ช้างน้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ochna integerrima สมุนไพรช้างน้าว มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ช้างโน้ม (ตราด), ช้างโหม (ร้อยเอ็ด), ขมิ้นพระต้น (จันทบุรี), ช้างน้าว ตานนกกรด (นครราชสีมา), แง่ง (บุรีรัมย์), ฝิ่น (ราชบุรี), กระแจะ ช้างโน้ม ช้างโหม (ระยอง), ตาลเหลือง (ภาคเหนือ), กำลังช้างสาร (กลาง), ตาชีบ้าง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), โว้โร้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ควุ (กะเหรี่ยง-นครสวรรค์), กระโดงแดง เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ช้างน้าวจัดเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 3-8 เมตร และอาจสูงได้ถึง 12 เมตร กิ่งก้านแผ่ขยายออก ลำต้นมักคดงอ เปลือกต้นเป็นสีนํ้าตาลเข้ม แตกเป็นสะเก็ดเป็นร่องลึก ตามปลายกิ่งมีกาบหุ้มตาลักษณะแข็งและแหลม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง เป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ช้า เติบโตได้ในสภาพดินทุกชนิดแม้พื้นที่แห้งแล้ง แต่ชอบดินร่วน ระบายนํ้าได้ดี ไม่ชอบนํ้าท่วมขัง ต้องการนํ้าและความชื้นปานกลาง ชอบแสงแดดจัด ทนแล้งและทนไฟป่าได้ดี ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าสน และป่าชายหาด
สรรพคุณทางยา
เปลือก, ต้น : มีรสขม ช่วยบำรุงหัวใจ ตำรายาไทยใช้ต้นช้างน้าวนำมาต้มกับนํ้าดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย, ช่วยขับผายลม หรือจะใช้ต้นช้างน้าวผสมกับต้นนมสาว เถาตาไก้ รากนํ้าเต้าต้น รากลกครก อย่างละเท่ากัน มาต้มกินเป็นยาบำรุงกำลังก็ได้ ทางภาคอีสานใช้ลำต้นต้มนํ้าดื่ม แก้ปวดเมื่อย ทางจังหวัดอุบลราชธานีใช้แก่นต้มนํ้าดื่มแก้ประดง ต้นก็มีสรรพคุณแก้กษัย
เนื้อไม้ : เนื้อไม้มีรสจืดเย็น ช่วยแก้กษัย ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย
หมอยาไทยใหญ่จะใช้สมุนไพรช้างน้าวเพื่อรักษาเด็กที่เป็นซางจ่อยผอม หรือสภาวะที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่ดี เป็นโรคเรื้อรัง มีการติดเชื้อบางชนิดที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดได้, ช่วยแก้โลหิตพิการ
แก่น : ใช้ต้มกับนํ้าดื่มเป็นยาแก้ประดง
ราก : ชาวเขาเผ่ามูเซอจะใช้ราก โดยนำมาตากแห้ง หรือดองกับเหล้า หรือต้มกับนํ้าดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง รากใช้ขับพยาธิและฟอกนํ้าเหลือง ช่วยแก้ดีซ่าน รากนำมาต้มกับนํ้าดื่มเป็นยาแก้ผิดสำแดง ช่วยบำรุงระบบย่อยอาหาร ต้มกับนํ้าดื่มเป็นยาแก้เบาหวาน ช่วยรักษาโรคปวดขา ส่วนในประเทศอินเดียจะใช้ใบและรากช้างน้าวเป็นยาลดไข้, เป็นยาแก้บิด
ผล : มีรสมันสุขุม เป็นยาบำรุงร่างกาย