ล่องเรือเยือน ‘คลองบางมด’ เพื่อมาตามหาของดีริมคลองที่หายไป ขึ้นชื่อว่าบางมด จะไม่พูดถึง ‘ส้มบางมด’ ได้อย่างไร เมื่อมาถึงก็รู้สึกถูกชะตากับชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก เลยขอเล่าย้อนไปในสมัยก่อนให้ฟังสักหน่อย
บางมดเป็นชุมชนเล็กๆ ชาวบ้านจึงมีความสนิทสนมกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนอาชีพหลักของพวกเขาคือการทำนา สมัยก่อนยากลำบากพอตัว เพราะกว่าจะพลิกพื้นดินที่แห้งแล้งให้กลายเป็นทุ่งนาเขียวขจีได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องใช้แรงงานจากคนจำนวนมาก ชาวบ้านจึงมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ซึ่งการเข้าใจ ช่วยเหลือและเห็นอกเห็นใจกันนั้น กลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาวบางมด
ความโชคดีของชาวบางมดที่น่าอิจฉาเป็นอย่างมาก คือบ้านจะอยู่ติดริมคลอง เอาเป็นว่าแทบไม่มีถนนคอนกรีตเลย จะไปไหนมาไหนก็เน้นแจวเรือกัน หากมองเรื่องสภาพพื้นที่ และอากาศ ย่านบางมดถือว่าเป็นปอดที่สมบูรณ์แห่งหนึ่ง
เวลาผ่านไปการทำนาก็เริ่มยากลำบากมากขึ้น ชาวบ้านบางคนแทบกุมขมับ เนื่องจากใช้แรงงานค่อนข้างเยอะ เลยพยายามมองหาอาชีพอื่นมาทดแทนการทำนา
คนแรกที่ริเริ่มปลูกส้มบางมด คือ “นายแสม” ชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ที่สนใจการปลูกส้มอยู่แล้ว จึงไปซื้อกิ่งตอนมาจากคลองบางกอกน้อยเมื่อ พ.ศ. 2468 ลุงแสมเลยกลายเป็นคนแรกที่เอาส้มมาลงในพื้นที่บางมด โดยการปลูกครั้งแรกประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำเอาบ้านใกล้เรือนเคียงสนใจปลูกตามๆ กัน แต่การปลูกสมัยนั้นมีความลำบากไม่น้อย เพราะต้องยกร่องดินสลับกับร่องน้ำ อีกทั้งกว่าจะพลิกผืนนาให้เป็นสวนส้มต้องใช้เวลาอย่างมาก แต่ยิ่งปลูกกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ส้มบางมดนั้นกระหึ่มไปทั่ว จนกลายเป็นชื่อคุ้นหูมาจนถึงทุกวันนี้
การปลูกส้มบางมดสมัยก่อนต้องใช้เวลาพักดินพร้อมกับพักกิ่ง 1 เดือนถึงจะเอาลงดินได้ ซึ่งระยะเวลาของการเติบโตในสมัยก่อน ต้องใช้เวลาถึง 6 ปี กว่าจะได้ต้นที่โตเต็มที่สามารถเก็บลูกได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากปีแรกจะแค่ออกดอกแตกใบอ่อน จากนั้นจะมีการกักท้องร่องให้น้ำแห้งพอสมควร เพื่อให้ต้นเหี่ยว เมื่อหน้าฝนมาถึงฝนตกลงมาจะทำให้ส้มยิ่งแตกดอกและออกผลเป็นอย่างดี ส่วนปีที่ 2 ก็กักน้ำอีกเหมือนปีแรก พอเข้าปีที่ 3 ส้มจะโตเต็มที่ และผลจะสุกกำลังกินได้ แต่ชาวสวนจะเก็บแค่ช่วงล่างๆ เท่านั้น ต้องเหลือส้มไว้เลี้ยงลำต้นด้วย ถัดมาปีที่ 4-5 ปี ถึงก็จะเก็บช่วงบนได้ ซึ่งการอดใจรอจะทำให้ชาวสวนได้ผลผลิตที่มากกว่าปีแรกๆ และวินาทีทองก็มาถึงเมื่อย่างเข้าปีที่ 6 ต้นจะโตเต็มที่ไม่ต้องเลี้ยงลูกไว้แล้ว เก็บที่ทั้งต้น หมายความว่าครบ 1 ปีก็เก็บได้เลยไม่ต้องเลี้ยงลำต้นแล้ว ทำให้ชาวสวนมีรายได้ที่พอดีสำหรับเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
