สินค้าแนะนำ

พาเที่ยวเกาะเหลา จ.ระนอง

พาเที่ยวเกาะเหลา จ.ระนอง

ถ้าเอ่ยถึงข้าวหลาม คนคิดถึงหนองมน ชลบุรี ถ้าจะกินขนมหม้อแกง ก็พะยี่ห้อเพชรบุรีไว้เลย

ปลาทูต้องของแม่กลอง เจ้าตำรับหน้างอคอหัก ผ้าไหมแพรวา ต้องที่กาฬสินธุ์ ฯลฯ แล้วกะปิ ผมก็เพิ่งรู้ว่าถ้ากะปิดีที่ขึ้นชื่อ ต้องเป็นกะปิเกาะเหลา ที่ระนอง เป็นกะปิที่ดีชั้น 1 ทำจากเคยแท้ อ่อนเกลือ มีกลิ่นหอม ที่สำคัญหายากแต่ไม่แพงนัก เมื่อมีโอกาสมาระนองก็เลยขอไปตามดูถึงย่านผลิตกะปิดี ที่เกาะเหลาซะเลยครับ

สุดยอดกะปิอร่อย บนเกาะกลางอันดามัน
ไม่ไกลจากปากน้ำระนองมีอีกหนึ่งเกาะอร่อยน่าสนใจ แต่ฟังชื่อแล้วอาจไม่ค่อยคุ้นหู นามว่า เกาะเหลา ซึ่งอดีตเคยเป็นเพียงที่พำนักของยิปซีทะเล หรือชาวมอแกน แต่ปัจจุบันกลับเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตกะปิกุ้งเคยรสยอด ที่รู้จักกันในชื่อ กะปิระนอง

Location ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยามใกล้ป่าชีวมณฑลโลก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดระนองห่างจากปากน้ำระนองราว 5 กม.

จากตัวเมืองระนอง ถึงยังเกาะเหลา ให้คุณขับรถออกจากตัวเมืองตรงสู่ท่าเรือสะพานปลาระนอง หรือท่าเรือปากน้ำระนอง แล้วเลือกเช่าเหมาลำเรือหางยาวมุ่งหน้าสู่เกาะเหลา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20-30 นาที

มีเรือหางยาวของชาวบ้านคอยรับส่งระหว่างเกาะ และฝั่งปากน้ำระนอง นอกจากนี้ยังมีจุดจำหน่ายของฝากและของที่ระลึกจากชาวมอแกน รวมถึงร้านค้า ร้านอาหาร และที่พักแบบโฮมสเตย์บนเกาะอีกด้วย

ธรรมชาติท้องทะเลสมบูรณ์ อาหารการกินก็บริบูรณ์ไปด้วย
เกาะเหลา เป็นเกาะขนาดเล็กภายในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ตั้งอยู่ที่ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง ตรงข้ามกับจังหวัดเกาะสอง ของประเทศพม่า ภายในชุมชนมีบ้านเรือนอยู่รวมกันราวหกสิบกว่าหลังคาเรือน ซึ่งถือว่าไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป ประชากรบนเกาะมีทั้งชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม โดยแบ่งเป็นทั้งกลุ่มคนไทย และกลุ่มชาวมอแกน รวมแล้วมีประชากรราว 300 คน ทั้งนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงลดเพิ่มตามการอพยพของชาวมอแกน

บ้านเรือนของชาวเกาะเหลาใน ระนอง เป็นกลุ่มคนไทย ชุมชนบนเกาะ
ส่วนที่อยู่อาศัยของประชากรทั้ง 2 กลุ่มนั้น จะจัดแบ่งกันอยู่คนละฟากเกาะ ซึ่งตั้งอยู่ห่างกันราว 3 กม. ส่วนใหญ่ใช้วิธีไปมาหาสู่กันด้วยการล่องเรือ และเดินเท้า กลุ่มคนไทย จะตั้งบ้านเรือนอยู่ในส่วนที่เรียกว่า เกาะเหลาใน ส่วนชาวมอแกน กลุ่มคนที่มีชีวิตผูกพันกับผืนน้ำและการประมง จะตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ชุมชนขนาดย่อมริมทะเลด้านนอก ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เกาะเหลานอก ทันทีที่ก้าวลงจากเรือคุณก็จะเห็นเด็กๆ ตัวเล็กเล่นซนกันตามชายหาด บ้างก็ออกหาปลากับพ่อแม่ เป็นอีกหนึ่งบรรยากาศที่ชวนให้เพลิดเพลินอย่างยิ่ง ว่ากันว่าประชากรเด็กๆ มีมากเกือบครึ่งหนึ่งของคนทั้งหมดบนเกาะ ใครชอบถ่ายภาพรับรองไม่ผิดหวังเพราะนอกจากจะได้ตามติดขั้นตอนการทำกะปิอย่างใกล้ชิด คุณยังจะได้ภาพเด็กชาวมอแกนสวยๆ ไปอวดเพื่อนอีกหลายใบ

