พาเที่ยววัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย) ตากใบ

พาเที่ยววัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย) ตากใบ

สัมผัสเสน่ห์นราธิวาสผ่านพุทธศิลปะและสถาปัตยกรรมอันมีเอกลักษณ์โดยช่างโบราณของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ วัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย
วัดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพระสงฆ์รูปหนึ่งเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ในชุมชนเก่าแก่ที่มีภาษาเป็นของตัวเอง ผมเชื่อว่าท่านก็คงไม่รู้ว่าราว 40 ปีต่อมา วัดแห่งนี้จะกลายเป็นเหตุผลสำคัญในการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับมาเลเซีย ที่ช่วยรักษาให้พื้นที่นี้ยังคงอยู่ใต้การปกครองของสยาม

วันนี้ผมจะขอพาไปชมวัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย ครับ
เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
วัดชลธาราสิงเหตั้งอยู่บนเนินทรายระหว่างแม่น้ำตากใบกับพรุบางน้อย พระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นราว พ.ศ. 2403 โดยขอที่ดินจาก พระยาเดชานุชิตมหิศรายานุกูลวิบูลย์ภักดี หรือตุวันสนิปากแดง ผู้เป็นพระยากลันตันในเวลานั้น

ในตอนแรกวัดแห่งนี้ถูกเรียกว่า วัดท่าพรุ หรือวัดเจ๊ะเห ตามชื่อหมู่บ้านที่วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ ต่อมาใน พ.ศ. 2416 พระอาจารย์พุดได้สร้างพระอุโบสถ โดยมอบหมายให้พระไชยวัดเกาะสะท้อนเป็นช่างก่อสร้างรวมทั้งเขียนจิตรกรรม มีพระธรรมวินัย (จุ้ย) และทิดมี ช่างชาวสงขลา ร่วมเขียนภาพในพระอุโบสถและกุฏิ พร้อมสร้างพระประธาน กำแพงแก้วล้อมพระอุโบสถ เมื่อสร้างเสร็จจึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ. 2426 ก่อนที่จะบูรณะปรับปรุงและก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมในเวลาต่อมา
วัดแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชลธาราสิงเหอย่างที่เราเรียกกันในปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2452 โดย ขุนสมานธาตุวฤทธิ์ (เปลี่ยน กาญจนรัตน์) นายอำเภอตากใบ ซึ่งชื่อใหม่ของวัดมีความหมายว่า วัดริมน้ำที่สร้างด้วยภิกษุที่มีบุญฤทธิ์ประดุจราชสีห์ เนื่องจากวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตากใบ อีกทั้งพระภิกษุผู้สร้างวัดคือพระครูโอภาสพุทธคุณ พระที่ชาวบ้านนับถือศรัทธา และเป็นที่เกรงขามประดุจราชสีห์

นอกจากประวัติที่เล่าให้ฟังไปแล้ว ความสำคัญจริงๆ ของวัดนี้คือเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ เพราะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อสยามมีกรณีพิพาทกับสหราชอาณาจักรเรื่องการปักปันเขตแดน เพราะสหราชอาณาจักรได้ปักปันเขตแดนเข้ามาถึงบ้านปลักเล็ก ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากวัดชลธาราสิงเหราว 25 กิโลเมตร ล้ำเข้ามาจากเขตแดนปัจจุบันถึง 30 กิโลเมตร แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแย้งโดยให้เหตุผลว่า วัดชลธาราสิงเหและวัดอื่นในละแวกนี้เป็นศิลปกรรมไทยอย่างแท้จริงและเป็นมรดกทางพุทธศาสนาที่สำคัญ จึงควรอยู่ภายใต้การพิทักษ์รักษาของสยาม

ฝ่ายอังกฤษยอมรับและเห็นพ้องว่าหากพุทธศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าต้องตกอยู่ใต้การปกครองของมลายู อาจถูกทอดทิ้งหรือทำลาย ฝ่ายอังกฤษจึงต้องเลื่อนจุดปักปันเขตแดนลงไปทางใต้ โดยใช้แนวแม่น้ำตากใบ-สุไหงโก-ลกเป็นพรมแดนแทน ทำให้อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโก-ลก และบางส่วนของอำเภอแว้ง ที่เคยอยู่ใต้การปกครองของรัฐกลันตันยังคงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย’

ฟังประวัติอันน่าสนใจของวัดและที่มาของชื่อวัดกันแล้ว ได้เวลาไปชมตัววัดกันแล้วครับ
วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
วัดชลธาราสิงเหมีพระอุโบสถขนาดกำลังดี ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว หันหน้าไปทางแม่น้ำตากใบ

เรื่องหนึ่งที่ผมไม่ได้เล่าไปก่อนหน้าเพราะรู้สึกว่ามันจะยาวเกินไปก็คือ พระอุโบสถหลังนี้ไม่ใช่หลังแรกของวัด เพราะแต่ดั้งแต่เดิมเคยมีโบสถ์น้ำที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำมาก่อนด้วยครับ

