พาเที่ยว ตลาดอินโดจีน มุกดาหาร

พาเที่ยว ตลาดอินโดจีน มุกดาหาร

แหล่งช้อปปิ้งใจกลางเมืองมุกดาหาร ติดริมแม่น้ำโขง นานาสินค้าราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามาให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อ

ตลาดอินโดจีน อยู่ที่ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร บริเวณถนนสำราญชายโขง ในตัวเมืองมุกดาหาร หน้าวัดศรีมงคลใต้เป็น แหล่งรวมสินค้านำเข้าจากนานาประเทศ เช่น รัสเซีย จีน เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำหน่ายทั้งราคาส่ง และปลีก ส่วนมากจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เซรามิค เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ นอกจากสินค้าที่นำเข้ามา จำหน่ายจากต่างประเทศแล้ว ยังมี สินค้าพื้นเมืองของชาวมุกดาหารมาจำหน่ายอีกด้วย เช่น ผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ และสินค้าท้องถิ่นอื่น ตลาดอินโดจีน นอกจากจะเป็นแหล่งรวมสินค้าแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดมุกดาหารเพราะเป็น จุดชมวิว ทิวทัศน์ที่สวยงาม ของสองฝั่งแม่น้ำโขง ณ บริเวณริมเขื่อนริมโขงตลาดอินโดจีนมุกดาหาร สามารถมองเห็นสะพาน มิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำโขงได้เป็นอย่างดี

ในเทศกาลวันออกพรรษาจะเป็นจุด ชมการแข่งขันเรือ ยาวประเพณีของคนทั้งสองฝั่งโขงอีกด้วย และจากศูนย์การบริการข้อมูลการท่องเที่ยว ไม่ไกลกันนักจะมองเห็น “ศาลาเรารักมุกดาหาร” ของเทศบาลเมืองมุกดาหารได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ที่บริเวณตลาดอินโดจีนที่จัดทำป้าย ประตูสู่อินโดจีน และสุดเขตแดนสยามไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก อีกทั้งยังมีศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง อยู่ในบริเวณนี้ด้วย มีเรื่องเล่าขานกันต่อมาว่าในราวปี พ.ศ. 1896 ว่าเจ้าฟ้างุ้มแห่งเมืองล้านช้าง เป็นบุตรเขยของกษัตริย์เมืองอินทะปัดได้พาลูกหลานอพยพตามลำแม่น้ำโขงผ่านเมืองหนองคาย เมืองนครพนม ผ่านเข้าสู่เขตเมืองมุกดาหารบริเวณปากน้ำห้วยมุกจึงเกิดเหตูการณ์เรือล่มบริเวณปากห้วยมุก ทำให้ธิดาสาวทั้งสองคนมีพระนามว่าพระนางพิมพา กับพระนางลมพามา สิ้นชีพตักษัยบริเวณแม่น้ำโขงหน้าศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง จึงได้สร้างศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงธิดาทั้งสองของเจ้าฟ้างุ้มแห่งเมืองลานช้างต่อมาในสมัยเจ้ากินรี เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรก ได้เกิดอภินิหารเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง ในวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 6 เจ้ากินรีจึงได้ทำการสืบทราบประวัติแห่งความเป็นมาและก่อตั้งศาลขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2315 เพื่อให้ดวงวิญญาณสองธิดาทั้งสองได้สิงสถิตอยู่ และได้ขนานนามว่า “หอเจ้าแม่สองนางพี่น้อง” นับตั้งแต่นั้นสืบมา

Share