สินค้าแนะนำ

พระศิลปินแห่งวัดล้านหอยรับรางวัลผู้ประกาศสันติภาพโลก

พระศิลปินแห่งวัดล้านหอยรับรางวัลผู้ประกาศสันติภาพโลก

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ณ วัดรัตนเนตตาราม (ล้านหอย) ต.นาดี อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี 5th Nov 2023 25th ThailandIFF@The East Samut Prakan, Chonburi, Prachinburi (2nd-7th Nov) 5th Nov.2023@SRIRAJA, Chonburi -NADI, Prachinburi.

เริ่มเวลา 08.30 น. อาคันตุกะศิลปินนานาชาติเดินทางไปอำเภอนาดี ปราจีนบุรี, เวลา 12.00 น. รับประทานอาหารเที่ยงที่วัดรัตนเนตตาราม (ล้านหอย), เวลา 13.00 น. ถวายผ้าป่าไทย-นานาชาติ สมทบองค์กฐิน ร่วมตักบาตรข้าวสารตามประเพณี, เวลา15.00 น. – เวลา 16.30 น. พิธีถวายโล่ รางวัลผู้ประกาศสันติภาพโลกแด่พระอธิการสิริลักษณ์ธีรวังโส เจ้าอาวาสวัดรัตนเนตตาราม (ล้านหอย) ผู้แทนอาคันตุกะศิลปินนานาชาติกล่าวสดุดีและถวายโล่ห์เชิดชูเกียรติแด่พระอธิการสิริลักษณ์ธีรวังโส จากนั้นพระอธิการสิริลักษณ์ธีรวังโส กล่าวสัมโมทนียกถาพุทธศาสนากับสันติภาพโลก และนำอาคันตุกะศิลปินฝึกสมาธิ 17 นาที…อาคันตุกะศิลปินนานาชาติประเทศเกาหลี ฮังการี รัสเซีย กล่าวสุนทรพจน์ประกาศสันติภาพโลกประเทศละ 5 นาที ตามลำดับ อาคันตุกะศิลปินทุกคนถือกรวยดอกไม้เข้าแถวและเข้าไปแสดงมุฑิตาสักการะทีละประเทศ และรับมอบใบประกาศนียบัตรจากพระอธิการสิริลักษณ์ธีรวังโส ตามด้วยอุบาสกอุบาสิกาและญาติโยมตามลำดับ, เวลา 16.30 น. รับประทานอาหารค่ำ, เวลา 17.30 น. อาคันตุกะศิลปินขึ้นสู่เวทีการแสดงพร้อมธงและป้ายชื่อประเทศ, เวลา 18.00 น. ประธานในพิธีกล่าวเปิดงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติแห่งประเทศไทย : วัดรัตนเนตตาราม (ล้านหอย) ครั้งที่ 1 มอบเพชรเอเชียแห่งเอเชีย,เวลา 18.20 น. พิธีลงนามความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมและแพทย์พื้นบ้านนานาชาติ ระหว่างผู้แทนอาคันตุกะศิลปินทุกประเทศกับพระอธิการสิริลักษณ์ธีรวังโส

และส่วนราชการและองค์กรนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง, เวลา 19.00 น. การแสดงนาฏศิลป์ดนตรีนานาชาติสลับกับท้องถิ่น (เรียงลำดับตามอักษรชื่อประเทศ), เวลา 21.00 น. ปิดการแสดงด้วยฟินัลเล่ย์ของอิตาลี, เวลา 21.30 น. เข้าที่พัก@อนันตราปุระ รีสอร์ท เป็นอันสิ้นสุดวันแรก

พระนักพัฒนาชุมชนผู้อุทิศชีวิตสร้างวัดนาร้างให้กลายเป็น “วิมานพุทธศิลป์” แหล่งเรียนรู้ศาสนาพุทธประวัติและสถานที่ท่องเที่ยวช่วยสร้างรายได้เศรษฐกิจชุมชนคึกคัก ฝันอยากได้รับการสนับสนุนยกระดับวัดเป็นโรงเรียนสอนประติมากรรมพุทธศิลป์สืบสานศิลปะไทย

