วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร กับประเพณีตักบาตรดอกไม้แบบพิเศษด้วย ‘ดอกเข้าพรรษา’
ใกล้ถึงวันสำคัญที่มาแบบแพ็กคู่อย่างวันอาสาฬหบูชากับเข้าพรรษากันแล้วนะครับ ใครมีแผนจะไปทำบุญ เวียนเทียนกันที่วัดไหนรึเปล่า ถ้ายังไม่มี วันนี้ TV Direct เอ๊ย ผมจะเสนอวัดที่น่าสนใจพร้อมกับโปรโมชันประเพณีเฉพาะหนึ่งเดียวในประเทศไทย ไม่สิ หนึ่งเดียวในโลกเลยครับ นั่นคือวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
ถ้าพูดชื่อ ‘วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร’ หรือที่นิยมเรียกกันว่า วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยไปหรืออาจจะเคยได้ยินกันมาก่อนแล้ว แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาคืออะไร ฉะนั้นแล้ว เรามาทำความรู้จักกับประเพณีนี้กันสักหน่อยครับ
ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาเป็นประเพณีตักบาตรดอกไม้แบบพิเศษเฉพาะของวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันเข้าพรรษาของทุกปี ประเพณีการตักบาตรดอกไม้นี้มีที่มาจากตำนานว่า ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารแห่งกรุงราชคฤห์ทรงโปรดดอกมะลิมาก ในแต่ละวันจะรับสั่งให้นายสุมนมาลากรนำดอกมะลิ 8 กำมือไปถวาย
วันหนึ่งระหว่างการเก็บดอกมะลิ นายมาลากรผู้นี้ได้พบพระพุทธเจ้าและภิกษุอีกจำนวนหนึ่ง นายมาลากรเห็นฉัพพรรณรังสีและเกิดความเลื่อมใสอย่างยิ่ง จนถึงขนาดนำดอกมะลิถวายแก่พระพุทธเจ้าโดยไม่เกรงกลัวว่าจะถูกประหารเพราะไม่ได้ถวายดอกมะลิแก่พระเจ้าพิมพิสาร แต่ปรากฏว่าพระเจ้าพิมพิสารกลับพอพระราชหฤทัยมากเมื่อทรงทราบและปูนบำเหน็จความชอบแก่นายมาลากร นับจากนั้นชีวิตของนายมาลากรก็มีแต่ความสุข
แต่สิ่งที่ทำให้ประเพณีตักบาตรดอกไม้ของวัดพระพุทธบาทแตกต่างจากที่อื่นคือดอกไม้ที่ใช้ เพราะ ดอกไม้ที่นำมาใส่บาตรนี้คือดอกหงส์เหิน ดอกไม้ที่ขึ้นมากในช่วงเข้าพรรษา และชาวบ้านจะไปเก็บดอกไม้นี้จากภูเขารอบๆ แล้วนำมาใช้ในพิธีตักบาตรดอกไม้จนเป็นที่มาของชื่อ ‘ดอกเข้าพรรษา’ โดยชาวบ้านจะยืนรอที่สองฟากถนนและนำดอกไม้ถวายพระสงฆ์ ซึ่งจะนำดอกไม้ไปสักการะรอยพระพุทธบาท เจดีย์จุฬามณี และพระมหาธาตุองค์ใหญ่ภายในวัด ก่อนจะเข้าไปยังพระอุโบสถเพื่ออธิษฐานเข้าพรรษา โดยก่อนที่พระสงฆ์จะเข้าไปยังพระอุโบสถ ชาวบ้านจะนำน้ำสะอาดใส่ภาชนะไปล้างเท้าพระสงฆ์ด้วย
หลังจากที่เรารู้จักประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษากันแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะมาทำความรู้จักกับวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีกัน ดีกว่า
วัดพระพุทธบาทสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2167 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเมื่อมีการค้นพบรอยพระพุทธบาท ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุวรรณบรรพตหรือสัจจพันธคีรี 1 ใน 5 รอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์ตามตำนาน (อีก 4 รอย ได้แก่ที่เขาสุมณกูฏ เขาสุวรรณมาลิก เมืองโยนกนคร และริมแม่น้ำนัมมทา) ในครั้งนั้นมีการสร้างมณฑปและสถาปนาวัดขึ้น นับจากนั้นเป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์จะต้องเสด็จฯ มาบูชารอยพระพุทธบาทนี้ วัดแห่งนี้จึงได้รับการทำนุบำรุงบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิด ‘ราชวรวิหาร’ ที่มีเพียงแค่ 6 วัดในประเทศไทยอีกด้วย
