หากมีใครบอกว่าสุขุมวิทเป็นย่านของคอมมิวนิตี้มอลล์สุดชิค คาเฟ่เท่ๆ หรือร้านเสื้อผ้าแฟชั่น เราคงไม่เถียง แต่อยากเชื้อชวนเพิ่มเติมให้ลองเดินลัดเลาะไปในซอยทองหล่อ 23 จะยังพบว่าสุขุมวิทมีพื้นที่สีเขียวเปิดใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอย่าง Patom Organic Living คาเฟ่ในกล่องกระจกใสที่ซ่อนตัวอย่างสงบท่ามกลางสนามหญ้าเล็กๆ และต้นไม้ใหญ่ คัดสรรอาหารเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกส่งตรงมาให้คนเมืองอย่างเราได้ใช้เวลาหย่อนใจร่วมกัน
รื่องราวปฐมภูมิของ Patom ก่อนเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เริ่มจากริมแม่น้ำท่าจีน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมที่โรงแรม Sampran Riverside ที่ดำเนินกิจการมากว่า 50 ปี ริเริ่มนำผัก ผลไม้ สมุนไพร ที่ปลูกเองในสวนสามพรานในรูปแบบเกษตรอินทรีย์มาแปรรูปเป็นสบู่ แชมพู ให้กับแขกที่มาเข้าพัก จนเมื่อ โอ-อรุษ และ ฟี่-อนัฆ นวราช ทายาทรุ่นที่ 3 ได้เข้ามารับช่วงต่อ ก็มองเห็นช่องทางที่จะขยับขยายธุรกิจของครอบครัวให้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นและคนเมืองมากขึ้น ผลลัพธ์คือแบรนด์ Patom ที่ยังรักษาคอนเซปต์ออร์แกนิกไว้เต็มร้อย
เจลอาบน้ำกุหลาบมอญ น้ำมันมะพร้าวบำรุงเส้นผม ลิปบาล์ม ยาหม่อง ยาดมสมุนไพร และชาออร์แกนิกที่มีทั้งชากุหลาบมอญ ชาใบเตย ชาตะไคร้ คือตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ Patom ทำงานร่วมกับเกษตรกร 11 กลุ่มทั้งในนครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ผ่านโครงการสามพรานโมเดลภายใต้มูลนิธิสังคมสุขใจ ที่โอตั้งใจผลักดันเต็มที่เพราะอยากให้เกษตรกรไทยหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น วัตถุดิบจากเกษตรกรเหล่านี้จะแปรรูปมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สวนสามพราน ส่งต่อให้ผู้บริโภคได้จับจ่ายซื้อหาผ่านการขายออนไลน์และที่สวนสามพรานเอง
เมื่อฐานผู้บริโภคค่อนข้างแข็งแรง ฟี่จึงเริ่มมองหาช่องทางส่งต่อให้คนกรุงเทพฯ ได้รู้จักและใกล้ชิด Patom มากขึ้น ต่อยอดเป็นคาเฟ่ออร์แกนิกที่ไม่เพียงวางขายผลิตภัณฑ์บอดี้แคร์เท่านั้น แต่ยังมีของอร่อยๆ เป็นอาหารกล่อง Organic Express ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. นำผัก ผลไม้ และข้าวอินทรีย์ จากกลุ่มเกษตรกรมาแปรรูปเป็นอาหารปรุงสดใหม่ทุกวันหลากหลายเมนู ทั้งข้าวกล้องกับน้ำพริกทานคู่กับผักต้ม ไข่ต้ม ปลานิลฟู หรือสลัดผักออร์แกนิก ยังมีผลไม้คั้นสดตามฤดูกาล ขนมไทยที่หาทานไม่ได้ง่ายๆ รวมไปถึงเบเกอรี่จากวัตถุดิบออร์แกนิกอย่างฟักทอง มันฝรั่ง ที่ Patom จับมือกับร้าน Theera ให้ช่วยทำให้ทุกวันอีกด้วย
พื้นที่ 250 ตารางวาของคุณยายที่ปล่อยทิ้งไว้ในซอยทองหล่อจึงตอบโจทย์ความคิดนี้ของฟี่อย่างลงตัว งานออกแบบได้ นิก-นิษฐา ยุวบูรณ์ ญาติสนิทของฟี่มาช่วยดูแลจนได้คาเฟ่เล็กๆ ในกล่องกระจกเรียบง่ายแต่แสนเท่ ให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนได้นั่งใต้ร่มเงาไม้ในสวนตลอดไม่ว่าจะข้างในหรือข้างนอก โดยใช้ไม้เก่าจากสวนสามพรานทำเป็นกรอบกระจกและประตู ภายในร้านออกแบบให้ดูโปร่งด้วยเพดานสูง 5 เมตรและใช้สีขาวล้วน ส่วนเคาน์เตอร์ทำลูกเล่นบันไดวนขึ้นไปเป็นที่นั่งวงกลมเล็กๆ ซึ่งฟี่บอกว่าถ้าครอบครัวไหนพาเด็กตัวเล็กๆ มาจะต้องรีบวิ่งมาจับจองที่นั่งนี้ก่อนเสมอ
กำแพงโค้งของเคาน์เตอร์ยังทำเป็นแผนที่บอกที่ตั้งของเกษตรกร 11 กลุ่มในโครงการสามพรานโมเดล พร้อมแจกแจงละเอียดว่าแต่ละเดือนเกษตรกรแต่ละที่ส่งวัตถุดิบอะไรมาบ้าง คนที่มาก็จะได้รู้ว่ามะเขือเทศลูกที่กำลังตักเข้าปาก ผักหวานกรอบกร้วมที่กินเข้าไป ปลูกที่ไหนและโดยใคร
นอกจากคาเฟ่ที่ออกแบบมาให้สะดุดตา สิ่งที่เสริมให้ Patom แตกต่างและดึงดูดให้มีคนมากมายแวะเวียนมาไม่ขาดคือสวนหย่อมและหมู่ต้นไม้เขียวครึ้มด้านนอก ไม่ต่างจากสวนสาธารณะขนาดเล็กที่ชวนให้เข้าไปค้นหา ฟี่เล่าว่าในการปรับพื้นที่ก็ตั้งใจเก็บต้นไม้ใหญ่อย่างมะม่วงกลางสนามหญ้าไว้ เพิ่มเติมคือทำทางเดินโรยกรวดและปรับระดับพื้น ส่วนพืชที่นำมาปลูกก็เน้นสมุนไพรและผักให้เก็บเป็นวัตถุดิบของอาหารที่ร้านได้ มีโซนไม้ประดับเป็นตลาดนัดต้นไม้ ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ใครสั่งอาหารแล้วจะออกมานั่งกินบนแคร่ด้านนอกหรือยืมเสื่อไปปูนอนบนสนามหญ้าก็ได้ไม่ว่า ทั้งหมดผ่านการคิดโดยมีเป้าหมายคืออยากจัดเป็นฟาร์เมอร์มาร์เก็ตเดือนละครั้ง ชวนเกษตรกรในกลุ่มนำผักผลไม้มาขายในราคาที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปรองรับคนทุกเพศทุกวัยที่อยากดูแลสุขภาพ
ที่มา : https://adaymagazine.com/place-17/