ชวนย้อนอดีตเที่ยวเมืองโบราณแห่งล้านนา พาไปสัมผัสกับเวียงกุมกาม เมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนาในสมัยพญามังราย อายุมากกว่า 700 ปี เป็นที่เที่ยวเชียงใหม่ที่ไม่อยากให้พลาด
ถ้ามีโอกาสไปเที่ยวเชียงใหม่จะไปเที่ยวที่ไหนกันคะ ถ้าให้คาดเดา 1 ใน 10 ของที่เที่ยวเชียงใหม่ในใจหลาย ๆ คนจะต้องเป็นที่เที่ยวธรรมชาติ ร้านอาหาร และร้านกาแฟแน่ ๆ แต่จะมีสักกี่คนที่นึกถึงสถานที่แห่งนี้ “เวียงกุมกาม” เมืองโบราณที่เป็นจุดกำเนิดของอาณาจักรล้านนาแห่งนี้ ซึ่งมีอายุมากกว่า 700 ปีแล้ว วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับที่นี่ให้มากขึ้น รับรองได้เลยว่าการเที่ยวเชียงใหม่ครั้งต่อไป คุณจะไม่อยากพลาดที่นี่เลยล่ะ
เวียงกุมกามอยู่ที่ไหน
เมืองโบราณเวียงกุมกาม ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณระหว่างแม่น้ำปิงสายเก่าและสายใหม่ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร ในพื้นที่ของตำบลท่าวังตาล และตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี รวมถึงตำบลป่าแดด และตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ด้วย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดราว ๆ 3 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวงแห่งแรกของอาณาจักรล้านนา
เวียงกุมกาม มีประวัติที่ยาวนาน เป็นเมืองหลวงแห่งแรกของอาณาจักรล้านนา สร้างขึ้นในสมัยของพญามังราย ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 1829-1838 เพื่อให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางแห่งการปกครอง พญามังรายทรงติดต่อค้าขายกับเพื่อนบ้าน และบัญญัติกฎหมายเพื่อการปกครองบ้านเมืองแบบ "มังรายศาสตร์" จึงทำให้เวียงกุมกามเป็นอีกเมืองที่มีความอยู่ดีมีสุขและเจริญรุ่งเรืองในสมัยนั้น
หากพิจารณาจากโบราณสถานเก่าแก่ที่หลงเหลืออยู่ของเวียงกุมกาม จะเห็นได้ว่าสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ นั้นมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ อย่าง "เจดีย์เหลี่ยม" วัดที่มีเจดีย์รูปทรงสวยงามแปลกตา สร้างโดยพญามังรายในปี พ.ศ. 1831 สิ่งที่โดดเด่นก็คือเจดีย์พระประธานทรงสี่เหลี่ยม มีสถาปัตยกรรมแบบหริภุญชัย ตัวเจดีย์เป็นทรงมณฑปสี่เหลี่ยมลด 5 ชั้น คล้ายทรงพีระมิด มณฑปแต่ละชั้นทำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนปางต่าง ๆ ด้านละ 3 ซุ้ม รวมทั้งหมด 60 ซุ้ม และยังมีลายปูนปั้นที่ตกแต่งอยู่รอบ ๆ พระเจดีย์ ซึ่งเป็นลวดลายที่อ่อนช้อยวิจิตรบรรจง ยิ่งพินิตก็ยิ่งงดงาม สถาปัตยกรรมในวัดอื่น ๆ ก็เช่นกันมีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าหลงใหลไม่แพ้กันเลยทีเดียว
ความล่มสลายของเวียงกุมกาม
เวียงกุมกาม มีเหตุล่มสลายมาจากการเกิดอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้เมืองทั้งเมืองจมอยู่ใต้ตะกอนดิน และประกอบกับสายน้ำปิงก็ได้เปลี่ยนทิศทางไม่ไหลผ่านเวียงกุมกามเหมือนเช่นเคย จึงทำให้ชาวบ้านเริ่มทยอยอพยพออกจากพื้นที่ และเวียงกุมกามก็ได้ล่มสลายอย่างสมบูรณ์เมื่อทหารพม่าไล่ต้อนชาวบ้านที่เหลือไปเป็นเชลยศึก ปล่อยให้ที่นี่กลายเป็นเมืองรกร้างฝังลึกอยู่ใต้ดินกว่า 1-2 เมตร และกลายเป็นตำนานแห่งล้านนาไปในที่สุด
การค้นพบเวียงกุมกามอีกครั้ง
ในปี พ.ศ. 2527 หน่วยศิลปากรที่ 4 ได้เข้ามาขุดแต่งวิหารกานโถม ที่ "วัดช้างค้ำ" จึงทำให้นักโบราณคดีศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวียงกุมกาม และเมื่อศึกษาลงไปให้ลึก และนำมาประกอบกับโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่หมู่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี นักประวัติศาสตร์จึงเชื่อว่าพื้นที่บิเวณนี้เป็นเวียงกุมกาม และได้ทำการขุดแต่งโบราณสถานต่าง ๆ พร้อมกับปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชม เป็นการรื้อฟื้นนครแห่งล้านนาเวียงกุมกามให้กลับมมามีชีวิตอีกครั้ง
นอกจากวัดเจดีย์เหลี่ยมแล้ว ภายในพื้นที่ของเวียงกุมกามก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ดังนี้
- วัดช้างค้ำ ตั้งอยู่ที่หมู่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี เชื่อกันว่าเป็นวัดเดียวกับวัดกานโถมที่พญามังรายให้นายช่างชื่อกานโถมไปนำเครื่องไม้จากเชียงแสนมาสร้างวิหาร การขุดแต่งและบูรณะโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2527 ทำให้พบว่าโบราณสถานที่นี่จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มแรกจะสร้างขึ้นก่อนสมัยของพญามังราย และกลุ่มที่สองจะเป็นโบราณสถานที่สร้างในยุคเวียงกุมกาม ปัจจุบันมีวิหารและเจดีย์ทรงมณฑปบนฐานลานปทักษิณเตี้ย และพระพุทธรูปดินเผาโบราณให้ได้เที่ยวชม
