“วัดสังฆทาน” สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มแวดล้อมไปด้วยสวนของราษฎร มีปูชนียวัตถุสำคัญ คือ พระประธานในอุโบสถแก้ว นามว่า “หลวงพ่อโต” สำหรับความเป็นมาของหลวงพ่อโตนั้น เนื่องจากวัดสังฆทานเป็นวัดร้างนับเป็นร้อยๆ ปีขึ้นไป การจดบันทึกไว้จึงไม่มี มีเพียงการเล่าขานต่อถึงความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ดังนั้น จึงได้มีการวิเคราะห์จากหลักฐานพระพุทธลักษณะจากองค์หลวงพ่อโต กระเบื้องเชิงชายหน้าอุดของหลังคาอุโบสถหลังเก่า และอิฐที่สร้างองค์พระกับฐานอุโบสถ กระเบื้องเชิงชายหรือกระเบื้องหน้าอุดเป็นหลักฐานอันสำคัญชิ้นหนึ่งที่ค้นพบและเก็บรักษาไว้ในวัดสังฆทาน หลักฐานชิ้นนี้ใช้เป็นกระเบื้องประดับตกแต่งเชิงชายบนหลังคาอุโบสถสืบทอดจนถึงปัจจุบัน จะพบเห็นทั่วไปตามพระอารามหลวง (วัดหลวง) ใช้ประกอบกับกระเบื้องกาบกล้วยเพื่ออุดรูไม่ให้นกหนูเข้าไปทำรัง ลักษณะกระเบื้องเชิงชายหน้าอุดของวัดสังฆทาน มีลวดลายดอกบัวที่คลี่คลายปรับเปลี่ยนมาเป็นลายกนก ท้ายที่สุดเป็นลายประเภทใบไม้ ๓ แฉก ซึ่งเป็นเค้าโครงดั้งเดิมของดอกบัว ทำด้วยดินเผา สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑๒๒
วัดสังฆทานจะมีประเพณีทำบุญวันสงกรานต์ และสรงน้ำพระในเดือนเมษายน (วันที่ ๑๓-๒๐ เมษายน) เป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งเปลี่ยนผ้าห่มองค์พระหลวงพ่อโต พระประธานในอุโบสถแก้ว ผ้าห่มที่ถูกเปลี่ยนจะนำมาฉีกแบ่งกันไปผูกข้อมือ-ผูกคอให้กับชาวบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ การบนหลวงพ่อโตมักโดยจะบนด้วยการจุดปะทัดเป็นเครื่องแก้บน “สังฆทาน” จึงกลายเป็นชื่อของวัดมาแต่เดิม
กว่าจะมาเป็น “อุโบสถแก้ว” หรือ “โบสถ์แก้ว”
ปี พ.ศ. 2511 หลวงพ่อสนองพบวัดสังฆทานร้างอยู่กลางสวน มีเพียงหลวงพ่อโตกับศาลาไม้มุงสังกะสีเก่าๆ บนที่ไร่เศษ พิจารณาแล้วว่าที่นี่เหมาะแก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาตาม “แนวทางธุดงคกรรมฐาน” เนื่องด้วยอยู่ใกล้แหล่งของผู้มีกำลังและปัญญาที่สามารถช่วยศาสนาได้ดีในอนาคต ท่านจึงตัดสินใจที่จะอยู่ที่นี่ แต่ขณะนั้นท่านคิดว่าตนเองยังมีบารมีไม่เพียงพอที่จะเป็นผู้นำที่นี่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าที่นี่ไม่เหมือนที่อื่นการจะเข้ามาทำอะไรนั้นทำได้ยาก จะต้องให้เขาเห็นดีให้เขาเข้าใจเพราะเป็นการเผยแผ่ธรรมะให้กับผู้มีปัญญา ท่านจึงตั้งใจกลับไปปฏิบัติธรรมในถ้ำหมีและถ้ำกระเปาะอีก 6 ปี ปี พ.