พาเที่ยวศาลเจ้าชินโตศรีราชา  ศาลเจ้าญี่ปุ่นในไทย ชลบุรี

พาเที่ยวศาลเจ้าชินโตศรีราชา ศาลเจ้าญี่ปุ่นในไทย ชลบุรี

คนไทย กับ คนญี่ปุ่น เรียกได้ว่ามีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกันมาอย่างยาวนานค่ะ โดยเฉพาะที่ ศรีราชา ซึ่งมีคนญี่ปุ่นอยู่ประมาณ 5,000-6,000 คนเลยทีเดียว ไม่ว่าจะมาทำงานในไทย หรือมาท่องเที่ยว จึงมีสร้าง ศาลเจ้าชินโตศรีราชา (Sriracha Shinto Shrine) ศาลเจ้าญี่ปุ่นในไทย ขึ้นเป็นแห่งแรกค่ะ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนญี่ปุ่นในศรีราชานั่นเอง รวมถึงเราคนไทยก็สามารถไป ขอพรเทพเจ้า กันได้โดยไม่ต้องบินไกลไปถึงญี่ปุ่นอีกด้วย เอาล่ะ! ตามเรามารู้จักที่นี่กันเลยค่ะ

ศาลเจ้าศรีราชา หรือ ศาลเจ้าชินโตศรีราชา (Sriracha Shinto Shrine) เป็น ศาลเจ้าญี่ปุ่นแห่งแรกในไทย ค่ะ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวญี่ปุ่นในไทย และเพื่อเผยแพร่พระพุทธคุณของเทพเจ้าหลัก เทพเจ้าอามาเตราซุ หรือ เทพเจ้าอามาเทราสึ (Amaterasu Omikami) เทพเจ้าแห่งพระอาทิตย์ และแสงสว่าง และ เทพเจ้าอุกะโนะมิทามะ หรือ เทพเจ้าอินาริ (Ukanomitama no Kami) เทพเจ้าแห่งเกษตรกรรม ค่ะ

ตำนาน 9 เทพเจ้าญี่ปุ่น และ ศาลเจ้าสิงสถิต ขลังสุดในญี่ปุ่น
รู้จัก 2 เทพญี่ปุ่นในศาลเจ้าชินโตศรีราชา อามาเทราสึ และอุกะโนะมิทามะ ทำไมต้องเป็นสององค์นี้?
ศาลเจ้าชินโตศรีราชา ศาลเจ้าญี่ปุ่นในไทย ชลบุรี

ภายในศาลเจ้า มีสิ่งที่น่าสนใจคือ
ศาลากลาง (ฮนเด็ง : Honden) : ประดิษฐาน ชินไท (Goshintai) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของวิญญาณทวยเทพ
โถงสักการะบูชา (ไฮเด็น : Heiden) เป็นที่สักการะบูชา
เสาประตูศาลเจ้า (โทริอิ : Torii) คือ ประตูทางเข้าศาลเจ้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าต่อจากนี้ไปคือจะเข้าสู่พื้นที่ของเทพเจ้า
ซุ้มตักน้ำชำระล้าง (เทะมิสุยะ : Temizuya) สถานที่สำหรับล้างมือ ปาก และจิตใจ เพื่อเตรียมพบเทพเจ้า

ต้องบอกว่า สำหรับใครที่อยากแวะมาสักการะเทพเจ้า ที่ ศาลเจ้าชินโตศรีราชาแห่งนี้ แนะนำว่า ถ้าขับรถมา จะไม่มีที่จอดรถนะคะ ต้องจอดรถตามข้างทาง หรือ ตามซอยใกล้ๆ กัน แล้วเดินมาได้ค่ะ

เราจะได้เห็นศาลเจ้าเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางตึกและบ้านเรือน โดดเด่นแต่ก็กลมกลืน ให้บรรยากาศกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชุมชน ด้านหน้าของศาลเจ้าจะมี ซุ้มตักน้ำชำระล้าง (เทะมิสุยะ : Temizuya) อยู่ค่ะ เพื่อให้เราได้ชำระล้างทั้งกายและใจก่อนที่จะเข้าพบเจ้าเทพเจ้า ระหว่างที่เรากำลังตั้งสมาธิล้างมืออยู่นั้น ก็จะมี มิโกะ ของศาลเจ้าคอยให้ข้อมูลต่างๆ ด้วยค่ะ ซุ้มเทะมิสุยะนี้ ยังมีตรวจคุณภาพน้ำด้วย เรียกได้ว่าละเมียดละไมจริงๆ

