทศเมียนมาร์ที่มีแนวเทือกเขาตะนาวศรีเป็นฉากหลังอันน่ายลไม่น้อย
บ้านทับหลี แหล่งขายซาลาเปาทับหลีอันเลื่องชื่อ
นอกจากคอคอดกระแล้ว ใน อ.กระบุรี ยังมีของดีและสิ่งน่าสนใจต่างๆชวนให้ไปสัมผัส อาทิ “ศิลาจารึกสลักพระปรมาภิไธย จปร.”(หินสลัก จปร.) “ถ้ำพระขยางค์” “น้ำตกบกกราย” “น้ำตกชุมแสง” “อันดามันเกตเวย์” รวมไปถึงของกินต้องห้ามพลาดของผู้ที่มาเยือนระนอง นั่นก็คือ“ซาลาเปาทับหลี”อันโด่งดัง ซึ่งมีซาลาเปาที่ใช้ชื่อว่าซาลาเปาทับหลีวางขายกันอยู่ทั่วไปในหลายจังหวัดด้วยกัน
ซาลาเปาทับหลี ซาลาเปาชื่อดังของเมืองระนอง
ซาลาเปาทับหลี เป็นซาลาเปาที่มีต้นกำเนิดจากบ้านทับหลี ต.มะมุ อ.กระบุรี ซึ่งชาวบ้านที่นี่ได้สืบทอดภูมิปัญญาการทำซาลาเปาจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 60 ปี
ซาลาเปาไส้หมูสับที่เป็นไส้ต้นตำรับ
ซาลาเปาทับหลีมีจุดเด่นที่แป้งเหนียว นุ่ม อร่อย และแป้งไม่หนา ส่วนไส้นั้น ต้นฉบับคือไส้หมูสับ แต่ว่าปัจจุบันมีไส้หลากหลายให้เลือกอร่อย ซึ่งหากใครผ่านไปที่บ้านทับหลีก็จะพบเห็นร้านซาลาเปาและแผงซาลาเปาวางขายอยู่ทั่วไป รสชาตินั้นก็ชวนกินใกล้เคียงกัน ส่วนสนนราคานั้นอยู่ที่ลูกละ 6-8 บาท นอกจากนี้ก็ยังมีขนมจีบให้เลือกอร่อยลิ้นกันอีกด้วย
นอกจากซาลาเปาแล้วที่บ้านทับหลียังมีขนบจีบให้เลือกอิ่มอร่อย
พุทธสุวรรณเจดีย์
อ.กระบุรี ถือเป็นทางผ่านสำคัญ(ทางรถยนต์)จากชุมพรสู่จังหวัดระนอง เวลาผมเดินทางมาระนองทางรถยนต์ มักจะแวะที่ อ.กระบุรี เพื่อซื้อซาลาเปาทับหลีกินอยู่เสมอ เพราะไม่ว่าจะกินซาลาเปาทับหลีที่ไหนๆ(ในจังหวัดอื่น) มันก็ไม่ได้อรรถรสเท่ากับการกินซาลาเปาทับหลีที่บ้านทับหลีที่เป็นจุดกำเนิดและเป็นต้นตำรับ
พุทธสุวรรณเจดีย์หรือเจดีย์ชเวดากอง แห่งวัดสุวรรณคีรี
สำหรับการกลับไปเยือนกระบุรีหนล่าสุดนี้ นอกจากจะไปแวะกินซาลาเปาทับหลีแล้ว ผมยังมีโอกาสได้ไปสัมผัสกับ 2 สีสันใหม่ของ อ.กระบุรี เริ่มจากสถานที่แรกคือ“พุทธสุวรรณเจดีย์” ที่ตั้งอยู่ที่“วัดสุวรรณคีรี” ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับบ้านทับหลี แหล่งซาลาเปาอร่อย
วัดสุวรรณคีรี หรือ “วัดปากจั่น” เป็นวัดเก่าแก่ที่วันนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างพุทธสุวรรณเจดีย์หรือ“เจดีย์ชเวดากอง” ที่จำลองแบบมาจาก“มหาเจดีย์ชเวดากอง” เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพุทธสถานอันเลื่องชื่อระดับโลก
สำหรับการกลับไปเยือนกระบุรีหนล่าสุดนี้ นอกจากจะไปแวะกินซาลาเปาทับหลีแล้ว ผมยังมีโอกาสได้ไปสัมผัสกับ 2 สีสันใหม่ของ อ.กระบุรี เริ่มจากสถานที่แรกคือ“พุทธสุวรรณเจดีย์” ที่ตั้งอยู่ที่“วัดสุวรรณคีรี” ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับบ้านทับหลี แหล่งซาลาเปาอร่อย
