สินค้าแนะนำ

พาเที่ยว พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี ประวัติศาสตร์ชามตราไก่ แห่งเมืองลำปาง

พาเที่ยว พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี ประวัติศาสตร์ชามตราไก่ แห่งเมืองลำปาง

ผู้เขียน นัย บำรุงเวช
นามของจังหวัดที่ใช้ชื่อวัสดุราคาแพงหายาก บ่งบอกถึงความมีค่า มีราคา และความมั่งคั่ง ใช่ว่าจังหวัดนั้นได้ใช้วัสดุนั้นสร้างขึ้นมาและมีวัตถุนั้นอยู่จริง อย่างเช่น ชื่อของจังหวัดอ่างทอง จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดสระแก้ว เป็นต้น ซึ่งเป็นเพียงชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนชื่อของจังหวัดลำปางไม่ได้บอกถึงความร่ำรวยโอ่อ่า แต่จังหวัดลำปางมีชามทองคำ ทำจากทองคำเป็นชามตราไก่ทองคำที่มีอยู่จริง

ชามตราไก่ทองคำใบนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี ภายในโรงงานเซรามิคธนบดี โรงงานเซรามิคธนบดีเป็นตำนานผู้สร้างประวัติศาสตร์ชามตราไก่เมืองลำปางที่คนทั้งประเทศรู้จักและใช้ประโยชน์กันมายาวนาน คนส่วนมากรู้จักชามตราไก่ว่าเป็นภาชนะสำหรับใส่ก๋วยเตี๋ยว ใส่ข้าวต้มมาเนิ่นนาน จนคุ้นเคยกันดีกับก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้ม และชามตราไก่ต้องเป็นของคู่กันกับก๋วยเตี๋ยวและข้าวต้ม ก่อนจะมีชามตราอื่นที่มีรูปทรงสวยงามเข้ามาเบียดพื้นที่การใช้งาน

ผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์ชามตราไก่แห่งเมืองลำปาง กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่บุกเบิกอุตสาหกรรมเซรามิกลำปางเริ่มจาก ซิมหยู แซ่ฉิน หรือ อาปาอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน) ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เมืองไท้ปู จังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ไท้ปูเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงทางด้านการผลิตถ้วยชาม กล่าวได้ว่า อาปาอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน เป็นผู้ที่สร้างตำนานอุตสาหกรรมเซรามิกให้กับลำปางและประเทศ “เพียงแค่หินลับมีดก้อนเดียวเป็นต้นเหตุของการจุดประกายการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ยิ่งใหญ่”

อนุสาวรีย์อาป้าอี้
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่มีโรงงานทำชามไก่ในประเทศไทย แต่คนจีนในประเทศไทยมีความต้องการใช้กันมาก พ่อค้าชาวจีนย่านตลาดทรงวาด, ตลาดเก่า พระนคร (กรุงเทพฯ) จึงสั่งชามไก่เข้ามาจากประเทศจีน ราคาในขณะนั้นถูก เมื่อประเทศต้องตกอยู่ในสภาวะสงครามทำให้ชามไก่พลอยขาดตลาดไปด้วย ราคาชามไก่จึงสูง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนชามไก่ในปี พ.ศ. 2480 ชาวจีนที่เคยทำชามไก่จากประเทศจีนและได้อพยพมาอยู่เมืองไทย จึงได้สร้างโรงงานและเตาเผาชามไก่ขึ้นที่กรุงเทพฯ บริเวณย่านวงเวียนใหญ่ ธนบุรี และแถวถนนเพชรบุรี พระนครกับที่เชียงใหม่ ทำชามไก่กันขึ้นมา แต่ก็ทำได้เป็นจำนวนน้อยและคุณภาพไม่ค่อยดี เนื่องจากดินที่ใช้ทำมีคุณสมบัติไม่ดีพอ

อาปาอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2459 ได้อพยพมาอยู่กับพี่ชายที่ประเทศเวียดนามก่อน พอปี พ.ศ. 2490 จึงอพยพเข้ามายังแผ่นดินสยามแถววงเวียนใหญ่ ธนบุรี ที่ ซิวคิม แซ่กว๊อก อาศัยอยู่ อาปาอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน) เป็นลูกพี่ลูกน้องกันกับ ซิวคิม แซ่กว๊อก ซิวคิมเกิดที่ตำบลโกปี อำเภอไท้ปู จังหวัดแต้จิ๋ว หลังจากจบชั้น ป.4 ได้เข้าทำงานในโรงงานทำถ้วยชามซุ่นเง็ก อยู่ในหมู่บ้านตนเอง ทำงานได้ทุกอย่างตั้งแต่การปั้น การเขียน การเคลือบ จนถึงการเผา

ในปี พ.ศ. 2490 ได้อพยพเข้ามายังแผ่นดินสยาม อาศัยทำงานอยู่กับญาติที่อพยพเข้ามาก่อน ทำงานในโรงงานถ้วยชามของ นายทวี ผลเจริญ ที่วงเวียนใหญ่ ธนบุรี ต่อมาซิวคิมได้ทราบข่าวว่าที่จังหวัดเชียงใหม่มีโรงงานทำเครื่องปั้นดินเผาแห่งหนึ่งชื่อ โรงงานบุญอยู่พานิช ทำโอ่งและกระถาง อยู่แถวห้วยแก้ว จึงเดินทางขึ้นมาทำงานด้วยเพราะมีประสบการณ์ติดตัวมาจากบ้านเกิด ทำงานอยู่ได้ 2 ปี อาปาอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน) ได้ตามขึ้นมาทำงานด้วยที่เชียงใหม่ ทำอยู่ด้วยกันหลายปี ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ วันหนึ่งเห็นชาวบ้านนำหินลับมีดมาขาย หินลับมีดนั้นมีสีขาวคล้ายกับดินขาวที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา ซักถามกับคนขายหินลับมีดจึงได้ความว่าเป็นหินที่ได้มาจากจังหวัดลำปาง

พวกเขาทั้งสองจึงลาออกจากโรงงานที่เชียงใหม่และเดินทางมายังจังหวัดลำปาง เข้ามาทำงานที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาของ นายประยูร ภมรศิริ (เคยลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปางหลายครั้ง) อยู่แถววัดพระแก้ว พอถึงฤดูแล้งเมื่อมีเวลาว่างทั้งสองจึงชวน นายเซี่ยะหยุย แซ่อื้อ ได้ปั่นจักรยานพร้อมกับขวานกะเทาะหินหนึ่งเล่มออกตระเวนไปตามที่ต่างๆ ของอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง โดยมี นายทวี ผลเจริญ ให้การสนันสนุน จนกระทั่งพบแหล่งดินขาว ที่บ้านปางค่า อำเภอแจ้ห่ม ระหว่างกิโลเมตรที่ 26-27 ถนนลำปาง-แจ้ห่ม หลังพบแหล่งดินขาวได้จ้างเกวียนเทียมวัวบรรทุกดินขาวออกมา ได้เริ่มโครงการขั้นทดลองจึงได้นำไปลองเผาที่เชียงใหม่ อีกส่วนได้นำดินขาวลงกรุงเทพฯ เพื่อไปลองทำที่โรงงาน ผลออกมาดี กล่าวกันว่าอีกส่วนหนึ่งนั้นนำกลับมาลองทำที่โรงงานของ นายประยูร ภมรศิริ

จากผลการทดลองที่ออกมาทำให้ทั้งสองจึงคิดที่จะตั้งโรงงงานทำเครื่องปั้นดินเผาเอง แต่ยังขาดทุนทรัพย์ จึงได้ลาออกจากโรงงานของนายประยูร ภมรศิริ เดินทางขึ้นเชียงใหม่อีกครั้ง ซิวคิมไปช่วยเพื่อนตัดเสื้อผ้าที่ตลาดบ้านกาด อำเภอสันป่าตอง ส่วนซิมหยูไปทำสวนผักอยู่ที่บ้านกาดเช่นกัน หลังเลิกงานทั้งสองแวะเวียนมาหาพูดคุยสอบถามสารทุกข์สุกดิบกันเป็นประจำ ทำงานอยู่หลายปี จนตัดสินใจร่วมกันตั้งโรงงานทำถ้วยชามแห่งแรกของลำปางชื่อ “โรงงานร่วมสามัคคี”

เมื่อปี พ.ศ. 2500 ที่บ้านป่าขาม จังหวัดลำปาง ได้รับเงินทุนจาก นายซินหมิน แซ่เลียว (ทำร้านตัดเสื้อ) จำนวน 20,000 บาท ให้มาตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งถือว่าเป็นโรงงานทำถ้วยชามแห่งแรกของจังหวัดลำปาง โดยอาศัยพื้นฐานและความชำนาญจากที่เคยทำงานในโรงงานถ้วยชามที่วงเวียนใหญ่มาก่อน ทำได้ 3 ปี เกิดไฟป่าลามมาเผาโรงงาน จึงต้องสร้างโรงงานใหม่อีกครั้งที่บ้านป่าขาม ชื่อ โรงงานสหมิตรศุภผล ทำได้ 3 ปี ก็ขยายกิจการสร้างอีกโรงงาน ทำต่อมาได้แยกย้ายกันไปตั้งโรงงานของตนเองที่บ้านป่าขาม

ซิมหยู แซ่ฉิน ตั้งโรงงานชื่อ โรงงานแป๊ะซิมหยู ทำถ้วยขนม ถ้วยตะไล ถ้วยน้ำจิ้ม คงการผลิตแบบดั้งเดิมและเผาด้วยเตามังกรเล้งเอี้ยเป็นเตาเผาแบบโบราณ ปัจจุบันโรงงานของซิมหยู แซ่ฉิน คือโรงงานธนบดี โรงงานของเซี่ยะหยุย แซ่อื้อ คือ โรงงานไทยมิตร และโรงงานของซิวกิม แซ่กว๊อก คือ โรงงานกฎชาญเจริญ

ชามไก่ หรือชามตราไก่

ชามไก่กําเนิดในเมืองจีนเมื่อกว่าร้อยปี โดยชาวจีนแคะ (ฮากกา) และชาวจีนแต้จิ๋ว ชามไก่ หรือชามตราไก่ หรือที่คนเมืองเหนือเรียกว่า “ชามก๋าไก่” หรือ “ถ้วยก๋าไก่” คนแต้จิ๋วเรียก “โกยอั้ว” หรือ “แกกุงหว่อน” ปัจจุบันยังคงเรียก “ชามตราไก่” หรือ “ชามไก่” ถิ่นฐานเดิมที่ทำชามไก่ อยู่ที่ตำบลกอปี อำเภอไท้ปู มณฑลกวางตุ้ง ชามไก่ที่ชาวบ้านตำบลกอปีทำขึ้นมายังไม่มีลาย เป็นชามสีขาวธรรมดา ต้องนำไปเขียนลวดลายเผาสีบนเคลือบ ที่ตำบลปังโกย ติดต่อกับตำบลกอปี เกิดเป็นชามลายไก่ขึ้นมา ต่อจากนั้นจึงไปขายให้กับชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ตามประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย

ชามตราไก่เป็นภาชนะใส่อาหารที่อยู่สังคมไทยมานานชนิดหนึ่ง คนจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยนิยมใช้ใส่ข้าวต้ม ชามมีขนาดเหมาะกับการใช้ตะเกียบพุ้ย คนไทยใช้เป็นชามก๋วยเตี๋ยว ร้านขายก๋วยเตี๋ยวจึงนิยมใช้ชามตราไก่