หลังจากได้ชำระล้างแล้ว เราก็มายังตรงจุด สั่นกระดิ่ง เพื่อสั่นกระดิ่งให้เสียงดังก้องกังวาลให้เทพเจ้ารับรู้ได้ถึงการมาเยือนของเรา และช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย นั่นเอง บรรยากาศเหมือนอยู่ที่ญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ทันทีที่ก้าวเข้ามาด้านในศาลเจ้า เสียงรถผ่านไปมาอันวุ่นวายก็เงียบสงบลง เหลือเพียงความสงบนิ่งอันมีมนต์ขลัง แม้จะเป็นศาลเจ้าเล็กๆ เพียงหนึ่งคูหา แต่ก็มีทุกอย่างครบถ้วนตามแบบฉบับของญี่ปุ่น มิโกะเล่าให้เราฟังว่า เทศกาลเซ็นซะ หรือ พิธีอัญเชิญเทพเจ้า ประดิษฐาน ณ ที่ตั้งใหม่ จัดขึ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมานี่เองค่ะ

เราทำการสักการะเทพเจ้าตามขั้นตอนแบบญี่ปุ่น (ดูวิธีการสักการะได้ที่ >> ขั้นตอนการสักการะเทพเจ้า ที่ศาลเจ้าชินโต ขอพรอย่างไร เลือกเครื่องรางแบบไหนให้เสริมดวง ) ขอพรต่อท่านเทพเป็นที่เรียบร้อย จากนั้น เราก็แวะไปซื้อเครื่องรางกลับบ้านเพื่อเป็นสิริมงคลค่ะ

นอกจากนี้ ถ้าใครอยากถ่ายรูปสวยๆ ทางศาลเจ้าก็มี เสื้อฮัปปิ ให้ใส่ถ่ายรูป ฟรี กันอีกด้วยค่ะ เป็นอีกหนึ่งในกิมมิกน่ารักๆ ของศาลเจ้าเลยทีเดียวน้า มาลองใส่กันได้

นอกจากนี้ ยังมี ปลาคูกุริ (Kukuri Fish) ให้เราสามารถเขียนคำอธิษฐานต่างๆ บนตัวปลา และแขวนไว้ที่ด้านข้างของศาลเจ้าได้อีกด้วยค่ะ เหมือนที่ญี่ปุ่น ที่เราจะไปแผ่นไม้ Ema เพื่อขอพรนั่นเอง

เกี้ยวมิโคชิ Mikoshi
หลังจากสักการะ ขอพรเทพเจ้าทั้ง 2 เป็นที่เรียบร้อย เราก็เดินเข้าไปในซอยด้านข้างของศาลเจ้า ซึ่งจะมี เกี้ยวมิโคชิ (Mikoshi) ทั้ง 2 หลังตั้งอยู่ค่ะ โดยทางชินโตมีความเชื่อว่าเป็นพาหนะในการขนส่งเทพเจ้าในญี่ปุ่นขณะเคลื่อนย้ายระหว่างศาลเจ้าหลักไปยังศาลเจ้าชั่วคราวหรือศาลเจ้าใหม่นั่นเอง โดยลักษณะจะมีความคล้ายๆ กับ ศาลเจ้าขนาดเล็ก ค่ะ ตรงนี้เราสามารถแวะมาชมได้ ดูใกล้ๆ แล้วละเอียดและประณีต สวยงามมากค่ะ

แถมยังมีคล้ายๆ ซุ้มป่าไผ่จำลองอยู่ด้วย แม้บรรยากาศ 2 ข้างทางจะเป็นตึกสูงก็ตาม ถึงจะไม่ได้เป็นมุมถ่ายรูปเยอะอะไรมากมาย แต่รู้สึกถึงความเงียบสงบ และเข้ากับบรรยากาศของศาลเจ้าด้านหน้ามากๆ เลยล่ะค่ะ

นอกจากศาลเข้าชินโตศรีราชาแห่งนี้จะเป็นสถานที่ขอพร สักการะเทพเจ้าแล้ว ที่นี่ยังสร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของญี่ปุ่นในไทย เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเข้าด้วยกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และทำให้คนไทยอย่างเราๆ สามารถมาขอพรเทพเจ้าเพื่อความเป็นสิริมงคลได้โดยไม่ต้องบินไปไกลถึงญี่ปุ่นกันเลย

นอกจากนี้ ยังเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวแนะนำที่จะถ่ายทอดเรื่องราวใหม่ๆ ของ ศรีราชา ให้เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้นนั่นเองค่ะ โดยในอนาคตจะมีการสร้าง ประตูโทริอิ (Torii) ขนาดใหญ่ที่ศรีราชาเป็นแห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย ต้องอดใจรอกันสักหน่อยนะคะ

ข้อมูล ศาลเจ้าชินโตศรีราชา Sriracha Shinto Shrine
ที่อยู่ : 106/10 ถนนสุรศักดิ์สงวน ตำบลศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

Share