พาเที่ยว สะพานมอญ อุตตมานุสรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี

พาเที่ยว สะพานมอญ อุตตมานุสรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี

วันนี้จะพาเพื่อน ๆ มาเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรีกันนะครับ กาญจนบุรี จังหวัดที่ติดกับชายแดนประเทศพม่า ที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ทั้งในเชิงระบบนิเวศ ในทางศิลปวัฒนธรรม ปติมากรรม และในเชิงประวัติศาสตร์ หลาย ๆ แห่ง สำหรับวันนี้ผมจะพาเพื่อน ๆ มาเที่ยวชม “สะพานมอญ” ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ที่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ถือว่าเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีความยาวถึง 850 เมตร สร้างข้ามลำน้ำซองกาเลีย เพื่อให้ประชาชนสองหมู่บ้านเดินข้ามฝั่งเพื่อไปมาหาสู่ติดต่อกัน บนสะพานแห่งนี้ ยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงามอีกที่หนึ่งที่มองเห็นวิวของทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณ์ สามารถมองเห็นลำห้วยต่าง ๆ คือลำห้วย ซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี ที่ไหลมารวมกันเป็นสามประสบ

ประวัติความเป็นมาของสะพานมอญแห่งนี้ เดิมชาวบ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำซองกาเลีย ไม่มีสะพานข้ามฝั่งเหมือนปัจจุบันนี้ แต่ชาวบ้านต่างช่วยกันใช้ไม้ไผ่ต่อกันเป็นแพ โดยมีคนคอยลากให้มาเชื่อมต่อกันเพื่อเดินทางข้ามไป-มา เก็บค่าโดยสาร 1 บาท (เรียกว่าสะพานบาทเดียว) ต่อมาหลวงพ่ออุตตมะเห็นความลำบากของชาวบ้าน ในการข้ามฝั่ง จึงได้เริ่มสร้างสะพานไม้ขึ้นมา เพื่อให้ชาวบ้านทั้งสองฝั่งข้ามแม่น้ำเดินทางสะดวกยิ่งขึ้นและไม่เป็นอันตรายในฤดูกาลที่มีน้ำหลาก และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางข้ามฝั่ง การสร้างสะพานมอญแห่งนี้ ใช้แรงงาน ทักษะ และพลังศรัทธาของชาวบ้านในท้องถิ่นต่อหลวงพ่ออุตตมะ ใช้อุปกรณ์การก่อสร้างแบบพื้นบ้าน ไม่มีการใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ทุ่นแรงสมัยใหม่แต่อย่างใด

ลักษณะการสร้างสะพาน คือ ใช้วัสดุผูกยึดกับตอไม้ เสา และกระดานไม้ ซึ่งสะพานทั้งหมดทำมาจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ซึ่งจะสามารถทนทานต่อการผุกร่อนจากน้ำ เพราะว่าลำเสาที่ค้ำยันสะพาน จะฝังอยู่ในน้ำตลอดเวลา สะพานใช้เสา 60 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 10 ศอก ใช้ไม้กระดานที่ตัดเป็นท่อน นำมาต่อกันเป็นตัวสะพาน สะพานแห่งนี้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529-2530 มีความยาว 850 เมตร (สะพานมอญแห่งนี้ ถือว่าเป็นสะพานไม้ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสะพานไม้อูเบ็งในประเทศพม่า) เพื่อใช้ข้ามฝั่งแม่น้ำซองกาเลีย ของประชาชน 2 ตำบล ในอำเภอสังขละบุรี สะพานแห่งนี้นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังแสดงถึงพลังศรัทธาต่อหลวงพ่ออุตตมะ ที่เป็นที่พึ่งทางใจ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของชาวมอญในพื้นที่ อำเภอสังขละบุรี แห่งนี้

สะพานมอญหลังจากที่สร้างแล้วเสร็จ ก็มีการซ่อมแซมดูแลปรับปรุงมาตลอด เมื่อปี 2556 มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก พัดเอาเศษท่อนไม้ต่าง ๆ ที่มากับน้ำ มาปะทะกับสะพานมอญ ทำให้สะพานบางส่วนขาดหายไป จึงได้มีการบูรณะและซ่อมแซมเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ให้มีสภาพคงเดิมเช่นปัจจุบันนี้

ปัจจุบันสะพานมอญแห่งนี้ เป็นจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของจังหวัดกาญจนบุรี ไม่ว่านักท่องเที่ยวชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่มา ต่างต้องการมาถึงสะพานแห่งนี้ให้ได้ ถ้าใครมากาญจนบุรีแล้ว ไม่ได้มาสะพานมอญแห่งนี้ ถือว่ายังไม่ถึงเมืองกาญจนบุรีกันนะครับ