วัดสุวรรณคีรี หรือ “วัดปากจั่น” เป็นวัดเก่าแก่ที่วันนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างพุทธสุวรรณเจดีย์หรือ“เจดีย์ชเวดากอง” ที่จำลองแบบมาจาก“มหาเจดีย์ชเวดากอง” เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพุทธสถานอันเลื่องชื่อระดับโลก
เส้นสายลวดลายแห่งพุทธสุวรรณเจดีย์
พุทธสุวรรณเจดีย์ เริ่มก่อสร้างวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2553 วันนี้ผ่านมา 6 ปีแล้ว งานทั้งหมดสำเร็จไปกว่า 80% โดยส่วนองค์พุทธสุวรรณเจดีย์นั้นสามารถสร้างออกมาได้อย่างสวยงาม
หลวงพ่อปัญญาได้บอกกับผมว่า ท่านไม่ได้จบด้านสถาปัตย์หรือด้านการก่อสร้างใดๆ แต่ท่านโชคดีที่ได้แบบแปลนมหาเจดีย์ชเวดากองที่มีไม่กี่เล่มในพม่า ท่านจึงนำมาเป็นต้นแบบในการการก่อสร้างเจดีย์ชเวดากององค์นี้ ซึ่งเท่าที่ผมเคยเห็นเจดีย์ชวดากองจำลองต่างๆในบ้านเรา พุทธสุวรรณเจดีย์สามารถจำลองแบบจากพระมหาเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง ออกมาได้เหมือนต้นฉบับมากที่สุด
อย่างไรก็ดีพุทธสุวรรณเจดีย์องค์นี้ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งท่านหลวงพ่อปัญญาได้นำงานศิลปะไทย ลวดลายไทยเข้ามาผสมผสานในเจดีย์แห่งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับพม่า และแสดงให้เห็นความศรัทธาของทั้งคนไทยและพม่าที่ร่วมกันก่อสร้างเจดีย์แห่งนี้ขึ้นมา
“แรกที่เริ่มลงมือก่อสร้างเจดีย์องค์นี้ที่ตั้งอยู่บนเนินเขา ถนนหนทางยังไม่มี ชาวบ้าน(ทั้งไทย-พม่า) ต้องช่วยกันขนของ แบก อิฐ หิน ปูน ทราย แบกหามเดินกันขึ้นมาอย่างยากลำบาก แต่ด้วยจิตศรัทธาที่แรงกล้า ก็ทำให้พุทธสุวรรณเจดีย์มีวันนี้” หลวงพ่อปัญญาบอกกับผม
สักการะเทพทันใจที่อยู่ในศาลาใกล้ๆกับพุทธสุวรรณเจดีย์
นอกจากพุทธสุวรรณเจดีย์ที่ก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จแล้ว บริเวณข้างๆองค์เจดีย์ยังมีศาลาบูชาองค์ “เทพกระซิบ”(เป็นผู้หญิง) และ“เทพทันใจ”ที่อยู่ใกล้ๆกัน ซึ่งชาวบ้านบอกว่าเทพทั้งสองล้วนต่างขึ้นชื่อในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปที่จำลองแบบมาจาก“พระมหามัยมุนี” แห่งเมืองมัณฑะเลย์ของพม่าให้สักการะกันในศาลาแห่งนี้อีกด้วย
