วัดศาลาลอย
เยือนถิ่นย่าโม เข้าวัดศาลาลอย ชมอาคารสำคัญ อุโบสถแบบศิลปะไทยประยุกต์ที่ถูกอธิบายว่า “จะว่างามก็งามที่สุด จะว่าขี้เหร่ที่สุด เพราะมีอยู่หลังเดียว”
ในเดือนมีนาคม มีวันสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ‘งานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี’ หรือ ‘งานย่าโม’ ที่ถือเป็นงานประจำปีของโคราชหรือจังหวัดนครราชสีมา จัดขึ้นเพื่อเคารพสักการะและเชิดชูเกียรติในวีรกรรมของท้าวสุรนารีและเหล่าบรรพบุรุษชาวนครราชสีมา โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 3 เมษายนของทุกปี ดังนั้น ผมเลยจะขอพาไปชมวัดที่ท้าวสุรนารีสร้างขึ้น นั่นก็คือ วัดศาลาลอย จังหวัดนครราชสีมา นั่นเองครับ
วัดศาลาลอย, โคราช, จังหวัดนครราชสีมา
วัดศาลาลอยแห่งนี้สร้างขึ้นโดย ท้าวสุรนารี และ พระยาสุริยเดช ผู้เป็นสามี ภายหลังจากเสร็จศึกกับกองทัพของเจ้าอนุวงศ์ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เล่ากันว่า ขณะที่ยกทัพกลับเมืองนครราชสีมา ท้าวสุรนารีได้แวะพักบริเวณท่าตะโก (ใกล้กับบริเวณวัดท่าตะโกในปัจจุบัน) พร้อมกับสั่งให้ทหารทำแพเป็นรูปศาลาเสี่ยงทายลอยไปตามลำตะคอง พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า หากแพรูปศาลานี้ลอยไปติดที่ใด จะสร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ แพดังกล่าวลอยไปติดที่ริมฝั่งขวาของลำตะคองซึ่งเป็นวัดร้าง จึงได้สถาปนาขึ้นเป็นวัดและตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า ‘วัดศาลาลอย’
เมื่อท้าวสุรนารีถึงแก่อสัญกรรมจึงได้นำอัฐิของท่านมาบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดแห่งนี้ ต่อมาวัดแห่งนี้ได้ร้างลง จึงย้ายอัฐิของท้าวสุรนารีไปไว้ที่วัดพระนารายณ์มหาราชฯ ก่อนที่จะมีการฟื้นฟูบูรณะวัดขึ้นอีกครั้ง และย้ายอัฐิส่วนหนึ่งจากวัดพระนารายณ์มหาราชฯ กลับมาประดิษฐานไว้ที่วัดศาลาลอยแห่งนี้ดังเดิม
อาคารสำคัญของวัดศาลาลอยที่เมื่อเข้ามาแล้วจะเห็นเป็นอันดับแรก นั่นก็คือ อุโบสถหลังปัจจุบัน ที่บทความของ ภารณี อินทร์เล็ก ใน วารสารหน้าจั่ว กล่าวถึงอุโบสถแบบศิลปะไทยประยุกต์ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิดของหลวงพ่อมหามี เจ้าอาวาสวัดขณะนั้น ว่า“จะว่างามก็งามที่สุด จะว่าขี้เหร่ที่สุด เพราะมีอยู่หลังเดียว” เป็นผลงานการออกแบบของ รศ. ดร.วิโรฒ ศรีสุโร ปราชญ์สถาปัตยกรรมแห่งลุ่มน้ำโขง โดยมี สมควร อินทรพาณิชย์ เป็นวิศวกร
อุโบสถหลังนี้เริ่มสร้างใน พ.ศ. 2510 และเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2517 ใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 950,000 บาท อาจจะมองว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน แต่อย่าลืมนะครับ นี่คือมูลค่าการสร้างเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ดังนั้น ถ้ามาตีเป็นเงินในยุคนี้ก็ถือว่าไม่เบาเลยทีเดียว
วัดศาลาลอย, โคราช, จังหวัดนครราชสีมา