การท่องเที่ยวยังเกาะเหลา เลือกทริปได้ทั้งแบบไปพักค้างคืนแบบโฮมสเตย์ ไปเช้า-กลับเย็น และไปเที่ยวแบบครึ่งวัน จากนั้นนิยมกลับฝั่งเพื่อชมพระอาทิตย์ตก ณ หาดชาญดำริ แล้วไปอิ่มอร่อยต่อกับอาหารทะเลสดๆ ราคาไม่แพง ตามฉายาอู่อาหารแห่งอันดามัน

ชมวิถีชีวิตชาวมอแกน
ชาวมอแกนที่เกาะเหลา ว่ากันว่าย้ายถิ่นมาจากเกาะช้าง และรวมตัวเป็นกลุ่มปักหลักอยู่ ณ เกาะแห่งนี้มากว่า 30 ปี มีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย มีภาษาพูดเป็นของตนเอง (ภาษายาวี) ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงแบบโบราณสืบต่อมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน ลักษณะการทำประมงของชาวมอแกน จะไม่ใช้เรือลำใหญ่ มีเพียง “เรือก่าบาง” เท่านั้นที่เปรียบเสมือนหัวใจของพวกเขา เป็นทั้งพาหนะ เครื่องมือทำมาหากิน และเป็นที่อาศัยในบางครั้งที่ต้องออกเรือเป็นเวลานานๆ

เรือก่าบาง พาหนะหาปลาดำรงชีพแบบเรียบง่ายดั้งเดิมของชาวมอแกน เกาะเหลานอก ระนอง
วิถีชาวมอแกน
เจ้าเรือชนิดนี้มีลักษณะโดดเด่นตรง “ง่าม” หรือรอยหยักเว้าที่หัวเรือและท้ายเรือ ประโยชน์ของมันคือใช้เป็นที่ปีนเพื่อขึ้นและลงเรือ โดยเฉพาะยามที่ชาวมอแกนลงว่ายและดำน้ำ การปีนขึ้นด้านข้างลำเรืออาจทำให้เรือโคลงหรือกาบเรือที่สานจากไม้ไผ่พังลงมาได้ ส่วนการจับปลานั้น คนบนเกาะนี้ไม่ถนัดการใช้อวน ไซ หรือเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำตามแบบชาวประมงทั่วไป แต่พวกเขาจะใช้ “แลม” มีลักษณะเป็นเหล็กแหลมเล็กๆ ในการไล่ล่าปลาแทน

กระชังปลา เกาะเหลา ระนอง
นอกจากนี้พวกเขายังมีอีกหนึ่งอาชีพที่ทำให้นักท่องเที่ยว และนักชิมต่างพากันจับจ้องมาที่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ อาชีพนั้นก็คือ พ่อครัวผู้ผลิตกะปิเคยรสเลิศนั้นเอง ส่วนลักษณะบ้านเรือนเป็นบ้านไม้ยกพื้นสูงมุงจากเพื่อความปลอดโปร่งเย็นสบาย แต่ก็ต้องแลกกับความคงทนที่ลดต่ำลงมา

หนึ่งในกะปิเคยรสดีที่สุดกำเนิดจากแหล่งผลิตในชุมชนเล็กๆ บนเกาะไม่ไกลจากปากน้ำระนอง กะปิดังกล่าวเป็นกะปิชั้นเลิศซึ่งรู้จักกันในชื่อ กะปิระนอง แถมยังมีขายอย่างแพร่หลายในแหล่งช้อปปิ้งแหล่งต่างๆ