สำหรับใครที่ผ่านไปยัง อ.กระบุรี หรือไปซื้อซาลาเปาทับหลี ก็สามารถไปแวะสักการะ พุทธสุวรรณเจดีย์ ทำบุญ ไหว้พระ ไหว้เทพ ที่วัดสุวรรณคีรี กันได้ ซึ่งหากพุทธสุวรรณเจดีย์หรือเจดีย์ชเวดากองจำลององค์นี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ นี่จะเป็นสิ่งน่าสนใจใหม่ใน อ.กระบุรี และในจังหวัดระนองที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
ล่องแพ แลเมียนมาร์
ล่องแพ แม่น้ำกระบุรี กิจกรรมท่องเที่ยวใหม่ในระนอง
จากพุทธสุวรรณเจดีย์ ผมไปเปิดประสบการณ์ใหม่ใน อ.กระบุรีกับกิจกรรม “ล่องแพ แลวิถีไทย-เมียนมาร์” ท่องลำน้ำกระบุรี ที่บ้านปากจั่น สัมผัสกับบรรยากาศของแมกไม้ขุนเขาสายน้ำอันชุมฉ่ำสวยงาม ที่สำคัญคือนี่เป็นการล่องแพเลาะเลียบตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ไปตามลำน้ำกระบุรีที่น่าสนใจยิ่ง
ล่องแพ แลวิถีไทย-เมียนมาร์ เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวใหม่ใน อ.กระบุรี ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน(ประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา) กิจกรรมนี้เกิดจากการที่ชาวชุมชนบ้านปากจั่นได้เล็งเห็นในศักยภาพของดีชุมชน ที่มีพื้นที่สวยงาม มีแม่น้ำกระบุรีไหลเลาะเลียบแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์อยู่ตลอดทั้งปี ท่ามกลางบรรยากาศแวดล้อมอันสวยงามน่ายล
ชาวบ้านบ่างกลุ่มของที่นี่จึงได้ริเริ่มจัดกิจกรรมล่องแพขึ้นมา โดยมีการประสานเรื่องความปลอดภัยระหว่างท้องถิ่น และมีพี่ๆตชด.ในพื้นที่คอยดูแลด้านความปลอดภัยอีกทางหนึ่ง
ล่องแพ ฟินไปกับแพมีหลังคา
สำหรับกิจกรรมล่องแพท่องลำน้ำกระบุรีในทริปนี้ ผมกับเพื่อนๆใช้บริการล่องแพของกลุ่ม “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตำบลปากจั่น” ที่มีแพไม้ไผ่มุงหลังคำอันแสนกิ๊บเก๋ แถมมีติดเครื่องมีหางเสือบังคับด้วย ซึ่งเอาไว้ใช้กรณีที่ต้องล่องทวนน้ำสวนขึ้นมา หลังเสร็จสิ้นจากการให้บริการล่องแพแก่นักท่องเที่ยว
บางแพก็เปิดโล่ง
แพที่เราใช้นั่งล่องนั้น นั่งได้เต็มที่ 6 คน มีนายหัวคอยถ่อและมีนายท้ายคอยกุมบังเหียนอีกที ตลอดเส้นทางจะพาล่องไปตามแม่น้ำกระบุรี ที่แม้จะเป็นแม่น้ำกั้นแนวพรหมแดนไทย-พม่า แต่ว่าก็เป็นแม่น้ำชายแดนที่แคบมาก แคบกว่าคลองหลายๆแห่งในบ้านเราเสียอีก
ล่องแพไปในสายน้ำกระบุรีอันใสสะอาด
แต่ลำน้ำกระบุรีสายแคบๆสายนี้กับน่ายลไปด้วยสายน้ำที่ใสสะอาด มีทั้งไหลเอื่อยและไหลรี่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล แต่ว่าก็ไม่ได้ไหลรุนแรงอะไร คือเราสามารถนั่งชิลล์ ชิลล์ เอาเท้าแช่น้ำล่องแพ แลบรรยากาศทิวทัศน์ของพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์ใน 2 ฟากฝั่งได้อย่างสบายใจ หรือจะนั่งฟินกินอาหารอร่อยๆที่ทางชุมชนจัดเตรียมไว้ให้ในระหว่างมื้อล่องแพ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการกินข้าวนอกบ้านที่ได้อรรถรสไม่น้อย
