วัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ในตัวเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2385 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดย เจ้าคุณอริยวงศาจารย์ญานวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) ซึ่งเป็นเจ้าคณะเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้น ก่อนจะตามมาด้วยการสร้าง พระอุโบสถ หรือ หอพระพุทธบาท ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง รวมถึงสร้าง หอพระไตรปิฎกกลางน้ำ เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ปรัชญาพื้นบ้าน และเอกสารสำคัญเอาไว้
อาคารที่สำคัญที่สุดในวัดทุ่งศรีเมือง เห็นทีจะเป็น พระอุโบสถ หรือ หอพระพุทธบาท ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 ค่ะ นับว่าเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมยุคแรกๆ ของอีสานที่ได้รับอิทธิพลศิลปะมาจากภาคกลาง ซึ่งจะมีลักษระเป็นอาคารผนังสูง เครื่องบนเป็นเครื่องลำยอง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ซึ่งต่างจาก สิม หรือ อุโบสถทางภาคอีสานไม่น้อยเลยค่ะ ด้านในเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธบาทจำลอง จากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ซึ่งมีความกว้าง 6 เมตร ยาว 13 เมตร เพื่อมาให้พุทธศาสนิกชนชาวอุบลราชธานีได้สักการะกราบไหว้
นอกจากพระพุทธบาทจำลองแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในหอพระพุทธบาทก็คือ ภาพจิตกรรมฝาผนัง ซึ่งบอกเล่าพุทธประวัติ เรื่องเล่าในนิทานชาดก รวมถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านถิ่นอีสาน รวมถึงผู้คนที่อาศัยในรั่วในวังในสมัยรัชกาลที่ 3 อาคารบ้านเรือนที่ปรากฏบนจิตรกรรมจึงมีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีนนั่นเองค่ะ นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน พระเจ้าใหญ่องค์เงิน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นพระประธานภายในหอพระพุทธบาทคู่กับรอยพระพุทธบาทจำลองค่ะ
ต่อมาคือ หอไตรกลางน้ำ หรือ หอพระไตรปิฎกกลางน้ำ กว้าง 8.20 เมตร ยาว 9.85 เมตร และมีความสูงจากระดับพื้นน้ำถึงยอดหลังคาประมาณ 10 เมตร ด้านสถาปัตยกรรมของหอไตรเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะไทย ลาว และ พม่า ตัวเรือนสร้างแบบเรือนไทยภาคกลาง ยกใต้ถุนสูง หลังคาจั่วด้วยศิลปะไทยผสมพม่า มีช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงศ์ ส่วนลวดลายแกะสลักบนหน้าบรรณทั้ง 2 ด้านนั้นเป็นศิลปะแบบลาว ซึ่งเป็นฝีมือช่างหลวงจากเวียงจันทน์ ทำให้ในปัจจุบัน หอไตรแห่งนี้มีความสมบูรณ์และงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสานเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ภายในวัดก็ยังมีอาคารสำคัญอื่นๆ อีก อย่าง วิหารศรีเมือง ที่ประดิษฐาน พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง พระพุทธรูปเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยสร้างเมืองอุบลยุคแรกๆ และ ศาลาการเปรียญวัดทุ่งศรีเมือง นั่นเองค่ะ
วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
95 ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี