พาเที่ยว “วัดเขาปินะ”  ต.นาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

พาเที่ยว “วัดเขาปินะ” ต.นาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

ประวัติ ที่มีการบันทึก เป็นหลักฐาน วัดเขาปินะ

 ในปีพ.ศ. ๒๓๕๕ พระอุทัยราชธานี เจ้าเมืองตรัง ได้จัดระบบการปกครองเมืองตรังเป็นสัดส่วน ได้จัดให้พื้นที่ตำบลนี้ขึ้นกับอำเภอเขาขาว(อำเภอห้วยยอดในปัจจุบัน) 

ท่านเจ้าเมืองตั้งให้ขุนไกรเป็นผู้จัดการปกครองในละแวกตำบลนี้ตลอดถึงเขาปินะ ให้จัดการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป โบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ให้มีสภาพดีขึ้น

ประวัติขุนไกร
ขุนไกรท่านนี้มีเกร็ดประวัติส่วนตัวพอจะเล่าได้ว่า “เดิมท่านเป็นเด็กกำพร้ามาจากจังหวัดพัทลุง ในย่านนั้นเกิดการขาดแคลนอดอยาก

ท่านจึงถูกแม่เลี้ยงกดขี่ทรมานให้อดข้าว ท่านทนต่อการถูกทรมานไม่ไหวจึงหนีออกจากบ้านมาทางจังหวัดตรัง เดินป่ามาเรื่อยๆโดยไม่มีจุดหมาย กลางคืนนอน กลางวันออกเดินทางพร้อมหาอาหารกินมาเรื่อยๆ ตามที่พอจะหาได้

จนกระทั่งมาถึงบ้านหนองปลาดุก ซึ่งอยู่ในเขตตำบลท่าสะบ้า
อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรังในปัจจุบัน ได้หลบอาศัยอยู่ริมไร่ของตาสีดึง และยายทรัพย์ซึ่งทำไร่ปลูกข้าวโพด

เมื่อตกเย็นตาสีดึงกับยายทรัพย์กลับบ้าน ขุนไกรจึงออกไปหักข้าวโพดมากิน ทำอย่างนี้อยู่อย่างนี้หลายวัน ตากับยาย สังเกตุุเห็น
ข้าวโพดถูกหักจึงแอบดู ได้เห็นขุนไกรออกมาขโมยหักข้าวโพดกินด้วยความหิวจึงจับได้และนำมาเลี้ยงไว้ ให้การเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ในเวลาต่อมา”

ครั้นถึงสมัยของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี มาเป็นเจ้าเมืองตรัง ท่านได้มาเห็นสถานที่สวยงามเหมาะสมที่จะปรับปรุงให้มีสภาพที่ดีขึ้น

จึงสั่งการให้ หลวงนครกิจจิตบำรุง นายอำเภอเขาขาวสมัยนั้น(อำเภอห้วยยอด) ปรับปรุงตกแต่งสถานที่ตัดถนนจากห้วยยอดตรงไปยังเขาปินะ

 ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระสถลสถานบริรักษ์ (คอยูเคียด ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังสมัยนั้น ได้ทำนุบำรุงด้านต่างๆ มากมายเต็มความสามารถ

และได้มีเจ้านาย เชื้อพระวงศ์และพระมหากษัตริย์ของไทยได้เสด็จประพาสถึง ๒ พระองค์ ซึ่งมีหลักฐานเป็นจดหมายเหตุ และสลักพระอักษรไว้ที่ผนังถ้ำมะขาม

 บันทึกการเสด็จประพาสของเชื้อพระวงศ์และสมเด็จพระมหากษัตริย์ 

 ณ ถ้ำเขาปินะแห่งนี้มีเจ้านาย เชื้อพระวงศ์ และ พระมหากษัตริย์ ได้เคยมาเยี่ยมและเสด็จประพาส ทั้งสิ้น ๔ ครั้ง ดังนี้ 