แม่น้ำจากฝั่งพม่าที่ไหลมาเชื่อมกับแม่น้ำกระบุรี
นอกจากวิวทิวทัศน์ร่มรื่นสวยงาม บรรยากาศของพื้นที่ชายแดนทั้งฝั่งไทยและฝั่งเมียนมาร์อันน่ายลแล้ว ในระหว่างการล่องแพยังมีจุดไฮไลท์คือ “วังปลา” ที่เป็นแนวเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาหรือเขตอภัยทานที่อดีตพรานล่าปลามือฉมังได้กลับใจ หันมาสร้างเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาขึ้น โดยมีการเพาะพันธุ์ปลา ปล่อยปลาคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเก็บไว้ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาล่องแพสามารถซื้ออาหารมาเลี้ยงเหล่าปลาพวกนี้ได้
สนุกสนานกับการเล่นน้ำที่จุดแพเล่นน้ำฝั่งพม่า
ส่วนอีกจุดหนึ่งที่เป็นไฮไลท์ก็คือจุดเล่นน้ำในฝั่งพม่า ที่มีการจัดทำเป็นแพไม้ไผ่เล็กๆและชิงช้ายางรถยนต์ไว้ให้นักท่องเที่ยวเล่นน้ำ และกระโดดน้ำกันเป็นที่เพลิดเพลิน
เด็กที่มากับแพ กระโดดเล่นน้ำอย่างสนุก
นับได้ว่านี่เป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ใน อ.กระบุรี ที่นอกจากชวนให้เพลิดเพลินแล้ว ยังต้องกดไลค์ให้กับสภาพอันสมบูรณ์ของสายน้ำ ที่แม้วันนี้สายน้ำ แหล่งน้ำใหญ่ๆหลายๆแห่งในบ้านเราแห้งขอด แต่ลำน้ำกระบุรีที่นี่ยังคงมีสายน้ำไหลเย็นชุ่มฉ่ำ ยังไงๆก็ขอให้ทั้งชาวชุมชนและนักท่องเที่ยวช่วยกันดูแลรักษาสายน้ำ ป่าต้นน้ำ ทั้งที่นี่และที่อื่นๆให้ดำรงคงอยู่ต่อไป
เพราะวิกฤติจากภัยแล้งปีนี้ได้ส่งสัญญาณเตือนดังๆแล้วว่า หากมนุษย์ยังคงเดินหน้าทำร้ายทำลายธรรมชาติกันแบบไม่บันยะบันยังต่อไป ในอนาคตข้างหน้าเมื่อธรรมชาติเอาคืน มนุษย์เราเดือดร้อนแสนสาหัส(มากยิ่งกว่านี้)แน่นอน
อาหารมื้ออร่อยบนแพ
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ส่วนหนึ่งของ จ.ระนอง เมืองที่หลายๆคนมักจะมองว่าเป็นเมืองผ่าน แต่ถ้าหากใครลองตั้งใจมาเที่ยวระนอง ก็จะสัมผัสได้ถึงเสน่ห์อันหลากหลายของเมืองแห่งนี้ ซึ่งหลายๆคนเมื่อได้มาสัมผัสแล้วต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
“รักนะ ระนอง”
ล่องแพ สุขจริงอิงกระแสธารา
ปีนี้จังหวัดระนองได้รับการคัดเลือกจาก “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย”(ททท.) ให้เป็น 1 ใน 12 “เมืองต้องห้าม…พลาดPlus”(เมืองต้องห้ามพลาดพลัส) กับเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับจังหวัดชุมพร “เมืองต้องห้าม…พลาด”
พุทธสุวรรณเจดีย์
ตำบล ปากจั่น อำเภอ กระบุรี ระนอง 85110