พระราชวังจันทน์ เป็นพระราชวังโบราณ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ใน ตำบลบ้านคลอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งที่นี่เป็น สถานที่เสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเป็นที่ประทับของพระองค์เมื่อทรงดำรงตำแหน่งอุปราชนั่นเองค่ะ ในตอนนั้นเมืองพิษณุโลกยังมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของกรุงศรีอยุธยาอีกด้วยค่ะ โดยสถานที่แห่งนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานพร้อมทั้งประกาศขอบเขตที่ดินโบราณสถาน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2537 แล้วค่ะ
ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่อยู่ในบริเวณ พระราชวังจันทน์ นั้น ก็จะมีตั้งแต่ ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ ที่เป็นอาคารไว้จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก และพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ค่ะ เช่น บันทึกประวัติศาสตร์ 9 ศตวรรษ เมืองพิษณุโลก ศิลปกรรมและงานช่างหลวงพิษณุโลก แบบจำลองวัดสำคัญ 3 วัด ในเขตพระราชวังจันทน์ เป็นต้นค่ะ
ต่อมาคือ วัดวิหารทอง อยู่ทางทิศใต้
ของ พระราชวังจันทน์ จะเป็นเจดีย์ประธานที่มีรูปแบบเป็นพระปรางค์ ในสมัยอยุธยาตอนต้นค่ะ ซึ่งปัจจุบันนั้น เหลือเพียงแค่ส่วนฐานเขียงและฐานบัวลูกฟักเท่านั้นค่ะ สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารส ที่ปัจจุบันได้ประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถวัดสระเกศนั่นเองค่ะ ก็เลยได้มีการจำลองพระพุทธรูปขนาดเท่าองค์จริงมาประดิษฐานไว้ในวิหารดั่งเดิมค่ะ วัดนี้น่าจะมีอายุมาอย่างยาวนาน ราวๆ พุทธศตวรรษที่ 20-21 เลยทีเดียวค่ะ
นอกจากนี้ ก็ยังมี วัดศรีสุคต เจดีย์ประธานทรงระฆัง และ วัดโพธิ์ทอง ที่เหลือเพียงแค่ส่วนฐานเขียง อีกด้วยค่ะ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของ พิษณุโลก เลยค่ะ และน่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ ที่ยังคงสวยงามอยู่มาก ได้มาย้อนรอยชมความงามของโบราณสถานแบบนี้ อยากรู้เลยนะคะว่าเมืองไทยเมื่อครั้งในอดีตนั้น จะสวยงามขนาดไหน
การเดินทาง ไปยัง พระราชวังจันทน์
ถ้ามาจากตัวเมืองพิษณุโลก ให้ตรงไปทางตะวันตก ขับไปตามถนนหมายเลข 12 จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนเทพารักษ์ เลี้ยวขวาอีกทีเข้าจ่านกร้อง จากตรงนี้ขับตรงไปอีก 50 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไป ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ จะอยู่ทางซ้ายมือนั่นเองค่ะ
ข้อมูล พระราชวังจันทน์ พิษณุโลก
- ที่อยู่ : ตำบลบ้านคลอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
- เปิดให้เข้าชม : 07.00-17.00 น.
ที่มา : พระราชวังจันทน์ ที่เที่ยวพิษณุโลก ชมแหล่งประวัติศาสตร์ เมืองหน้าด่านสมัยอยุธยา (trueid.net)