ลักษณะของชามไก่ ชามไก่ในยุคแรกเป็นชามทรงแปดเหลี่ยมเกือบกลมปากบาน ข้างชามด้านนอกมีรอยบุ๋มเข้าไปเล็กน้อย 8 รอย รับกับเหลี่ยมของชามและกระชับกับนิ้วมือในแต่ละรอยบุ๋ม ทำให้จับยึดชามได้มั่นคงขึ้น ไม่ลื่นหลุดจากมือได้ง่าย ชามต้องมีความหนาและก้นชามต้องสูง อันเป็น 3 เอกลักษณ์ประจำชามตราไก่ วาดลายบนเคลือบด้วยมือ เป็นรูปไก่สีส้ม ขนคอและลำตัวเป็นสีส้ม ส่วนหางและขาสีดำ ย่างขาหรือวิ่งอยู่บนหญ้าสีเขียว มีดอกโบตั๋นสีชมพูม่วงออกม่วง ใบสีเขียวตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านซ้าย และมีต้นกล้วย 3 ใบสีเขียว ตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านขวาและต้นผักกาด

ชามบางใบอาจมีเพิ่มเติมลวดลายอื่นสอดแทรกเข้ามา ชามตราไก่ขนาด 5-6 นิ้ว สำหรับใช้ตามบ้านและร้านข้าวต้ม ส่วนชามตราไก่ขนาด 7-8 นิ้ว เหมาะกับผู้ใช้แรงงานหนักใช้ เพราะต้องรับประทานมาก ชามไก่หรือชามตราไก่เคยเป็นของใช้ประจำครัวคนจีนแทบทุกครัวเรือน แต่ในครัวคนจีนรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยพบชามไก่หรือชามตราไก่มากนัก

ภายในครัว
ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2481-2487) ได้ใช้นโยบาย “รัฐนิยม” เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีความรักความหวงแหนในความเป็นไทย โดยได้ออกนโยบาย “รัฐนิยม” ให้คนไทยหันมาใช้ของที่ทำขึ้นในประเทศไทย ห้ามสั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา ทำให้ชามไก่จากลำปางขายดีอย่างมาก และส่งเสริมให้คนไทยรับประทานก๋วยเตี๋ยวและขายก๋วยเตี๋ยวกัน จะเป็นการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และโดยทางการได้ทำหนังสือเวียนแจกจ่ายไปทุกจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และครูใหญ่ทุกโรงเรียนต้องขายก๋วยเตี๋ยว และชามที่ใส่ก๋วยเตี๋ยวจึงหนีไม่พ้นชามไก่

ในปี 2506 โรงงานเริ่มหันมาผลิตถ้วยชามรูปแบบอื่นๆ มากขึ้น วิถีทางในการผลิตชามไก่แบบดั้งเดิมก็เริ่มลดความละเอียดลง ราคาถูกลง ผลิตน้อยลง จนชามไก่เกือบหายไปจากตลาด แต่พอหมดยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เกิดปัญหาตามมา คือ

มีการผลิตชามไก่กันขึ้นมามาก เกิดการตัดราคากันเอง และมีการทำชามไก่แบบต้นทุนต่ำ และ
ชามจากต่างประเทศถูกสั่งเข้ามามากขึ้น ทำให้ชามไก่ค่อยๆ หายไปจากสังคม ตั้งแต่ปี 2507
เถ้าแก่ชาญ ลิมป์ไพบูลย์ เจ้าของโรงงานไทยเจริญ เล่าถึงอดีตชาวจีนนักปั้นถ้วยชามที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยไม่ต่างจากตนเองว่า ตนเป็นเด็กชาวจีนที่เดินทางมาไทยตั้งแต่สมัยเด็กๆ มาถึงก็มาเรียนมารับจ้างทำงานในโรงถ้วยแถววงเวียนใหญ่ สมัยนั้นค่าจ้างวันละ 5 บาท สูงสุดได้ 8 บาท เป็นการทำงานแบบไม่มีวันหยุด สินค้าที่ทำก็เป็นชามไก่เกือบทั้งหมด ผ่านการทำงานหนักเก็บหอมรอมริบ ปี พ.ศ. 2504 เถ้าแก่ชาญก็มาเป็นหุ้นส่วนทำโรงถ้วย แต่เพราะไม่ค่อยมีวัตถุดิบในการทำจึงย้ายมาอยู่ลำปางเมื่อปี พ.ศ. 2508 เถ้าแก่ชาญเล่าว่า ในปี พ.ศ. 2516 ราคาชามไก่มีราคาเพียงใบละ 58 สตางค์เท่านั้น

พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดีก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2556 ตั้งอยู่เลขที่ 32 ถนนวัดจองคำ ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ก่อตั้งโดย นายพนาสิน ธนบดีสกุล ทายาทรุ่นที่ 2 ของ นายอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน) วัตถุประสงค์ของการตั้งพิพิธภัณฑ์ก็เพื่อรักษาเกียรติประวัติของอาปาอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน) ต้นตระกูลธนบดีสกุลผู้ค้นพบแร่ดินขาวและก่อตั้งโรงงานเซรามิกแห่งแรกของลำปาง เพื่อรวบรวมความเป็นมาและตำนานของ “ชามไก่แห่งธนบดี” ทั้งเพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเซรามิกและศิลปะให้กับผู้ที่สนใจ

พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี เปิดให้เข้าตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. แบ่งเป็นรอบๆ มีรอบ 09.00 น. 10.00 น. 11.00 น. 13.00 น. 14.00 น. 15.00 น. และ 16.00 น. ใช้เวลาเดินชมประมาณ 1 ชั่วโมง มีวิทยากรบรรยายทุกรอบ พิพิธภัณฑ์เปิดให้ชมทุกวันไม่มีวันหยุด เดิมอัตราค่าเข้าชม สำหรับคนไทย ผู้ใหญ่ 60 บาท / รับคูปองส่วนลด 50 บาท เมื่อซื้อสินค้ามูลค่า 500 บาท , นักเรียน นักศึกษา 30 บาท / รับคูปองส่วนลด 20 บาท เมื่อซื้อสินค้ามูลค่า 200 บาท, ชาวต่างชาติ 100 บาท / รับคูปองส่วนลด 100 บาท เมื่อซื้อสินค้ามูลค่า 1,000 บาท , ผู้สูงอายุ60 ปี ขึ้นไป / เด็กต่ำกว่า 13 ปี / นักบวชทุกศาสนา / ผู้พิการ รับสิทธิ์เข้าชมฟรี

ภายในพิพิธภัณฑ์แสดงถึงประวัติของบริษัทในเครือธนบดี นิทรรศการห้องแรกเริ่มจากการเล่าประวัติความเป็นมาของ อาปาอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน) มาจากไหนทำอะไรอยู่ที่ไหน การใช้ชีวิตครอบครัวในไทย การก่อตั้งโรงงาน มีของโบราณหลายชิ้นจัดแสดงไว้ เช่น จักรยานโบราณที่อาปาอี้ (ซิมหยู) ถีบตามหาหินขาวที่อำเภอแจ้ห่ม ก้อนหินลับมีดต้นเหตุแห่งการเกิดโรงงาน จัดแสดงจำลองครัวโบราณและห้องอาหารโบราณผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมจีนกับวัฒนธรรมเมืองเหนือไว้นั่งรับประทานอาหารพร้อมครอบครัว มีเตาฟืนสำหรับก่อไฟทำอาหาร กาน้ำร้อน ถ้วยน้ำชาโบราณ ถ้วยชามที่ใส่อาหารไทย เครื่องครัวสมัยก่อน เช่น กัวะข้าว ถาดไม้สักใส่ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วเกลี่ยให้ข้าวเย็น หม้อดินเผาใส่น้ำพร้อมกระบวยตัก เป็นต้น

มีเตียงไม้สำหรับนั่งเล่น ถัดจากครัวโบราณ การบอกเล่าขั้นตอนในการสร้างอนุสาวรีย์อาปาอี้กับคณะผู้สร้าง ภาพวาดครอบครัวพ่อไก่ส้ม-แม่ไก่ส้ม ต่อมาเป็นการล่าประวัติความเป็นมาและเหตุการณ์ของชามตราไก่ในแต่ละยุค ภาพแสดงการทำชามตราไก่แบบโบราณ (พ.ศ. 2500-2508) มาอีกฝั่งของนิทรรศการเป็นจุดเด่นของนิทรรศการ คือชามตราไก่ขนาดจิ๋วที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก, ชามตราไก่ทองคำ, ชามไก่ที่บางที่สุด พร้อมชามตราไก่รุ่นเก่าในยุคต่างๆ หลายรูปแบบจัดแสดงไว้