        ครั้งที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตามบันทึกในจดหมายเหตุ "หนังสือจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕)" ซึ่งได้บันทึกการเสด็จประพาสถ้ำเขาปินะดังนี้ 

       "...เสาร์ ๓๑ พฤษ ๑๒๑ ...เวลา ๒.๔๕ ขึ้นช้างพลายวัง เดินตามทางธรรมดาซึ่งตกแต่งฟันไม้ข้างทางเล็กน้อยไปทางทิศพายัพ ทางเปนป่าแดงมีไร่ร้างสองแห่ง ๒.๕๐ ตกแต่งทุ่งนาฝ่าข้ามไป ๕ นาฑี เข้าหมู่ไม้ชายคลอง ข้ามคลองไปขึ้นฟากโน้นเป็นทุ่งนาอีก ผ่าไปอีก ๕ นาที เข้าป่าแดง ๕ นาที ออกทุ่งนาอีก ๓ นาที เข้าป่าแดงอีก ๓.๑๕ พบบ้านมีสวนติดแห่งหนึ่ง ๓.๓๕ ข้ามนาร้าง 

เวลา ๓.๔๐ ถึงเขาปิหนา พระสถลมาจัดที่พักรับ ลงช้างขึ้นไปดูถ้ำเขาปิหนา เปนถ้ำอยู่สูงงดงามน่าดูมาก ทำนองถ้ำเหมือนห้องเรือน กลางเป็นห้องใหญ่ แสงสว่างข้างบนไม่มี มีเป็นช่องหน้าต่างสามช่อง ช่องประตูต่างหาก แสงสว่างเข้าข้างตามช่องหน้าต่าง โผล่ออกไปยังมีเบลคอนีอีกชั้นหนึ่ง ข้างบนมีเขาเงื้อมปกเป็นบังสาดงามที่สุด มีหลายช่อง ถ้ำเตียนสะอาดไม่เปรอะเปื้อนเพราะมีพระอยู่ในถ้ำนี้ แกแผ้วกวาดไว้เรียม

พระพวกนี้ต้องตามพระบาลีว่าเป็นอรัญกะ มี ๙ องค์ด้วยกัน ทำอรัญกุฏีพอจุตัวนอนอยู่ตามเบลคอนี กุฎีทำลดหลั่นชั้นเชิงเข้าที่ด้วย แต่ล้วนพาดพิงตามก้อนหิน มีแคร่นั่งเล่นลดหลั่นตามชั้นหิน บางทียื่นออกไปที่หน้าผาขารอดเอาหินทับไว้มีสพานสำหรับจงกรม ต่อจากกุฏีท่านอาจารย์ซึ่งปลูกไว้ในก้อนหินในเบลคอนี

ท่านอาจารย์เปนคนแก่ที่จะเปนอาจารย์ภาวนาดี ทางที่ลงน่าดูพิฤก เขาเดิมมันเป็นช่องประตู มีเบลคอนีซ้อน ๒ ชั้น มีช่องล่องถุนทลุถึงกัน ชั้นบนมีแลนดิงหินเดิม ๒ ชั้น ชั้นล่างพระแกทำแคร่ไม้ไผ่เป็น ๓ ชั้น อย่างแลนดิงกระไดฝรั้งต่อเข้า ทำกระไดไม้ผูกสับแสกลงมาเป็นชั้นๆ ตามแลนดิงบันไดที่เป็นหินเดิม

ชั้นหนึ่งได้ปั้นพระนั่งไว้หลายองค์ ชั้นหนึ่งก่อพระเจดีย์ไว้ มีกุฎิเล็กปลูกไว้ตามแลนดิงด้วย แคร่นั่งมีทั่วไป และมักมีชั้นไหว้พระติดไว้กับแคร่เห็นจะเป็นที่ไหว้พระภาวนา มีเจ็กและไทยมาอาไศรยอยู่ที่แคร่แลนดิง ได้ความว่าเป็นคนเดินทางมาอาไศรย เชิงเขามีกุฎิหมู่หนึ่งด้วย มีสพานจงกรมเหมือนกัน ที่ใกล้เขามีนามีไร่ มีชาวบ้านมาดูเราหลายคน…”

