วันนี้เราจะพาย้อนอดีตเพื่อไปรู้จักกับจังหวัดภูเก็ตผ่านการเข้าชม “พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต” ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนสายกะทู้-นาเกาะ ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ ประวัติความเป็นมาของจังหวัดภูเก็ต มีเนื้อที่ทั้งหมด 400 ไร่ อาคารหนึ่งอาคาร สร้างในสถาปัตยกรรมแบบ ชิโน-โปรตุกีส มีชื่อเรียกอาคารหลังนี้ว่า “อังมอเหลานายหัวเหมือง”
ในอดีตก่อนที่จังหวัดภูเก็ตจะกลายมาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกนั้น จังหวัดภูเก็ตเคยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกแร่ดีบุกที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งการทำเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ต มีมาตั้งแต่ในปี พ.ศ.2061 และส่งออกให้กับชาวโปรตุเกส ซึ่งผูกขาดการซื้อแร่ดีบุกในสมัยนั้น การทำเหมืองของภูเก็ตมีวิวัฒนาการและพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งทำให้จังหวัดภูเก็ตมีเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองมาก ไม่เฉพาะเจ้าของกิจการเหมืองแร่หรือที่ชาวภูเก็ตเรียกกันว่านายเหมือง แต่รวมถึงชาวบ้านที่ทำอาชีพเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง พวกเขาจะออกไปร่อนหาแร่ตามคลองหรือตามท้ายรางเหมือง โดยต้องใช้เลียงร่อนหาแร่ แล้วล้างหรือแยกแร่ รายได้ก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถ ความชำนาญ และความขยันของผู้ร่อน การร่อนเร่นี้เป็นที่มาของระบำร่อนแร่ของชาวภูเก็ต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิธีการร่อนแร่ ในระหว่างทำการล้างแร่นั้นนอกจากแร่ดีบุกที่ร่อนมาได้ยังมีแร่อื่นที่ชาวบ้านทั่วไปไม่รู้จักและไม่สามารถแยกออกมาได้ ก็จะนำไปขายกับผู้มาซื้อขี้แร่ในราคาถูก ๆ นอกจากมีรายได้ที่เลี้ยงครอบครัวได้ ก็มีเงินสะสมทำให้จนทำให้เศรษฐกิจของชุมชนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ดีขึ้น
จากการเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ตเฟื่องฟู จนกระทั่งแร่ดีบุกเริ่มหมดไปจนเหมืองต่าง ๆ ต้องปิดกิจการลง ปัจจุบันนี้เราก็ยังสามารถเห็นพื้นที่ที่เคยเป็นเหมืองได้ในหลาย ๆ จุดของภูเก็ต เช่นในโซนที่เรียกว่าลากูน่า หรือเหมืองเจ้าฟ้า ซึ่งในการทำเหมืองแร่หรือถลุงแร่จะมีการขุดดินออกทำให้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นแอ่งหรือบ่อลึก เมื่อเวลาผ่านไปแอ่งเหล่านั้นมีน้ำท่วมขังกลายเป็นบึง หรือแอ่งน้ำใหญ่ ๆ
ส่วนแรงงานในเหมืองแร่ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ที่อพยพมาจากเมืองจีนทางเรือและมาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดภูเก็ต
วัฒนธรรมและสถาปัตกรรมในภูเก็ตผสมผสานกันในแบบที่เรียกกันว่า ชิโน-โปรตุกิส จากการที่ชาวจีนและชาวยุโรป โดยเฉพาะชาวโปรตุเกส เข้ามาตั้งรกรากในภูเก็ต ซึ่งเราจะเห็นสถาปัตยกรรมแบบ ชิโน-โปรตุกิส ในอาคารย่านเมืองเก่า รวมทั้งบ้านคฤบดีหลังใหญ่ ๆ ที่ชาวภูเก็ตเรียก ว่าอังมอเหลา, วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวภูเก็ตยังแสดงให้เห็นในรูปแบบ การแต่งกาย, การใช้ชีวิตประจำวัน ของคฤบดี, ชาวบ้านทั่วไป และชาวเหมือง ที่ได้จัดแสดงไว้ให้เราได้เรียนรู้ใน “พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต”
โซนด้านในอาคาร (Indoor) จัดแสดงนิทรรศการ แสดงถึงประวัติความเป็นมาของการทำเหมืองแร่ดีบุก และวิถีชีวิตของชาวเหมือง และชาวภูเก็ต มีห้องนิทรรศการต่าง ๆ เช่น “อังมอเหลา” (ตึกนายหัวเหมือง) ที่มีเครื่องใช้ในบ้านนายหัวเหมืองที่มีศิลปวัฒนธรรมไทย จีน
พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ตเปิดให้เข้าชมทุกวันไม่เว้นวันหยุดดราชการ ตั้งแต่ เวลา 9.00 – 16.00 น.
(ตอนนี้ปิดอยู่นะคะ เพราะโควิท-19)
ค่าเข้าชม : คนไทย – ผู้ใหญ่ 50 บาท / เด็ก 20 บาท ต่างชาติ – ผู้ใหญ่ 100 บาท / เด็ก 50 บาท
การเดินทางไปพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ตต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวเพราะในภูเก็ตรถประจำทางไม่ได้ผ่านไปในทุกพื้นที่ ถ้าหากมาจากในตัวเมืองก็ให้ขับมาทางเทศบาลตำบลกะทู้ ผ่านเทศบาลกะทู้ไป ทางสนามกอล์ฟล็อคปาล์ม – โรงเรียนนานาชาติบริติช อินเตอร์เนชั่นแนล
หากมีโอกาสได้มาเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต อย่าพลาดที่จะมาเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต” กันนะคะ ใช้เวลาเดินชมไม่เกินสองชั่วโมงก็เดินได้ทั่วแล้วค่ะ เป็นที่หลบอากาศร้อน ๆ มาเดินได้สบาย ๆ มีหลายมุมให้ถ่ายรูปสวยได้ แถมได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของภูเก็ตไปด้วยค่ะ