ก่อนนำไปทำกะปิเคยขั้นต่อไป ต้องตากแห้งก่อน เป็นวิถีการทำกะปิเคยแบบดั้งเดิมของเกาะเหลา ระนอง
ตากเคยในวันแดดจัด พร้อมทำกะปิ
สำหรับกะปิดังฝีมือชาวเกาะเหลา เป็นกะปิที่ทำจากกุ้งเคย อีกทั้งยังเกิดจาการใช้ครกตำ มิใช่เท้าเหยียบเหมือนกับบางสูตร ทั้งหมดไม่มีการใส่สี ใส่สารกันบูด แต่จะดูสดใสสวยงามจากการใช้กุ้งเคยพันธุ์ดีในการทำ รสชาติโดดเด่นไม่เหมือนใครเพราะกลิ่นหอม แถมไม่เค็มเกินไป บางคนนิยมจิ้มผักสดกินกับข้าวสวยร้อนๆ บ้างนำมาปรุงผสมเพื่อเพิ่มความอร่อยให้กับเมนูอาหาร เช่น น้ำพริกกะปิ และผัดสะตอ ในแบบใต้ หรือ แกงผักต่างๆ และเติมนิดหน่อยในน้ำพริกอ่องในแบบเหนือ ก็อร่อยได้ไม่แพ้กัน

ชาวมอแกนบนเกาะเหลานอก ระนอง วิถีเรียบง่าย
ส่วนด้านวัฒนธรรมหากคุณมีเวลามากพอแล้วตัดสินใจค้างแบบโฮมสเตย์สักคืนบนเกาะแห่งนี้ การได้ชมลิเกป่าซึ่งร้องรำตามประสามอแกน ถ่ายทอดวิถีชีวิตผ่านบทเพลง ด้วยถ้อยสำเนียงภาษาเฉพาะชาติพันธุ์ พร้อมเครื่องเคาะจังหวะตามแต่หาได้ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สามารถสร้างความบันเทิงให้คุณได้ไม่น้อย

กุ้งเคยตากแห้งตามวิถีผลิตกะปิดั้งเดิมของชาวเกาะเหลา ระนอง
ส่วนต้นกำเนิดเครื่องปรุงชนิดเกิดจากการคิดค้นวิธีการเก็บถนอมรักษาอาหารของชาวประมง เมื่อไม่สามารถขายกุ้งได้หมด จึงต้องการดองกุ้งที่จับมาเพื่อเก็บรักษาเอาไว้รับประทานได้นาน ๆ สำหรับขั้นตอนการทำกะปิและวัตถุดิบที่ใช้นั้น ก็แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ เนื่องจากเป็นเครื่องปรุงที่แพร่หลายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กะปิเกาะเหลา ระนอง ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติดีระดับประเทศ
จะเมนูอาหารไทยภาคไหน ได้กะปิเกาะเหลาแห่งระนอง เหมือนได้วัตถุดิบชั้นดี
ขั้นตอนการผลิตกะปิของชาวเกาะเหลา เริ่มจากการจับและคัดสรรกุ้งเคยตัวงามๆ ซึ่งอาศัยอยู่ตามบริเวณผิวทะเลฝั่งทะเลอันดามันกันก่อน โดยจะใช้อวนไนล่อนสีฟ้า มีขนาดช่องตาตั้งแต่ 1-2 มม.นำมาเย็บเป็นถุงแล้วช้อนขึ้นตามผิวน้ำ จากนั้นนำเคยสดที่ได้ไปคลุกเคล้ากับเกลือ ในอัตราส่วนที่เป็นความลับ แล้วนำไปพักไว้โดยใส่ในภาชนะที่มีช่องระบาย ก่อนที่จะนำเคยที่ผ่านการหมักกับเกลือแล้วไปตากแดดจัด พอแห้งสนิทค่อยเอามาตำลงในครกไม้ให้ละเอียด แล้วนำไปบรรจุหมักในภาชนะที่มิดชิดปราศจากการรบกวนจากแมลงต่างๆ ตามระยะเวลาที่เป็นความลับอย่างน้อย 3-5 เดือน

Ko Lao
ตำบล บางริ้น อำเภอเมืองระนอง ระนอง 85000

Share