ชามตราไก่จิ๋ว มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 มิลลิเมตร ขนาดไล่เลี่ยกับข้าวสาร อยู่ภายในตู้กระจกทรงพีระมิด การดูต้องดูผ่านแว่นขยายที่ติดไว้บนแผ่นกระจกทั้ง 4 ด้าน จึงเห็นได้ชัด จึงเห็นลวดลายตัวไก่บนชามเล็ก ขั้นตอนการทำไม่ต่างไปจากการทำชามใบใหญ่ขนาดปกติ การเขียนลายบนถ้วยจึงต้องใช้พู่กันขนาดเล็กพิเศษ ขนพู่กันทำจากขนอ่อนด้านในของหูม้า ชามเล็กถูกวางไว้บนโต๊ะอาหารจำลองจำนวน 4 ใบ ใส่อาหารไว้ ด้านหน้ามีเงินเหรียญบาท เหรียญสลึงวางไว้ ข้างๆ และมีเมล็ดข้าวเปลือกวางไว้บนฐาน เพื่อเป็นการเปรียบเทียบขนาดของชามตราไก่เล็กที่สุดนั้นมีขนาดที่เล็กกว่าเมล็ดข้าวเปลือก ชามตราไก่จิ๋วสร้างเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ชามตราไก่ทองคำ
ชามตราไก่ทองคำ อยู่ในตู้กระจกครอบ มีใบเดียว คุณพนาสิน ธนบดีสกุล เจ้าของและผู้บริหารพิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี ได้กล่าวถึงเหตุผลในการทำชามตราไก่ทองคำขึ้นมานั้น เกิดจากแนวคิดที่ตั้งใจจะสร้างความแปลกใหม่ขึ้นมาให้ประชาชนได้มาชมและเพื่อเป็นการยกระดับชามตราไก่ให้มีคุณค่าสูงขึ้น ตระหนักในความสำคัญของชามตราไก่ที่ถูกใช้ประโยชน์มายาวนาน ไม่ใช่ชามที่ไร้คุณค่าราคาและไร้ความสำคัญแต่ประการใด

ชามตราไก่ทองคำทำขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557 ใช้ทุนในการสร้างประมาณ 150,000 บาท ทำจากทองคำแท้ 99% ใช้เวลาในทำ 2 เดือน มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 17 นิ้ว (ขนาดใหญ่กว่าชามตราไก่ปกติที่ใช้กัน 8 นิ้ว) ด้านในชามเป็นทองคำเป็นเงาวาววาม ส่วนด้านนอกใช้น้ำทองวาดเป็นรูปไก่ทองคำบนพื้นสีขาว ตัวชามวางบนขาเหล็กสแตนเลส 3 ขายกสูงขึ้น มองลงที่ใต้ก้นชามเห็นโลโก “เล้งเอี้ย” ของโรงงาน ที่พื้นกระจกสะท้อนเงาขึ้น และมีทองคำแท่งอีกแท่งวางไว้เพื่อให้เปรียบเทียบสีทองที่ชามและทองแท่ง นักท่องเที่ยวที่มาชมพิพิธภัณฑ์ต่างมีจุดมุ่งหมายหลัก ก็เพื่อมาดูชามตราไก่ทองคำกัน

ชามตราไก่ที่บางที่สุด ความหนาเพียง 0.9 มิลลิเมตร (หรือ 900 ไมครอน) มีจำนวน 3 ใบ อยู่ในตู้กระจกครอบ ความบางของชามบางจนแสงสว่างส่องผ่านได้ เพื่อให้เห็นว่าแสงไฟส่องผ่านได้จริงจึงติดโคมไฟฟ้าส่องผ่านชาม ชามตราไก่ที่บางที่สุดทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เมื่อเดินต่อมาเป็นการสาธิตขั้นตอนการผลิตชามไก่แบบโบราณที่ทำด้วยมือ ไม่ได้ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีทันสมัยในการผลิต การสาธิตการทำชามไก่ทั้งการปั้น การวาดภาพ ลงสี การวาดลวดลายแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งดูกระบวนการผลิตเซรามิกสมัยใหม่ยุคปัจจุบันควบคู่กันไป คนงานส่วนมากเป็นผู้หญิง จากนั้นเดินเข้าไปดูเตามังกรเป็นเตาโบราณ

