เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีระกา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 ในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช
บอกได้คำเดียวว่า ถ้ามาเยือนลำพูนแล้วไม่ได้แวะชมวัดแห่งนี้ ถือว่ามาเสียเที่ยวจริง ๆ เพราะที่นี่คือ วัดที่สำคัญที่สุดของเมืองลำพูน ตามประวัตินั้นกล่าวว่า วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 ในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช และภายในวัดก็เต็มไปด้วยโบราณสถานล้ำค่าให้คุณได้ชื่นชมมากมาย น่าชม
ซุ้มประตู ก่อนก้าวเข้าสู่ภายในวัด คุณจะต้องผ่านซุ้มประตูอันเป็นฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย ก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้น ๆ หน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่าบนแท่นสูงประมาณ 1 เมตร สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชเมื่อทรงถวายวังให้เป็นสังฆาราม วิหารหลวง เป็นวิหารหลังใหญ่ที่คุณจะได้พบหลังจากเดินผ่านซุ้มประตูเข้ามาวิหารหลังนี้มีพระระเบียงรอบด้าน มีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่า ซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อ พ.ศ. 2458 โดยใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนกิจทุกวันพระ
ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธปฏิมาใหญ่ 3 องค์ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองบนแท่นแก้วและมีพระพุทธปฏิมาโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้นและชั้นกลางอีกหลายองค์? พระบรมธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่หลังวิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระเกศธาตุบรรจุในโกศทองคำ
เจดีย์ประกอบด้วยฐานปัทม์แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ มีสัตถบัญชร
(ระเบียงหอกซึ่งเป็นรั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น สำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือและทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์และฉัตรประจำสี่มุม หอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีปและแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป พระบรมธาตุนี้นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งในล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ ในวันเพ็ญเดือน 6 โดยจะมีการจัดงานนมัสการและสรงน้ำพระบรมธาตุทุกปี ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 1440 พระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนครลำพูนได้สร้างมณฑปครอบโกศทองคำ บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในและมีการสร้างเสริมกันต่อมาอีกหลายสมัย
ต่อมาใน พ.ศ. 1986 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่และได้ปฏิสังขรณ์บูรณะเสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นแบบลังกา ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้
ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน มีถนนล้อมรอบสี่ด้าน คือ ถนนอัฎฐารสทางทิศเหนือ ถนนชัยมงคลทางทิศใต้ ถนนรอบเมืองทางทิศตะวันออก และถนนอินทยงยศทางทิศตะวันตก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 150 เมตร
เปิดเวลา 6.00-18.00 น.
ค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 20 บาท