“วัดรัตนเนตตาราม” ตั้งอยู่ที่ ตำบลสำพันตา อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี หรือ “วัดล้านหอย” ตามที่ชาวบ้านหรือนักท่องเที่ยวเรียกกันติดปาก วัดดังระดับจังหวัดที่คนต่างถิ่นอุตส่าเดินทางไกลเพื่อมายลโฉมงานพุทธศิลป์ฝีมือปั้นของ  “พระอธิการ สิริลักษณ์ ธีรวังโส” เจ้าอาวาส ทั้งหอระฆัง มณฑป พระพุทธรูป สัตว์เทพนิยาย หรือ พระนอนขนาดใหญ่ ล่าสุดเพิ่งสร้างเสร็จแล้ว “เมรุเปลือกหอย” แห่งเดียวในประเทศไทย รวมถึงการจัดตกแต่งวิวทิวทัศน์ธรรมชาติที่อยู่ด้านหลังวัดกลางทุ่งนา ไม่ใช่แค่พื้นที่ว่างไว้ปลูกข้าว แต่ได้พัฒนาเป็น “สวนหย่อม” ขนาดใหญ่ ประดับตกแต่งแบบธรรมชาตินิยมด้วยการเนรมิตทุ่งนารกร้าง ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้พระพุทธศาสนาผ่านงานศิลปะ ตลอดเส้นทางเดินมีซุ่มไม้ไผ่ไม้เลื้อย ดอกไม้นานพรรณ ศาลา กุฎิยกพื้นตกแต่งแบบไทย ๆ และพระพุทธรูปปูนปั้น บรรยากาศสุดแสนร่มรื่นสวยงามผสมผสานกับงานปั้นแซมทุกย่างก้าวที่เดินไปตามทางปูน หรือ ทางไม้อันคดเคี้ยวจากไอเดียสุดเก๋ผสมกับความชำนาญงานศิลป์ออกแบบได้ลงตัวราวกับกระท่อมปลายนาในฝัน

วัดล้านหอย โอมล้อมไปด้วยทุ่งนาและฝูงควายนับสิบชีวิตที่เจ้าอาวาสเลี้ยงไว้เพื่อโปรดสัตว์จากการที่ชาวบ้านนำมาถวายเพื่อไถ่ชีวิต บรรยากาศวัดไม่ต่างจากหนังรักโรแมนติกย้อนยุค “มนต์รักลูกทุ่ง” ภาพไอ้คล้าวกับทองกวาวแว่บขึ้นมาทันทียามเดินชมไปรอบ ๆ ถึงว่าคนรุ่นใหม่ นักท่องเที่ยวต่างถิ่น หรือผู้เฒ่าผู้แก่ต่างพากันมาเซลฟี่ หรือ รีวิวซ้ำความงดงามของวัด ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนดังกระหึ่มในโลกโซเซียล

เจ้าอาวาสวัดล้านหอย กล่าว “ไม่ต้องตั้งตู้บริจาคให้รกวัด ไม่ได้อยากได้ปัจจัยจากกระเป๋าโยม หากโยมเข้าวัดแล้วมีความสุขทางใจ กับงานปฏิมากรรมพุทธศิลป์ หรือบรรยากาศวัด เขาก็จะทำบุญให้วัดเองเราเป็นวัดไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจ แต่เราทำเพื่อให้ญาติโยมมีความสุขทางใจ”

สำหรับพระอาจารย์พระอธิการ สิริลักษณ์ ธีรวังโสเป็นลูกชาวนาแท้ ๆ ที่เกิดใน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ว่าที่ตัวท่านและวัดจะมีชื่อเสียงโด่งดัง ณ ปัจจุบัน ต้องฝ่าฟันอุปสรรคแสนสาหัสขนาดไหน ย้อนไปเมื่อ 2552 ปีแรกที่พระอาจารย์ ย้ายกลับมาจำวัดบ้านเกิด เลือกจำวัดที่วัดรัตนเนตตาราม เพราะศรัทธาต่อ “หลวงพ่อสุน” อดีตเจ้าอาวาส พระอาจารย์ผู้เกร่งกล้าวิชาอาคมและแพทย์แผนโบราณรักษาชีวิตคนในหมู่บ้านมานับครั้งไม่ถ้วน จนชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก ซึ่ง “หลวงพ่อสุน”เป็นพระอุปัชฌาย์ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้พระอธิการ สิริลักษณ์ ธีรวังโส สร้าง “เมรุเปลือกหอย”เพื่อทำพิธีถวายเพลิงพระสรีรางคารพระอาจารย์ของท่าน