ถ้าเราเข้าไปถึงบริเวณวัด สิ่งแรกก็เราจะเจอก่อนเลยก็คือยักษ์ใหญ่ 2 ตน ยักษ์กายสีเขียวคือทศกัณฑ์ ยักษ์กายสีขาวคือสหัสเดชะ 2 ยักษ์ที่จัดว่าใหญ่ที่สุดในเรื่อง รามเกียรติ์ ถ้าเทียบเป็นข้าราชการก็อยู่ในระดับ C11 เลย เพราะทั้งสองตนมีอำนาจมากรวมถึงเศียรมาก ทศกัณฑ์มี 10 เศียร สหัสเดชะมีถึง 1,000 เศียรทำให้ไม่สามารถจับคู่กับยักษ์ตนอื่นได้อีกแล้วนอกจากจับคู่กันเองเท่านั้น ถ้าไม่เชื่อ ลองไปดูวัดพระศรีรัตนศาสดารามกับวัดอรุณราชวรารามได้เลย 2 วัดนี้ก็มียักษ์คู่นี้อยู่เช่นกัน
การจะขึ้นไปยังมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจะต้องเดินขึ้นบันไดที่ราวบันไดทำเป็นรูปพญานาค บันไดที่ควรส่วนใหญ่นิยมขึ้นคือบันไดนี้ ซึ่งเมื่อเดินขึ้นไปก็จะถึงมณฑปทันที
ทว่า บันไดชุดนี้เป็นบันไดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และเดิมมีแค่ 2 สายก่อนจะมีการเพิ่มเป็น 3 สายในสมัยรัตนโกสินทร์ ในขณะที่บันไดทางขึ้นเดินในสมัยอยุธยานั้นอยู่บริเวณประตูยักษ์ (ประตูที่มียักษ์ 2 ตนที่แนะนำไปแล้ว) จุดสังเกตก็คือหัวนาคบริเวณบันไดเดิมจะเป็นนาค 7 เศียรและมีมงกุฎสวม แต่หัวนาคบริเวณบันไดสมัยหลังกว่าจะมีเพียง 5 เศียรและไม่มีมงกุฎ
พอขึ้นไปถึงข้างบนก็จะพบกับมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทซึ่งเป็นมณฑปยอดเดียว แบบที่สามารถพบได้ทั่วไป เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ในสมัยพระเจ้าเสือเคยมีการทำเป็นมณฑป 5 ยอด ก่อนจะกลับมาเป็นยอดเดียวอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 1 รูปแบบที่เห็นในปัจจุบันนี้เกิดจากการบูรณะครั้งสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 9 โดยที่ยังรักษารูปแบบดั้งเดิมสมัยต้นกรุงเอาไว้อย่างครบถ้วน
เมื่อผ่านบานประตูมุขเข้าไปภายในมณฑป จะพบกับมณฑปขนาดเล็กกว่าอีกหลังหนึ่งอยู่ข้างใน มณฑปองค์ในนี้เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยคล้ายเท้าคนอยู่บนหิน มีลายธรรมจักรที่กึ่งกลางพร้อมลายมงคล 108 ประการแต่ปัจจุบันมองเห็นไม่ชัดด้วยสภาพของหินและธนบัตรหรือเหรียญที่คนที่มานิยมหย่อนลงไป พื้นโดยรอบปูด้วยเสื่อที่สานจากเงิน ความสง่างามของการตกแต่งภายในทุกวันนี้สมดังที่สุนทรภู่ กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ได้บรรยายไว้ในนิราศพระบาท ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2350 เมื่อสุนทรภู่ยังเป็นมหาดเล็กอยู่ ว่า
มณฑปน้อยสวมรอยพระบาทนั้น
ล้วนสุวรรณแจ่มแจ้งแสงอร่าม
เพดานดาดลาดล้วนกระจกงาม
พระเพลิงพลามพร่างพรางสว่างพราย
ตาข่ายแก้วปักกรองเป็นกรวยห้อย
ระย้าย้อยแวววามอร่ามฉาย
หอมควันธูปเทียบตระหลบอยู่อบอาย
ฟุ้งกระจายรื่นรื่นทั้งห้องทอง
ถ้าจะมีอะไรที่ทุกวันนี้ต่างจากในอดีตก็คงจะเป็นการห้ามจุดธูปเทียนภายในมณฑปอีกเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับมณฑป รอยพระพุทธบาท และเสื่อเงินนี้