เตามังกร หรือ “เล้งเอี้ย” เป็นเตาเผาถ้วยชามแบบโบราณที่โรงงานทำถ้วยชามในยุคแรกอีกหลายแห่งใช้กัน เช่นเดียวกับอาปาอี้พร้อมคนงานอีกคนช่วยกันสร้างเตามังกรขึ้นมาเองในปี พ.ศ. 2508 นำดินจากทุ่งนาบริเวณนั้นและดินจอมปลวกใช้เวลาทำถึง 1 ปี ซึ่งผู้จะสร้างและใช้เตามังกรโบราณได้ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์และมีความรู้ในการสร้างมาก่อน เตามังกรเป็นเตาเผาของจีนคล้ายกับอุโมงค์ยาว

เตามังกรโบราณของอาปาอี้มีอยู่ 2 เตา เตาใหญ่สูง 3 เมตร ยาว 25 เมตร และเตาขนาดรองสูง 3 เมตร ยาว 23 เมตร ส่วนบนสูงมีปล่องควัน หัวเตาหรือหัวมังกรส่วนท้ายลาดต่ำมีช่องใส่ฟืนไม้ไผ่แห้ง ใช้เวลาก่อไฟ 8 ชั่วโมง มี 24 คู่ช่องตาเตา ใส่ตาเตาคู่แรกเผาไว้ 45 นาที แล้วเลื่อนไปตาเตาต่อไปทุกๆ 45 นาที จนถึงตาเตาสุดท้าย เผาชามไก่ได้ถึง 5,000-8,000 ใบ ต่อเตา ระยะเวลาเผา 1 วัน 1 คืน ทิ้งไว้ 3 วัน ก่อนเอาออกจากเตา แต่ใช้เวลาวางถ้วยชามลงใน “จ๊อ” หรือ หีบดิน (ลักษณะเป็นถาดดินคล้ายเข่งปลาทู) แล้วเข้าไปวางเรียงในเตานาน 3-4 วัน อุณหภูมิภายในเตามังกรประมาณ 1,260 องศาเซลเซียส

การวัดอุณหภูมิใช้การคาดคะเนจากสายตาและประสบการณ์สังเกตได้จากเปลวไฟ ถ้าเปลวไฟเป็นสีขาวแสดงว่าเผาได้ที่แล้ว แต่ปัจจุบันเตามังกรโบราณไม่ได้ใช้งานกันแล้วและกำลังขอขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร เนื่องจากเป็นเตาเผาโบราณที่นี่เป็นเตาเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดลำปางและยังมีอยู่อีกหลายแห่งที่ไม่ได้ใช้แล้วเช่นกัน

จากเตามังกรมาชมขั้นตอนการทำชามตราไก่ ทำถ้วยตะไล ต่อจากนั้นมาชมห้องจัดนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ของโรงงานมีสินค้ามากมายหลายอย่างหลายรูปแบบ ทั้งสินค้าที่ส่งจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนผลงานของคนดังระดับประเทศที่มาเที่ยวแล้วเขียนลายบนผลิตภัณฑ์เซรามิกเป็นที่ระลึก ห้องนี้ได้จัดแสดง “ขลุ่ยเซรามิก” อยู่ในตู้กระจกครอบ ขลุ่ยเซรามิกทำขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559 เป็นขลุ่ยเลาแรกของประเทศที่ผลิตจากดินขาวของลำปาง บนตัวขลุ่ยบรรจงเขียนลวดลายด้วยศิลปะลายคำวิหารน้ำแต้มของวัดพระธาตุลำปางหลวงอย่างประณีตสวยงาม สามารถเป่าให้เกิดเสียงจริงตรงตามโน้ตด้วยการทำลิ้นขลุ่ยจาก อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ จึงให้เสียงเพราะนุ่มนวลไม่ต่างจากขลุ่ยไม้