มาดูการขายส้มบางมดสมัยก่อนกันบ้าง ว่าที่ขายดิบขายดีนั้นเขาขายอย่างไร ซึ่งจะขายแบบนับ 100 ผล โดยนับทั้งหมด 20 มือ มือละ 5 ผล และแถมให้อีก 2 มือ ซึ่งราคาแค่ 2-3 บาท วิธีนี้เห็นว่าจะลำบากเกินไป เลยหันมาชั่งกิโลขายดีกว่าคือ 1 กิโลกรัมของชาวบางมดคือ 12 ขีด เพราะแถมให้กับลูกค้าเช่นเคยเสมือนเป็นธรรมเนียมไปแล้วนั่นเอง อีกทั้งยังขายส้มบางมดยกทั้งลำเรือคือเรือ 1 ลำ มี 15,000 บาท ได้ 1,500 กิโลกรัม หากรับไปจากสวนจะตกกิโลกรัมละ 16 บาทเท่านั้น ส่วนพ่อค้าคนกลางมักจะไปขายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-25 บาท เมื่อเทียบกับราคาผลไม้สมัยนี้ถือว่าถูกมาก
ความเศร้าบวกกับความหมดหวังเข้ามาเยือนชาวสวนส้มบางมดอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากปัญหาดินเสื่อมที่เกิดขึ้นช่วงราว พ.ศ. 2526 อีกทั้งยังเจอปัญหาน้ำเค็มหนุนเข้ามาอีกด้วย สาเหตุที่ทำให้ดินเสื่อมนั้นเพราะเมื่อเข้าฤดูน้ำหลากน้ำเหนือจะไหลบ่า และน้ำทะเลก็หนุนขึ้นมาทำให้น้ำเค็มไหลเข้าสวนของชาวบ้าง ดินจึงเปลี่ยนตัวเองเป็นดินเค็ม โดยเริ่มแรกชาวบ้านยังพอแก้ปัญหาได้บ้าง คือปล่อยน้ำทำนบเพื่อดันน้ำเค็มออกจากสวน
เมื่อชาวบ้านโดนน้ำเค็มเข้ามาเรื่อยๆ บวกกับตอนนั้นคนที่เคยทำนาเกลือก็เปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำแทน ซึ่งกุ้งกุลาดำต้องการความเค็มไม่ต่ำกว่า 15 ส่วน ชาวบ้านกลุ่มนั้นจึงไม่อยากให้ปิดหรือเปิดประตูน้ำ อยากให้น้ำเค็มนั้นขึ้นลงตามธรรมชาติมากกว่า แต่หากหันหลังกลับมาดูชาวสวนกันบ้าง พื้นที่ทนความเค็มได้แค่ 4 ส่วนในล้านส่วนเท่านั้น ช่วงนั้นชาวบ้านเร่งแก้ปัญหาด่วน แต่เมื่อ พ.ศ. 2533 ช่วงที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาลก็ทำให้เกิดภาวะน้ำเค็มอีกครั้ง ครั้งนี้น้ำเค็มหนุนยาวนาน ชาวบ้านตั้งตาคอยว่าวิกฤตนี้จะแก้ได้หรือไม่ แต่น้ำเค็มก็ได้สร้างความเสียหายให้กับสวนส้มบางมดไปถึง 70% ของพื้นที่