การมาเที่ยวที่นี่ นอกจากเราจะได้ชมความสวยงามและความมหัศจรรย์ของสะพานไม้มอญกันแล้ว เรายังจะได้เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมของชาวมอญที่นี่ด้วย เช่น อาหารของชาวมอญ การตักบาตรตอนเช้า เพื่อน ๆ ที่มาท่องเที่ยวจะร่วมตักบาตรกับชาวบ้านที่นี่ก็ได้นะครับ ช่วงเวลา 6-7 โมงเช้า เป็นช่วงที่พระออกบิณฑบาต การตักบาตรทำบุญของที่นี่ ผู้เฒ่าผู้แก่จะตื่นกันแต่เช้า เพื่อเตรียมสำหรับกับข้าวมารอพระท่านบิณฑบาต โดยจะใส่บาตรด้วยข้าวสวยและดอกไม้ การกราบลงพื้นถนนเพื่อแสดงความเคารพ ศรัทธา ต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นภาพบรรยากาศที่สวยงามและประทับใจผมอย่างยิ่ง ถ้านักท่องเที่ยวต้องการใส่บาตรก็สามารถซื้อกับข้าวหรือสิ่งของที่จะใส่บาตร ในบริเวณใกล้เคียงร้านค้าแถวนี้ได้ แต่ว่าถ้าเพื่อน ๆ อยากได้บรรยากาศที่จะประทับใจ อยากใส่ชุดมอญตักบาตรเหมือนที่ชาวบ้านที่นี่ ทางร้านค้าบริเวณสะพานมอญก็จะมีชุดมอญให้เช่าทั้งชาย หญิง พร้อมเครื่องสังฆทานหรือข้าวปลาอาหาร ที่พร้อมจะตักบาตรไว้บริการนักท่องเที่ยว นะครับ

หลังจากตักบาตรทำบุญกันอิ่มใจแล้ว ถ้าเพื่อน ๆ หิว ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ในบริเวณนี้มีบริการนักท่องเที่ยวอยู่หลายร้านเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารของชาวมอญ หรือว่าอาหารทั่วไป แต่ถ้าเพื่อน ๆ มาเที่ยวแห่งนี้ ผมอยากแนะนำให้ลองชิมอาหารของชาวมอญที่เป็นอาหารท้องถิ่นกันดูนะครับ อร่อยไม่แพ้อาหารที่เราเคยทานกันประจำ เช่น ขนมจีนน้ำยาหยวกกล้วย เป็นต้น เพื่อให้การท่องเที่ยวของเพื่อน ๆ ได้รสชาติและการเข้าถึงวิถีชีวิตของชาวมอญที่นี่อย่างแท้จริง แต่ก็มีอาหารมอญอีกหลายเมนูให้เลือกทานกันนะครับ

เมื่ออิ่มท้องแล้ว บริเวณใกล้ ๆ กับสะพานมอญ ก็ยังมีร้านขายของฝาก ของที่ระลึก หลายร้าน เช่น เสื้อยืดที่สกรีนเป็นรูปสะพานมอญ เป็นชื่อจังหวัด ของที่ระลึกที่ทำจากไม้ ลูกปะคำหลวงพ่ออุตตมะ ที่ให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อหาไว้สะสมหรือเป็นของฝากกัน ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของชาวมอญที่นี่ก็คือ การวางของไว้บนหัวหรือที่เรียกว่าเทินของไว้บนหัวของชาวมอญนั่นเอง ถึงแม้ว่าสัมภาระค่อนข้างจะหนัก แต่ชาวมอญก็สามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่ว เหมือนว่าบนหัวเหมือนไม่มีของหนักอะไรเลย ถือเป็นลักษณะเด่นของชาวมอญ ที่ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวอีกอย่างหนึ่ง

สะพานมอญ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ต. หนองลู อ. สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี การเดินทาง จากตัวอำเภอเมืองจังหวัดกาญจนบุรี ไปสะพานมอญ อำเภอสังขละบุรี ระยะทาง 220 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมง ผ่านถนนหมายเลข 323 ถือว่าเป็นอำเภอที่ไกลจากตัวจังหวัดมาก ๆ เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น เพราะฉะนั้นการเดินทางมาเที่ยวสะพานมอญ ควรจะต้องวางแผนการเดินทางเป็นอย่างดี เพราะไกลและเส้นทางรถค่อนข้างจะเดินทางแบบระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นควรจะวางแผนออกเดินทางกันแต่เช้าเพื่อจะไปถึงที่อำเภอสังขละบุรี ไม่เย็นมากนักนะครับ

สะพานมอญ
ซอย สะพานไม้ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี กาญจนบุรี 71240

Share