ความน่าสนใจของอุโบสถหลังนี้เริ่มตั้งแต่แนวความคิดเลยครับ เพราะอาจารย์วิโรฒตั้งใจออกแบบให้เป็นทรงเรือสำเภา เพื่อให้เป็นดั่งพาหนะที่จะนำทุกคนไปสู่พระนิพพาน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแนวคิดที่มีมาแต่โบราณ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร ถ้าจะมีอะไรที่แปลกใหม่ก็คงเป็นรูปทรงอันแปลกประหลาดของอุโบสถหลังนี้ ที่ในระยะแรกมีคำวิจารณ์ส่วนใหญ่ค่อนไปทางลบ ผู้ออกแบบจึงได้สร้างประติมากรรมรูปลิงปิดปาก-ปิดหูหน้าทางเข้าอุโบสถ เพื่อจะสื่อว่า ผู้สร้างตั้งใจสร้างอุโบสถโดยไม่สนเสียงคำวิจารณ์
แต่เชื่อไหมครับ อุโบสถหลังนี้ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ใน พ.ศ. 2516 เนื่องจากความโดดเด่นของอาคารที่เกิดจากความพยายามของผู้ออกแบบ อันประกอบไปด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยสร้างสรรค์อาคารและสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ในทางศาสนา การนำองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมท้องถิ่นมาผสมผสานอย่างลงตัว และการผสมผสานประติมากรรมกับส่วนประกอบอื่นๆ ของอาคารให้เข้ากับตัวอาคารอย่างมีเอกภาพ แค่สตอรี่ของตัวอาคารยังน่าสนใจขนาดนี้ เราลองไปชมของจริงกันดีกว่าครับ
พื้นของอุโบสถวัดศาลาลอย แบ่งออกเป็น 3 ระดับ เริ่มจากกำแพงแก้วทำเป็นรูปดอกบัวลดรูป ถัดเข้ามาเป็นเขตพันธสีมา เป็นเสมานั่งแท่นทั้ง 8 ทิศ เป็นใบเสมา 3 แฉกประดับครุฑยุดนาคบนฐานบัว และชั้นในเป็นอุโบสถทรงยกพื้นสูงโดยชั้นล่างใช้เป็นที่เก็บของ
วัดศาลาลอย, โคราช, จังหวัดนครราชสีมา
อุโบสถเป็นงานคอนกรีตเสริมเหล็กทรงเรือสำเภา สอดคล้องกับการตั้งบ่อน้ำด้านหน้าของอุโบสถที่สื่อถึงมหาสมุทร ตัวอุโบสถมีมุขยื่นออกมาเฉพาะด้านหน้า มีช่อฟ้าที่ลดรูปจนดูคล้ายกับส่วนทวนหัวที่ใช้บังคับในเรือสำเภา ที่ผนังด้านนอกทั้งหน้าและหลังประดับด้วยประติมากรรมดินเผาจากอำเภอด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา เป็นพุทธประวัติตอนสำคัญ 2 ตอน โดยที่ด้านหน้าทำเป็นตอนมารผจญ
ส่วนด้านหลังเป็นตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งงานดินเผาจากอำเภอด่านเกวียนนี้ยังนำไปใช้เป็นกระเบื้องมุงหลังคาด้วย เรียกได้ว่าเป็นการนำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้อย่างลงตัว ส่วนด้านข้างมีหน้าต่างรูปทรงเรียบง่ายด้านละ 4 บาน ด้านบนประดับด้วยกระเบื้องดินเผา ส่วนด้านล่างมีคันทวยที่ปกติจะรองรับหลังคา แต่ของที่นี่เอามาใช้รองรับหน้าต่างแทน
วัดศาลาลอย วัดที่เกิดจากการเสี่ยงทายของย่าโมกับอุโบสถโดยปราชญ์สถาปัตย์แห่งลุ่มน้ำโขง
วัดศาลาลอย วัดที่เกิดจากการเสี่ยงทายของย่าโมกับอุโบสถโดยปราชญ์สถาปัตย์แห่งลุ่มน้ำโขง
ดังนั้น เราจะเห็นว่าไม่ใช่ว่าของดีของงามจะต้องเป็นของโบราณที่สร้างมานับร้อยปีเสมอไป บางครั้งงานศิลปกรรมที่งดงามอาจจะอยู่ในงานสมัยใหม่ที่มีอายุแค่หลักสิบปีก็ได้ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ต่อให้ใครจะบอกว่า ที่นั่นงาม ที่นี่สวย แต่คุณเท่านั้นที่จะเป็นคนตัดสินว่า สำหรับคุณแล้ว อะไรคือความสวยความงามในแบบของคุณครับ