ได้ใช้ในการเป่าบรรเลงเพลงครั้งแรกเมื่อ งานหลวงเวียงละกอน “สืบสานตำนานพ่อเจ้าทิพย์ช้าง วีรบุรุษแห่งเขลางค์ล้านนา” ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 17-18 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 กลางคืนเป็นเปิดตัวขลุ่ยเซรามิกลายคำ เป่าบรรเลงโดย อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี พิพิธภัณฑ์ธนบดีเซรามิคได้ทำขลุ่ยลายคำตัวต้นแบบออกมารวม 3 เลา และเตรียมจดสิทธิบัตร และครั้งล่าสุดอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ได้เป่าอีกครั้งในงานสลุงหลวงกลองใหญ่ ลำปาง เมื่อสงกรานต์ เมษายน พ.ศ. 2560

ที่ลำปางมีชามตราไก่ใบใหญ่มาก โดยทางสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลําปาง ได้สร้างประติมากรรมรูปชามตราไก่ที่ไม่ใช่เซรามิก มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เมตร บนแท่นคอนกรีตสูงเด่นไว้ที่แยกทางบ้านย่าเป้า ใกล้ตำรวจทางหลวง ก่อนเข้าเมืองลำปาง ติดริมถนนพหลโยธิน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2542 ให้ผู้ที่ผ่านและนักท่องเที่ยวไปมาได้รับรู้และเห็นความสําคัญของชามไก่ที่มีต่อจังหวัดลําปาง และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปหันกลับมาใช้ชามไก่มากยิ่งขึ้น ประติมากรรมรูปชามตราไก่นี้ใครๆ ก็มักผ่านเลยกัน ชามไก่ขนาดใหญ่อีกใบอยู่ที่อินทราเอาท์เลท (Indra Outlet) มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร ด้านหลังมีบันไดให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นเข้าไปอยู่ในชาม

ความสำคัญของเซรามิกทางสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางจึงได้มีการจัดงาน “เซรามิกแฟร์” เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 และจัดติดต่อกันสืบมาจนถึงครั้งที่ 29 (พ.ศ. 2559)

เมื่อสิ้นสุดการเดินชมนิทรรศการและชมการผลิต นักท่องเที่ยวเดินออกมาจากพิพิธภัณฑ์แล้วจะเข้าไปในร้านค้าขายของที่ระลึก ภายในจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก ของใช้ เซรามิกมากมายหลายแบบ มีร้านขายกาแฟ ชิมกาแฟสูตรพิเศษของธนบดีได้ เป็นจุดสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ

การเดินทาง
ผู้ต้องการจะเดินมาชมชามตราไก่ทองคำ, ชามไก่ที่บางที่สุด, ชามตราไก่ขนาดจิ๋วที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก พร้อมชามตราไก่รุ่นเก่าในยุคต่างๆ และขลุ่ยเซรามิคเพื่อเป็นบุญตานั้น สามารถเดินทางมาได้ทุกวัน การเดินทางเมื่อเดินทางถึงลำปางจากถนนพหลโยธินจะขึ้นไปเชียงราย ให้เลี้ยวขวาตรงสี่แยกสนามบินเข้าถนนพระบาท เลี้ยวซ้ายเข้าซอยพระบาท 1 หรือเลยเลี้ยวขวาที่สี่แยกป่าแขมทางไปแม่เมาะ เลี้ยวกลับลงมาทางขนาน เมื่อเลยปั๊มน้ำมัน ปตท. เยื้องกับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีลำปาง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนวัดจองคำ ตรงไปทางวิทยาลัยสารพัดช่างลำปาง มีป้ายบอกทางเข้าบริษัทธนบดี พิพิธภัณฑ์ธนบดีอยู่ติดกับด้านหลังของวัดจองคำ โทรศัพท์สอบถามได้ที่ 054-351-099 ต่อ 103

พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี
32 ถนนวัดจองคำ พระบาท ซอย 1 ต.พระบาท อำเภอเมืองลำปาง ลำปาง 52000

Share