  ครั้งที่ ๒ การเด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สมัยดำรงพระยศเป็น พระบรมโอรสาธิราช ตามบันทึกในจดหมายเหตุเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ของนายแก้ว ร.ศ. ๑๒๘ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๒) ซึ่งได้บันทึกไว้ดังนี้

 "....เมื่อเช้านี้เวลา ๔ โมงเศษ เสด็จออกจากพลับพลาโดยรถยนต์ แล่นไปพ้นพลับพลาได้ประมาณ ๑๕ เส้น ถึงทาง ๒ แพรก แพรกขวาไปกะปาง รถที่นั่งไปทางแพรกซ้าย ทางไปในป่าเป็นพื้น แต่ได้ผ่านนาและไร่เป็นแห่ง ๆ ไป ทางนับว่าเป็นอย่างราบ ดินตามแถบนี้เป็นดินสอ คือสีขาวเป็นพื้น แต่บางแห่งก็มีสีแดงจัด ดูราวกับพลัดพวกอยู่ในท่ามกลางดินขาว เพราะเหตุที่เขาเป็นดินสอเช่นนี้ จึงเรียกนามว่า เขาขาวไป 

จากพลับพลาได้ประมาณ ๒๖๐ เส้น ถึงทาง ๒ แพรก อีกแพรกขวาไปท่ามะพร้าวและทะเลสองห้อง วันนี้เสด็จต่อไปทางแพรกซ้าย อีกประมาณ ๖๐ เส้น ก็ถึงควนท่าลูน เสด็จลงจากรถทรงเก้าอี้ต่อไป

เพราะถนนตั้งแต่ที่นี่ไปยังทำไม่แล้วดี คือต้องบากเขา เดินไปตามริมคลองคล้าย ๆ ถนนที่โต๊ะลูลุด อันที่จริงถ้ารถจะไปจริงก็ได้เพราะถนนกว้างพอ แต่เจ้าคุณเทศายังไม่ไว้ใจจึงให้ทรงเก้าอี้ดีกว่า

พอพ้นที่เขานั้นไปแล้ว ถนนตัดไปในป่ายางเป็นเส้นคู่ไปกับคลองเกือบตลอด จนถึงท่าประดู่ ข้ามคลองโดยตะพานซึ่งทำไว้ชั่วคราวก่อน ต่อไปจึงจะทำตะพานมั่นคงขึ้น

ตรงนี้ผมถามเจ้าคุณเทศาว่า ทำไมไม่ทำตะพานเสียที่ท่าลูน จะได้ไม่ต้องบากเขาทำถนนเสียให้ลำบาก ท่านชี้แจงว่า ถ้าทำที่ท่าลูนตะพานคงจะอยู่ได้ไม่ยั่งยืน เพราะในฤดูน้ำขอนลอยมาตามน้ำจะติดเสาตะพาน ทำอันตรายแก่ตะพานได้มาก จึงต้องทำที่ท่าประดู่ ซึ่งมีบ้านคนอยู่มาก จะได้อาศัยคนคอยดูคัดขอนไม้ให้หลุดจากตะพานไปเสียได้

พอข้ามคลองไปขึ้นท่าประดู่ได้แล้ว ถนนตัดไปในทุ่งแลเห็นนาอยู่มาก ไปไม่ช้าก็แลเห็นเขาปินะเด่นอยู่กลางทุ่งราวกับใครแกล้งยกเอามาตั้งไว้ เขานี้เป็นเขาศิลา หน้าตัดตรง ๆ ลงหาพื้นดิน ที่หน้าผามีช่องราวกับหน้าต่างในป้อม เดินทางจากท่าประดู่ไปได้ไม่ช้าก็ถึงหน้าถ้ำ รวมระยะทางตั้งแต่พลับพลาเขาขาวไป ๔๑๒ เส้น