ภายในวัดพระพุทธบาทแห่งนี้ยังมีอาคารที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง โดยจะขอยกอาคารที่มีความสัมพันธ์กับประเพณีการตักบาตรดอกเข้าพรรษานะครับ
เริ่มกันที่พระเจดีย์ที่ตั้งอยู่หน้าพระวิหารป่าเลไลยก์ ใกล้กับมณฑปพระพุทธบาท พระเจดีย์องค์นี้คือมหาธาตุซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นโดยสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ หรือ วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีต้นแบบจากพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เมื่อเสร็จจากศึกที่เวียงจันทน์ แต่ความเห็นส่วนตัวดูยังไงก็ไม่เหมือนพระธาตุพนมองค์เดิมก่อนที่จะล้มเมื่อ พ.ศ. 2518 เลยสักนิด แต่ถ้ามานึกอีกที คนโบราณเวลาจำลองอะไรก็มักจะหยิบลักษณะเด่นบางประการของสิ่งนั้นๆ มาเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องให้เหมือนเป๊ะ 100% ถ้ามองในมุมนี้เราก็พอจะเห็นความเหมือนบางประการของเจดีย์ 2 องค์นี้อยู่บ้าง เช่นส่วนล่างเป็นสี่เหลี่ยม ด้านบนเป็นทรงระฆัง ใครสนใจลองค้นหาภาพถ่ายเก่าของพระธาตุพนมก่อนจะล้มมาเทียบกันดูนะครับ
ถัดไปคือวิหารคลังบน สถานที่ประดิษฐานเจดีย์จุฬามณีที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วจำลอง วิหารหลังนี้ยังเป็นอาคารหลังเดียวในวัดพระพุทธบาททีมีการตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนัง แต่เรื่องราวที่ปรากฏไม่ใช่พุทธประวัติ ไม่ใช่ชาดก แต่เป็นกิจวัตรต่างๆ ของสงฆ์และการปลงอสุภะหรือการพิจารณาศพรูปแบบต่างๆ แต่ไม่ต้องห่วงครับ ถ้าคุณดูแล้วไม่เข้าใจ ใต้ภาพทุกภาพจะมีข้อความจารึกภาษาไทยบรรยายฉากข้างบนไว้แบบเสร็จสรรพ รับประกันว่าจะไม่พลาดเนื้อหาของจิตรกรรมฝาผนังที่นี่อย่างแน่นอน
และอีกหนึ่งสถานที่ซึ่งไม่ควรพลาดก็คือพระวิหารหลวงของวัดซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งพระพุทธบาท วิหารหลังนี้เป็นวิหาร 16 ห้องซึ่งเดิมใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน ต่อมาใช้เป็นประทับของพระอาคันตุกะระหว่างเทศกาลและใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลของพุทธศาสนิกชน ภายในเก็บรักษาของมีค่าไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รอยพระพุทธบาทจำลองและยอดมณฑปพระพุทธเดิม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เดิมจะเปิดให้เข้าชมเฉพาะช่วงประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา วันขึ้น 8 – 15 ค่ำ เดือน 4 และขึ้น 1 – 5 ค่ำ เดือน 3 เท่านั้น แต่ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์และอาทิตย์ด้วย ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ยังไม่เคยได้เข้าไปชมเลยสักครั้ง (และกำลังวางแผนจะไปชมสักครั้ง)
นอกเหนือจากอาคารเหล่านี้ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารยังมีอาคารอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น วิหารคลังล่างหรือวิหารจีนที่ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมมากราบไหว้ วิหารพระพุทธบาท 4 รอย พระอุโบสถ ฯลฯ ใครมีโอกาสได้ไปและมีเวลาก็ลองชมความงามของพระอารามหลวงชั้นเอกแห่งนี้กันให้จุใจได้เลยครับ