ศ. 2517 หลวงพ่อสนองกลับมาวัดสังฆทานอีกครั้งเพื่อจำพรรษา ร่วมกับพระสงฆ์อีก ๕ รูป ด้วยปฏิปทาตามหลักธุดงคกรรมฐาน ชาวบ้านบางคนตั้งข้อหาว่าเป็นพระคอมมิวนิสต์ ความเป็นอยู่จึงลำบาก ถูกข่มขู่ด้วยปืนและปาระเบิด บิณฑบาตเกือบไม่ได้ เมื่อนำอาหารมาเทรวมกันก็มีน้อยมากทุกรูปไม่ยอมตักอาหารใส่บาตร หลวงพ่อต้องเป็นผู้ตักใส่บาตรให้ น้ำดื่มต้องตักจากบ่อเก่ามาต้มฉัน ไม่มีน้ำปานะ ไม่มีไฟฟ้า
ปี พ.ศ. 2518 หลวงพ่อสนองไปรับ พระอาจารย์พลอย เตชพโล แห่งวัดเขาภูคา ต.หัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มาช่วยเป็นหัวหน้าช่างในการบูรณะ องค์หลวงพ่อโต พร้อมพระเณรประมาณ ๑๐ กว่ารูป รวมทั้งชาวบ้านญาติโยม การบูรณะที่แขนชำรุดมากต้องเอาแป๊บน้ำใส่แล้วโบกปูนทับ ส่วนที่ใดเนื้อปูนยุ่ยก็ขูดออกแล้วโบกปูนทับ นำปูนเก่ามาผสมปั้นเป็นหลวงพ่อสังกัจจายน์ (พระมหากัจจายนะ)
“อุโบสถแก้ว” หรือ “โบสถ์แก้ว” รูปแบบของอุโบสถที่หลวงพ่อสนองดำริให้สร้างขึ้นใหม่นั้นเป็น “รูปทรงแปดเหลี่ยม” ทำด้วยกระจกทั้งหมด และกำหนดเวลาการก่อสร้างเป็นเวลา ๑ ปีครึ่ง โดยท่านตั้งจุดประสงค์ว่าอุโบสถของวัดสังฆทาน ต้องเป็นอุโบสถที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดและถูกต้องตามความเป็นจริง ขนาดของอุโบสถต้องจุคนได้ ๖๐๐ คน เมื่อแบบจำลองของอุโบสถออกมาก็ถูกวิจารณ์ว่าทำไมอุโบสถจึงเป็นแก้วแปดเหลี่ยม ไม่ใช่ทรงไทยที่มีช่อฟ้า ใบระกา หลวงพ่อสนองได้ให้เหตุผลว่า
(1) หลวงพ่อโตองค์ใหญ่มาก มีความสูงหลายเมตร ถ้าสร้างอุโบสถเป็นแบบทรงไทยต้องสร้างให้เศียรหลวงพ่อโตต่ำกว่าขื่อต่ำกว่าอกไก่ อุโบสถต้องใหญ่มากต้องรับน้ำหนักมาก ทำ ๒ ชั้นก็ไม่เหมาะเพราะต้องการประหยัดพื้นที่ แต่ถ้าทำเป็นรูปเจดีย์แล้วสามารถให้หลวงพ่อโตอยู่ตรงกลางหรือตรงริมก็ได้ หลวงพ่อโตก็จะดูสวยสง่า และทรงแปดเหลี่ยมสมมุติเป็นมรรคองค์แปด
(2) การสร้างอุโบสถทรงไทยต้องลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไปจึงจะแล้วเสร็จ แต่อุโบสถแก้วใช้ประมาณ 50 ล้านบาท สร้างได้ ๒ ชั้น และสามารถสร้างเสร็จได้เร็วกว่า เนื่องจากทางวัดจำเป็นต้องใช้อุโบสถในการอุปสมบทหมู่ โดยให้สามารถจุพระสงฆ์ได้เป็น 100 รูป บรรพชาสามเณรปีละ 300 รูป มีการประชุมพระสงฆ์ครั้งละ ๒๐๐-๓๐๐ รูป อุโบสถนี้สามารถจุคนได้ถึง ๖๐๐ คน ด้านล่างใช้เป็นสำนักงาน ห้องเทป ห้องมูลนิธิ ห้องสมุด ฯลฯ มีประโยชน์อเนกประสงค์
ที่ตั้งวัด
เลขที่ 100/1 ซอยบางศรีเมือง1 ตำบล บางไผ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000