ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อ พายุโซนร้อนปาบึก กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาบริเวณภาคใต้ของไทยระหว่างวันที่ 3-5 ม.ค.2562 ตามที่กรมอุตุฯได้ประกาศแจ้งเตือน ซึ่งหนึ่งในพื้นที่เฝ้าระวังก็คือที่ “แหลมตะลุมพุก” อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
คำว่า “ตะลุมพุก” เป็นชื่อของปลาชนิดหนึ่งที่เคยมีอยู่ชุกชุมที่แหลมแห่งนี้ โดยเฉพาะบริเวณด้านปลายของแหลมทรายรูปจันทร์เสี้ยวที่ยื่นไปในอ่าวไทย ขณะที่การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนช่วงแรกเป็นชาวไทยอิสลาม ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพื่อมาทำการประมง จากนั้นจึงเริ่มมีชาวจีนเข้ามาทำการค้า จนเกิดตำบลเชื้อสายแซ่ ทำให้ปัจจุบันแหลมตะลุมพุกแห่งนี้ มีการประสมประสาน 2 วัฒนธรรม อิสลาม จีน และไทยพุทธ
โดยครั้งหนึ่งในอดีต เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จพระราชดำเนินมายังแหลมตะลุมพุกแห่งนี้ ซึ่งจากบันทึกจดหมายเหตุเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ.108 บรรยายไว้ว่า “เป็นหาดแคบนิดเดียวแต่ยังยาววงเป็นอ่าวเข้าไปไกล มีเรือนประมาณ 70 หลัง ปลูกมะพร้าวมาก มีของที่เป็นสินค้าขายออก คือ ปลาเค้า ปลากระบอก เคย แตง”
เรื่องราวของ “แหลมตะลุมพุก” วันที่พายุปาบึกกำลังมา
ครั้งหนึ่งเมื่อราวปี 2505 แหลมตะลุมพุกเคยถูก พายุโซนร้อนชื่อ “แฮเรียต” เข้าถล่มเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 1,300 คน จากจำนวนหมู่บ้านประชาชน 4,000 คน เหลือบ้านเพียง 5 หลังเท่านั้น โดยมีการประเมินความเสียหายครั้งนั้นกว่า 377-1,000 ล้านบาท
ครั้งนั้นเส้นผ่าศูนย์กลางของพายุ มีขนาด 300 กิโลเมตร หรือใหญ่เท่ากับจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วยความเร็วลม 180 – 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วในการเคลื่อนที่ 92.622 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยวันที่เกิดเหตุการณ์ 25 ต.ค. พ.ศ.2505 เวลาประมาณ 19.00-22.30 น. ชาวบ้านบอกเล่ากันว่า”ท้องฟ้ามีสีแดงฉาน คลื่นสูงเทียมยอดสน (20 เมตร) ถล่มใส่แหลมตะลุมพุกลูกเดียว กินเวลา 3 ชั่วโมง บ้านเรือนก็เริ่มพัง และขณะที่ฝนตกลงมาเป็นบ้าเป็นหลัง ทั้งเด็กเล็กและผู้ใหญ่วัยชรา เริ่มร้องไห้กระจองอแง ไฟดับมืดไปทั้งตะลุมพุก เมื่อเวลา 22.00 น. คลื่นลมหยุดนิ่งเป็นปลิดทิ้ง จนชาวบ้านเข้าใจว่าพายุสงบแล้ว ผู้คนเริ่มออกมาสำรวจความเสียหาย แต่อีกครึ่งชั่วโมงต่อมา พายุอีกลูกก็พัดสวนทางกับลูกแรก คราวนี้บ้านเรือน และผู้คนถูกกวาดลงทะเลเหี้ยนเตียน พายุลูกหลังนี้ ทำให้ชาวบ้านล้มตายเป็นจำนวนมาก
เหตุการณ์พายุแฮเรียตเข้าถล่มแหลมตะลุมพุก ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่อง ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดินเมื่อปี 2548 โดยมีนักแสดงนำอย่าง พรหมพร ยูวะเวส, ฉัตรชัย เปล่งพานิช ผลงานการกำกับของ ปิติ จตุรภัทร์ บริษัท ฟิล์มเซิร์ฟ จำกัด
ปัจจุบันแหลมตะลุมพุก เป็นที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ.นครศรีธรรมราช ด้านที่ติดกับทะเลด้านในที่เป็นอ่าวนครฯ เป็นที่อยู่ของชาวบ้าน ส่วนด้านนอกที่ติดกับอ่าวไทยเป็นหาดทรายและมีต้นสนขึ้นเป็นแนวยาว ซึ่งจุดที่เป็นแหลมตะลุมพุกซึ่งเป็นแหลมทรายรูปจันทร์เสี้ยวยื่นไปในอ่าวไทยสามารถขับรถไปจนถึงปลายแหลมได้ซึ่งมีระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร โดยสามารถขับรถไปได้ด้วยทางหลวงหมายเลข 4013 (นครศรีธรรมราช-ปากพนัง) จะมีทางแยกเข้าสู่แหลมตะลุมพุก ประมาณ 16 กิโลเมตร ซึ่งตลอดเส้นทางมีการทำนากุ้งสองข้างทางสลับกับแนวป่าชายเลน และตลาดอาหารทะเลจำนวนมาก
การเดินทาง
ใช้เวลาเดินทางราวครึ่งชั่วโมงหรือใช้เส้นทางนครศรีธรรมราช – ปากพนัง (ทางหลวงสาย 4013) ไปยังอำเภอปากพนังฝั่งตะวันตก ถึงบ้านบางฉลากมีทางแยกเข้าสู่แหลมตะลุมพุก ระยะทางจากทางแยกไปยังแหลมประมาณ 16 กิโลเมตร เส้นทางตลอดสายสู่ปลาย แหลมมีการทำนากุ้งสองข้างทางสลับกับแนวป่าชายเลน