วัดพระทอง (Wat Phra Tong) หรือ วัดพระผุด ความมหัศจรรย์ระดับอันซีนไทยแลนด์ที่ซุกซ่อนในอีกมุมหนึ่งของภูเก็ต วัดเก่าแก่ที่น่าสนใจด้วยตำนานเรื่องเล่าอันศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งโผล่พ้นขึ้นมาจากพื้นดินเพียงพระเกตุมาลา และผุดขึ้นมาจากพื้นดินเดียวครึ่งองค์อันเป็นที่มาของชื่อ
ประวัติ
วัดพระทอง หรือ วัดพระผุด ตั้งอยู่ที่ถนนนาใน อำเภอถลาง เป็นที่ประดิษฐาน “พระผุด” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ผุดขึ้นมาจากพื้นดินเพียงพระเกศมาลา ความสูงประมาณ 1 ศอก ชาวจีนเรียกพระผุดว่า “ภูปุ๊ค” (พู่ฮุก) โดยเชื่อกันว่าเป็นพระผุดมาจากเมืองจีน เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีนคนจีนในภูเก็ตรวมถึงพังงา ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง และกระบี่ จะเดินทางมานมัสการพระผุดที่วัดแห่งนี้กันอย่างคึกคักเป็นประจำทุกปี
เล่ากันว่าเดิมบริเวณที่ตั้งของวัดพระทอง หรือ วัดพระผุด เคยเป็นทุ่งนา มีคลอง มีหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ วันหนึ่งมีเด็กชายนำกระบือไปเลี้ยงที่ทุ่ง และได้นำเชือกล่ามกระบือไปผูกไว้กับตอไม้ริมคลองที่มีโคลนตมติดอยู่ ครั้นพอกลับบ้านเด็กคนนี้ก็เกิดอาการเป็นลมตายและกระบือที่ล่ามไว้กับตอไม้ก็ตายไปด้วยกัน ต่อมาพ่อของเด็กชายฝันว่า การที่เด็กและกระบือตายเพราะนำเชือกล่ามกระบือไปผูกไว้กับเกศพระพุทธรูป เขาจึงชวนเพื่อนบ้านไปขัดล้างตอไม้ริมคลองแห่งนั้น แล้วสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาให้เห็นนั้นกลับมีลักษณะเหมือนเกศพระพุทธรูปทำด้วยทองคำ จนชาวบ้านต่างพากันมาบูชาสักการะกันมากมาย เมื่อเจ้าเมืองทราบก็สั่งให้ทำการขุดพระพุทธรูปขึ้นมา ประดิษฐานไว้บูชา แต่ไม่สามารถขุดขึ้นมาได้ บางคนถูกตัวต่อ ตัวแตนอาละวาด เป็นพิษจนถึงแก่ความตาย เจ้าเมืองจึงสั่งให้สร้างสถานที่ขึ้นมาคลุมเอาไว้ และชาวบ้านก็กราบไหว้กันเรื่อยมา พร้อมเรียกพระพุทธรูปองค์นี้เรียกว่าพระผุด เนื่องจากเป็นผุดขึ้นมาจากพื้นดินเพียงพระเกศมาลา นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวที่กล่าวถึงพระผุดองค์นี้ว่า ในเหตุการณ์ศึกพระเจ้าปะดุง เมื่อครั้งที่ยกพลมาตีเมืองถลาง พ.ศ. 2328 ทหารพม่าได้พยายามขุดพระผุดเพื่อนำกลับไปพม่าด้วย ทว่าขุดลงไปกี่ครั้งก็มีฝูงแตนไล่ต่อยจนต้องละความพยายาม ต่อมาชาวบ้านได้นำทองมาหุ้มพระพุทธรูปที่ผุดจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ดังที่เห็นในปัจจุบัน
บริเวณด้านนอกพระอุโบสถยังมี “พิพิธภัณฑสถานวัดพระทอง” ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ของชาวภูเก็ต เช่น “จังซุ่ย” เสื้อกันฝนชาวเหมืองแร่ดีบุก รองเท้าตีนตุกของสตรีเชื้อสายจีน ที่ต้องมัดเท้าให้เล็กตามค่านิยมของสังคมสมัยนั้น และของเก่าอีกมากมายให้ได้ชม ทั้งนี้ ทางวัดไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพด้านในได้