เรื่องดังกล่าวไม่มีใครมาสนใจ มีเพียงชาวบ้านที่ช่วยกันสร้างทำนบปิดกั้นน้ำเค็ม แต่ก็ทำได้เพียงบางคลอง เพราะยังมีคนบางกลุ่มไม่ได้เห็นด้วยที่จะให้ปิด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวสวนคงสู้ไม่ไหว จึงเริ่มขายที่ขายทาง และย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น สวนส้มบางมดที่เคยทำก็ต้องเลิกอาชีพนี้ไป พูดง่ายๆ คือ ส้มบางมดเหลือเพียงแค่ชื่อ คนรุ่นใหม่ๆ ที่อายุยังไม่ถึง 30 อาจจะได้กินส้มบางมดเก๊แล้วก็ได้ เพราะของจริงนั้น ไม่มีอยู่ให้กินแล้ว เสมือนน้ำเค็มไหลเข้าชาวบ้านและสวนส้มก็ไหลออกไปตามๆ กัน
ล่องเรือมาหาส้มบางมด… เสียงเลื่องลือว่าเหลือเพียงชื่อแต่ผลส้มนั้นไม่มีใครเคยได้กินของแท้แล้ว คงไม่ใช่ความจริงอีกต่อไป เมื่อได้เจอคุณลุงเจ้าของสวนส้มบางมดที่เคยหันหลังให้กับวิกฤต แต่ครั้งนี้กลับมาเปิดสวนต้อนรับเรา และรอลูกค้าให้พายเรือมาซื้อถึงที่เหมือนเช่นเคย
ซึ่งส้มบางมดหายไปตั้งแต่รุ่นคุณลุงอายุเพียง 25 และชาวสวนละมือจากส้มไปกว่า 20-30 ปี การกลับมาครั้งนี้ เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทำประตูน้ำรอบเมืองเอาไว้ ถ้าไม่มีประตูน้ำก็ไม่มีทางกลับมาทำสวนส้มได้อีก เนื่องจากชาวบ้านเคยนำเรือออกไปวัดน้ำเค็ม ซึ่งอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะตรงนั้นมีประตูกั้นน้ำปิดไว้ น้ำเค็มจึงไม่ไหลเข้ามาเพิ่ม ยิ่งปิดใกล้ๆ ตรงประตูสน.ท่าข้าม น้ำจากมหาชัยที่เป็นน้ำเค็มก็เข้ามาไม่ได้ จึงทำให้น้ำคลองบางมดกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง
โดยแต่ก่อนที่ปลูกได้โดยไม่มีประตูกั้นน้ำ เพราะระบบธรรมชาติมีการรักษากันเอง ซึ่งน้ำเหนือมีเยอะเลยช่วยดันน้ำทะเลออก แต่ตอนนี้น้ำเหนือมักจะแห้ง ทำให้เจ้าพระยาไม่ค่อยมีน้ำจืดลงมา เลยทำให้น้ำเค็มนั่นเอง หากมองปีนี้ฝนตกค่อนข้างน้อย ปีหน้าอาจจะลำบากขึ้นมากกว่าเดิม แต่ยังมีเขื่อนที่เปิดมาเพื่อดันน้ำเค็มช่วยชาวบ้านบ้าง
สมัยนี้การปลูกส้มยังคงเป็นเหมือนเมื่อก่อน แต่ไม่ต้องอดใจรอถึง 6 ปี เพราะพัฒนาการปลูก ทำให้ครบ 1 ปีเต็ม ก็ได้ลูกพร้อมขายแล้ว โดยพ่อค้าแม่ขายจะสั่งไว้ล่วงหน้าก็มี แต่ให้นั่งเรือเข้ามาเก็บเองได้เลย แต่บางคนช้าไปก็มักจะไม่ได้ส้มติดไม้ติดมือกลับไปขาย
การดูแลต้นส้มนั้น ชาวสวนได้ปลูกต้นทองหลางไว้ใกล้ต้นส้ม เพื่อให้ซับโรคไม่ให้แมลงมาโดนใบส้ม เพราะถ้าใบส้มโดนแมลงกิน จะลามไปยังราก รากก็จะเน่าได้ ซึ่งกว่าจะได้กินส้มบางมดแต่ละผลชาวสวนต้องประคบประหงมพอสมควร อีกทั้งยังเลี้ยงปลาไว้ในท้องร่องอีกด้วย เพื่อให้ปลาช่วยตีน้ำขณะว่าย เป็นการผสมน้ำในคลองให้เข้ากับน้ำที่ถูกปล่อยมา ถือว่าเป็นตัวช่วยทำให้น้ำกลมกล่อมก่อนจะถึงต้นส้ม
ผลไม้ที่รู้สึกว่าหากินยาก ตอนนี้ชุมชนคลองบางมดได้เปิดให้เข้าไปท่องเที่ยวเรียนรู้ชุมชน ล่องเรือลิ้มลองส้มบางมดสดจากสวน ที่เป็นของดีย่านบางมด เมื่อรู้แบบนี้แล้วไม่ต้องรีรอ ไปลงเรือลำเดียวกันไหม ?