พระอุโบสถหลังนี้ไม่ได้แตกต่างจากพระอุโบสถของภาคกลางหรือในกรุงเทพมหานครเท่าไหร่ หน้าบันมีรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ มีเทวดาคู่หนึ่งถือป้ายที่มีตัวเลข 2416 บอกปีที่พระอุโบสถถูกสร้างขึ้น

แต่ที่เรียกได้ว่าต่างจากพระอุโบสถส่วนใหญ่ คือจิตรกรรมที่ตกแต่งโดยรอบอุโบสถ ไม่เพียงเฉพาะหน้าบัน ซึ่งเจาะเป็นช่องเล็กๆ และใส่รูปคนเข้าไป แถมยังแทรกภาพชาวมุสลิมและพราหมณ์เอาไว้ด้วย เก๋ไก๋ยิ่งนัก
เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานขนาดไม่ใหญ่ บนฐานที่สูงมาก ช่วยให้พระประธานโดดเด่น ไม่แน่ใจว่าท่านมีชื่อทางการไหม แต่ชาวบ้านเรียกท่านว่า หลวงพ่อใหญ่
ผนังภายในตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนัง 3 ด้าน ดูแปลกดีเหมือนกันที่ด้านหลังพระประธาน ช่างเขียนเพียงรัศมีรอบพระเศียรและปล่อยผนังที่เหลือให้โล่งเป็นสีขาว ส่วนผนัง 2 ข้างเขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติสลับกับเสาสี่เหลี่ยม ส่วนพื้นที่แถวบนสุดเป็นภาพเทพชุมนุม
ในขณะที่ผนังตรงข้ามพระประธานเขียนภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แบบฟูลเฟรมเต็มพื้นที่

วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่ผมชอบที่สุดของจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถหลังนี้คือความสดของสี เพราะในบรรดาจิตรกรรมฝาผนังเท่าที่เคยเห็น ที่นี่ถือเป็นหนึ่งในวัดที่ใช้สีสันค่อนข้างสดใสจัดจ้าน ยังไม่รวมความแน่นของฉากใน 1 ช่อง ที่บางครั้งอัดลงไปถึงสามสี่ฉากในช่องเดียว แต่กลับดูไม่ล้นจนเกินไป แถมยังแทรกภาพกากลงไปได้อีก ซึ่งถือเป็นเรื่องเจ๋งมากของช่างโบราณที่ออกแบบการเล่าเรื่องในพื้นที่จำกัดได้
นอกจากพระอุโบสถ อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมภาคใต้คือกุฏิ ซึ่งเป็นทั้งที่พักของพระภิกษุสงฆ์ และสถานที่ทำกิจกรรมทางศาสนาของพระภิกษุและฆราวาสด้วย เพราะจะพบว่ากุฏิพระหลายแห่งมีโถงกลางที่กว้างขวางและมีโถงประดิษฐานพระพุทธรูปด้วย
วัดชลธาราสิงเหยังมีกุฏิอื่นที่น่าสนใจอีก ไม่ว่าจะเป็นกุฏิเจ้าอาวาสที่สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 เรือนขนมปังขิงยกพื้นสูงที่ทำหลังคาซ้อนชั้นอย่างวิจิตรพิสดาร หรือกุฏิสิทธิสารประดิษฐ์ อีกหนึ่งกุฏิสำคัญที่ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดชลธาราสิงเห จัดแสดงทั้งภาพถ่ายเก่า ธรรมาสน์โบราณ ธรรมาสน์สังเค็ดงานพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สำหรับใครที่สงสัยว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าธรรมาสน์องค์นั้นเป็นธรรมาสน์สังเค็ดจากงานพระเมรุมาศของ ร.5 ให้สังเกตที่ด้านหลังของพนักครับ จะมีรอยแกะตรา จปร. อยู่ )

เกร็ดแถมท้าย
จังหวัดนราธิวาสยังมีวัดอีกหลายแห่งที่น่าไปชม เช่น วัดโคกมะม่วง วัดโคกมะเฟือง รวมไปถึงวัดเขากง หรือพุทธมณฑลนราธิวาส สถานที่ประดิษฐานพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล พระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2512 รวมถึงพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516
จังหวัดนราธิวาสยังมีมัสยิดที่น่าชมและพิเศษมากๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดรายอหรือมัสยิดยุมอียะห์ มัสยิดกลางหลังเก่าของจังหวัดนราธิวาส สถานที่ตั้งสุสานของพระยาภูผาภักดี เจ้าเมืองนราธิวาส

รวมถึงมัสยิดตะโละมาเนาะ หรือมัสยิดวาดีลฮูเซ็น มัสยิดไม้เก่าแก่และงดงามที่สุดหลังหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส ควรค่าแก่การไปชมอย่างยิ่งครับ
ไม่หมดเท่านั้น จังหวัดนราธิวาสยังมีชายหาดที่น่าไปพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นหาดนราทัศน์ใกล้เมืองนราธิวาส หรือหาดบ้านทอน หาดที่ผมคิดว่าสะอาดและงามที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดด้วยครับ

Share