วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

  “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “วัดราชบพิธ” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุต วัดแห่งนี้นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณี ที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาลที่ 5 และยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 7 มิได้ทรงสร้างวัดประจำรัชกาล แต่ได้รับพระราชภาระในการทำนุบำรุง และทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นวัดของพระราชบิดา คือ รัชกาลที่ 5 จึงเสมือนเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์เช่นกัน

 

แต่เดิมบริเวณวัดเป็นวังของ พระบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทร ไพศาลโสภณ ก่อนที่ พ.ศ. 2412 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาล โดยสร้างเลียนแบบ 2 วัด คือ วัดพระปฐมเจดีย์ กับ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 และภายในวัดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2413

  

พร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ ส่วน “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินสร้าง และ “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีมหาเสมาหรือเสมาใหญ่ มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและยุโรป คือลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก

 

โดยตัวพระอุโบสถภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ ประกอบด้วยลวดลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์รูปเทพประนม ภายในเป็นสถาปัตยกรรมโกธิค พระประธานคือ “พระพุทธอังคีรส” แปลว่า “มีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย”ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี ถูกหล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 กะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์ เดิมรัชกาลที่ 4 จะทรงนำไปประดิษฐานที่พระปฐมเจดีย์ แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2415

 

นอกจากนี้ที่ฐานบัลลังก์กะไหล่ทองเนื้อหกหนัก 48 บาท ภายในบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2), พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3), พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4), พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5), พระบรมอัฐิพระศรีสุลาไลย สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 3 และสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

ทั้งนี้วันที่ 29 ตุลาคม 2560 มีพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส พระประธานพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ภาพจาก Supermop / Shutterstock.com

สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

          สำหรับ “สุสานหลวง” วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักรของวัด ทางด้านทิศตะวันตก ติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม แต่เดิมมีอาณาบริเวณกว้าง 4 ไร่กว่า ต่อมาในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทางผู้สำเร็จราชการและทาง กทม. ได้ตัดถนนอัษฎางค์ ซึ่งกินพื้นที่สุสานหลวงไปบางส่วน จนปัจจุบันสุสานหลวงเหลือพื้นที่เพียง 2 ไร่ครึ่งเท่านั้น

ภาพจาก Supermop / Shutterstock.com

 

ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “สุสานหลวง” ขึ้นในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิ (กระดูก) และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยอย่างใกล้ชิด คือพระมเหสี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม พระราชโอรส พระราชธิดา พระนัดดา และพระปนัดดา ได้อยู่ร่วมกัน หลังจากที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงสร้างขึ้นในสมัยหลัง

          อนุสาวรีย์ที่สุสานหลวงนี้ทำเป็นรูปเจดีย์ ปรางค์ และอาคารศิลปะยุโรป โดยตั้งอยู่ในสวน ซึ่งมีต้นลั่นทมและพุ่มพรรณไม้ต่าง ๆ ปลูกไว้อย่างสวยงาม และอนุสาวรีย์ที่สำคัญคือเจดีย์สีทอง 4 องค์ เรียงลำดับจากเหนือไปใต้

  

ในส่วนของศิลปกรรมที่สำคัญในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ได้แก่ บานประตู และหน้าต่างของพระอุโบสถ ที่มีลายไทยลงรักประดับมุก เป็นรูปดวงตราครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ สวยงามมาก และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ กระเบื้องเบญจรงค์ ทั้งพระอุโบสถ วิหาร เจดีย์ และระเบียงแก้ว ล้วนตกแต่งด้วยลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ทั้งสิ้น ซึ่งทุกแผ่นเขียนด้วยมือ รวมถึงออกแบบรูปทรงกระเบื้องขนาดต่าง ๆ ลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ ไม่ว่าเจดีย์ ระเบียง พระอุโบสถ ซึ่งมีรูปทรงอ่อนช้อย แต่ทุกอย่างลงตัว

 

อีกทั้งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          สัมผัสความงดงามของ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กันบ้างแล้ว หากมีโอกาสควรแวะไปพิสูจน์ด้วยตาคุณเองนะคะ

ภาพจาก Krikkiat / Shutterstock.com

เวลาทำการ

          พระอุโบสถจะเปิดเป็นเวลา โดยในวันธรรมดาจะเปิดช่วงพระทำวัตรเช้า-เย็น คือ 09.00-10.00 น. และ 17.00-18.00 น. วันพระและช่วงปีใหม่จะเปิดให้เข้าไปไหว้พระตั้งแต่เวลา 08.00-13.30 น. ส่วนพระวิหารจะเปิดเฉพาะเวลามีพิธีสำคัญ เช่น อุปสมบท หรือการถวายสังฆทานสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น

การเดินทาง

          วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่บริเวณถนนเฟื่องนคร ติดกับกระทรวงมหาดไทย สามารถจอดรถได้บริเวณถนนข้าง ๆ วัด

ที่มา : https://travel.kapook.com/view31530.html

ผู้นำเสนอ

kimmy

Share

Written by:

371 Posts

View All Posts
Follow Me :