ปากถ้ำนั้นอยู่สูงจากพื้นดินมาก แต่มีบันไดแข็งแรงขึ้นไป ขึ้นไปถึงพื้นไม้เสียชั้นหนึ่งก่อน ที่นี่มาหลังคาทำเป็นศาลาที่พัก พระวัดนี้ใช้เป็นหอฉัน

ขึ้นบันไดไปถึงพื้นไม้อีกชั้นหนึ่งซึ่งใช้เป็นวิหาร มีพระพุทธรูปเป็นพระประทานตั้งไว้อยู่ข้างหนึ่งกับมีกุฏเล็ก ๆ ซึ่งพระเณรใช้เป็นที่จำวัด ในเวลานี้ มีพระ ๘ รูป เณร ๙ รูป แต่ไม่ได้มีอยู่มากเช่นนี้เสมอ ไป ๆ มา ๆ ขึ้นบันไดต่อจากวิหารนี้เป็นช่องทางขึ้นไป

ถึงตัวถ้ำใหญ่อันเป็นที่ควรดู มีศิลาปูนย้อยมาจากเพดานถ้ำ จนเป็นประดุจเสาค้ำเพดานก็มี ที่ดูประดุจสาหร่ายก็มี นับเป็นถ้ำน่าดูได้แห่งหนึ่ง แต่ที่เก่งที่สุดคือ ออกไปโผล่ดูตามช่องคูหาที่หน้าผา แลดูออกไปข้างนอกเห็นได้ไกลดีจริง ๆ

เพราะหน้าผาตัดตรงลงไปหาพื้น ไม่มีอะไรมาบังข้างหน้าเลย รู้สึกเหมือนขึ้นไปดูบนหอคอย การที่ได้ดูภูมิประเทศได้ไกลและกว้างขวางเช่นนี้ ทำให้เป็นที่เพลิดเพลินใจ ทำให้รู้สึกว่าการไปถ้ำเขาปินะนี้ ไม่เสียเวลาเปล่า

ถึงภายในถ้ำจะไม่งามเหมือนถ้ำในเขตพังงา ก็ได้เปรียบทางที่มีช่องคูหาที่เยี่ยมดูภูมิประเทศได้เช่นนี้ ได้ประทับเสวยในปากปล่องอันหนึ่งในถ้ำนั้น ลมโกรกเย็นสบายจนออกจะง่วง ๆ ….”

 ครั้งที่ ๓ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ได้มาเยี่ยมชมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้บันทึกชื่อพร้อมวัน เดือน ปี ที่ได้มาเยี่ยมไว้ที่ผนังถ้ำขามไว้เป็นหลักฐาน

จากซ้ายไปขวา พระยาบุษรถ (ฟ้อน ศิลปี), ท้าววรจันทร์, เจ้าคุณพระประยูรวงศ์, ท่านผู้หญิงตลับ, เจ้าจอมมารดาชุ่ม, เจ้าจอมมารดาโหมด, พระราชชายาเจ้าดารารัศมี, เจ้าจอมเลียม
ถ่ายเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2448

 ครั้งที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๗๑ ได้ประทับเสวย ณ ถ้ำจำปา และมีการสลักพระปรมาภิไธยย่อ "ป.ป.ร." ไว้ที่ผนังถ้ำเป็นหลักฐานไว้ด้วย

 จากบันทึกจดหมายเหตุทั้งสองฉบับที่กล่าวแล้วข้างต้นทำให้ทราบว่าเดิมถ้ำเขาปินะมีสภาพที่สวยงามมากและมีจุดเด่นที่มีช่องเปรียบประตูและหน้าต่างหอคอยผิดกับสภาพปัจจุบันที่ความสวยงามได้ถูกทำลายโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนรุ่นหลัง
Share