- วัดธาตุขาว ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี เป็นวัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่ามีอยู่ก่อนที่จะสร้างเวียงกุมกาม ที่เรียกว่าวัดธาตุขาว เพราะตัวเจดีย์เดิมนั้นฉาบปูนสีขาว ปัจจุบันที่คงเหลือเฉพาะส่วนฐานเขียงเตี้ยตอนล่าง และชั้นปัทม์ย่อเก็จ 2 ฐานซ้อนกัน นอกจากนี้ยังมีการขุดพบฐานพระวิหาร อาคารวิหารเล็ก และอุโบสถ ในบริเวณเดียวกันก็มีพระพุทธรูปให้นักท่องเที่ยวได้มากราบไหว้ขอพรด้วย
- วัดปู่เปี้ย ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี ห่างจากวัดธาตุขาวเพียงแค่ 200 เมตรเท่านั้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเวียงกุมกาม ปัจจุบันมีโบราณสถานอันประกอบด้วยเจดีย์ประธาน พระวิหาร พระอุโบสถ เจดีย์ราย (กู่) และแท่นบูชา
- วัดอีค่าง ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี ห่างจากวัดปู่เปี้ยเพียงแค่ 200 เมตรเช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่าเป็นวัดสำคัญของเวียงกุมกาม เพราะว่าสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ นั้นมีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพระวิหารหรือเจดีย์ประธาน ในส่วนของพระวิหารนั้นมีขนาดฐานประมาณ 13.50x20.00 เมตร สร้างก่ออิฐสอดินฉาบผิวด้วยปูนขาว ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานที่ยกพื้นสูง และพระเจดีย์ประธานจะเป็นทรงระฆังกลมตั้งอยู่บนฐานลานปทักษิณสูง ที่มีบันไดทางขึ้น/ลงทางด้านหน้ามุมทิศตะวันออกและทิศตะวันตก 2 แห่ง นับเป็นโบราณสถานที่สวยงามอีกแห่งของเวียงกุมกามเลยทีเดียว
- วัดหนานช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี หลังการขุดแต่งได้พบว่ามีสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มากมายหลายจุด และยังพบมณฑปลักษณะพิเศษที่มีโครงสร้างเสา 4 กลุ่ม ๆ ละ 4 ต้น ซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่พบเพียงแห่งเดียวในเวียงกุมกาม นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ "เครื่องเคลือบเนื้อขาว" แบบลายครามสมัยราชวงศ์หมิง บอกเลยว่าไม่ควรพลาดที่จะไปเที่ยวชม
ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม เป็นสถานที่ที่แรกที่นักท่องเที่ยวควรมาเยี่ยมชม ก่อนที่จะออกไปสำรวจเมืองโบราณ เพราะที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของเวียงกุมกาม มีพิพิธภัณฑ์ ร้านขายของที่ระลึกตั้งอยู่ ในส่วนของพิพิธภัณฑ์จะแบ่งแยกออกเป็น 5 ห้อง ได้แก่ ห้องพิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรม จัดแสดงศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในท้องถิ่น, ห้องประวัติศาสตร์ จัดแสดงข้อมูลความเป็นมาของเวียงกุมกาม, ห้องบรรยายสรุปข้อมูลเวียงกุมกาม จัดฉายวิดิทัศน์เวียงกุมกาม, ห้องข้อมูลเวียงกุมกาม แสดงข้อมูลสำคัญของเวียงกุมกามไว้ และห้องแสดงเครื่องดนตรี จัดแสดงเครื่องดนตรีชาวล้านนาไว้หลากหลายประเภท
การเดินทางมายังเวียงกุมกาม
การเดินทางโดยรถยนต์ จากเซ็นทรัลแอร์พอร์ทเชียงใหม่ให้ขับรถมาตามถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตรงไปยังอำเภอสารภี พอไปถึงถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี (ทางหลวงชนบท ชม.3029) ให้เลี้ยวขวาเพื่อไปตำบลท่าวังตาล ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกามจะอยู่ติดถนนเลยค่ะ ส่วนถ้าใครไม่มีรถยนต์ส่วนตัว สามารถนั่งรถสองแถวสีฟ้าเส้นทางเชียงใหม่-ลำพูนไปลงแถว ๆ สถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ปิง และประสานให้ทางศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกามนำรถม้ามารับเพื่อเที่ยวชมเมืองเวียงกุมกามได้เลย
ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งที่เที่ยวเชียงใหม่ที่สามารถได้เที่ยวเอง อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง และยังเที่ยวได้ภายใน 1 วัน ใครที่มีเวลาเหลือไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหนดีในช่วงเช้าหรือบ่ายของวัน ก็สามารถมาเที่ยวที่นี่กันได้
การเที่ยวชมเวียงกุมกาม
เวียงกุมกามเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมได้ทุกวัน ตั้งแต่ช่วงเวลา 07.00-18.00 น. มีค่าบริการคนละ 10 บาท โดยนักท่องเที่ยวสามารถที่จะขับรถเที่ยวเองได้ หรือจะใช้บริการรถม้าของทางศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกามก็ได้ คันละ 300 บาท นั่งได้ 2 คน ใช้เวลาประมาณ 45 นาที