แต่ก่อนจะกลับถิ่นเกิด พระอธิการ สิริลักษณ์ ธีรวังโส ได้ไปร่ำเรียนวิชาประติมากรรมจาก สำนักปฏิบัติธรรมสันกู่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เริ่มจากหัดเรียนปั้นหัวพญานาคก่อน สะสมความรู้ราว 6 ปี จนวิทยายุทธ์แก่กล้า พร้อมกับได้วิชาและความเชื่อศรัทธาในวิถี “เซน” หนึ่งในวิถีพุทธที่สอนให้รู้จักกล้าลงมือ “ทำ” มากกว่า พูด หรือ คิด ติดตัวกลับมาด้วย จึงกลายเป็นพลังและแรงบันดาลใจมาพัฒนา วัดรัตนเนตตาราม จากวัดหัวไร่ปลายนา ที่ไม่มีใครรู้จักให้กลายเป็น “วิมานพุทธศิลป์” สวยงามชื่อดังระดับประเทศ

งานศิลป์ทุกชิ้นล้วนมาจากน้ำพักน้ำแรง พระอาจารย์และลูกศิษย์ โดยเฉพาะ มณฑป กับ หอระฆัง จุดไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวชอบมาเดินชื่นชมความอ่อนช้อยงดงามของลวดลายหอย นับล้าน ๆ ชิ้นที่สลักแซมอยู่ทุกชิ้นงานเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ หรือ รูปปั้นยักษ์ หรือ เทพนิยายในตำนาน บวกกับ “นิมิตร” ที่พระอาจารย์ฝันเห็นและเติมใส่จิตนาการเข้าไปด้วย งานทุกชิ้นต่างใช้ “เปลือกหอย” ประดับประดาตกแต่งราวกับ “อาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์” ที่เห็นแล้วต้องตื่นตะลึงกับไอเดียสุดแสนบรรเจิดตระการตา

เจ้าอาวาส กล่าวย้อนอดีต “งานแต่ละชิ้นใช้เวลานานนับปี ช่วงแรกที่สร้างวัด เริ่มทำงานปั้นตั้งแต่ 07.00 น. ภายหลังเดินบิณฑบาตและฉันเช้าเสร็จก็ลุยงานทันที กว่าจะหยุดพักเกือบเที่ยงคืนทุกวัน ความเหนื่อยทางกายในสมัยนั้น คือ ต้องปีนขึ้น – ลงความสูงตึก 3 – 4 ชั้น นับร้อย ๆ เที่ยวต่อวัน เพื่อลงมาตำปูนแข็ง ๆ ให้กลายเป็นผง และกว่าจะผสมและขยำปูนให้ได้ทีเล่นเอาหอบ ยุคนั้นพระอาจารย์มี้ แทบได้ฉันเพียงวันละมื้อ ความเหนื่อยยากทางกายไม่เท่าไร”

แต่ความเหนื่อยทางใจ หนักหนาสาหัส เพราะต้องทนกับเสียงคำวิพากษ์วิจารณ์ดูถูกทับถมว่า เป็นพระเพี้ยน จากคนในชุมชน แต่ไม่เคยย่อท้อ ทุ่มกายทุ่มใจทำงานศิลป์ต่อไปจนสำเร็จเป็นชิ้นงานนับได้ร้อยชิ้น โดยใช้เวลากว่า 6 – 7 ปี ในที่สุด ชุมชนโดยรอบเริ่มยอมรับ ใน ปี  2558 เศรษฐกิจในชุมชนคึกคัก เพราะนักท่องเที่ยวแห่กันมาเที่ยววัดล้านหอย ชาวบ้านในท้องถิ่นเริ่มตาสว่าง จากเคยปรามาส พระเพี้ยน  มาวันนี้กลับกลายเป็น “พระนักพัฒนาชุมชน” สร้างธุรกิจและการท่องเที่ยวชุมชนบ้านนอกที่อยู่ไกลปืนเที่ยงให้เป็นที่รู้จัก

อีกความตั้งใจที่พระอาจารย์วาดฝัน คือ อยากสร้าง “โรงเรียนสอนปั้นประติมากรรมพุทธศิลป์” ไม่ใช่ให้มาบวชเรียนเป็นพระหรือสามเณร แต่ต้องการให้เด็กหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ได้มีทักษะฝีมืองานศิลปะการปั้น ไปประกอบอาชีพได้ เช่น อาจมารับจ้างเป็นลูกมือทำงานในวัด รับจ้างปั้นตุ๊กตา กระถาง เป็นต้น จำหน่ายเป็นของที่ระลึกประจำท้องถิ่น

นับว่า พระอธิการ สิริลักษณ์ ธีรวังโส เจ้าอาวาสวัดรัตนเนตตาราม เป็นพระนักการศึกษาและพระนักพัฒนาชุมชนตัวจริงโดยแท้ ด้วยการใช้วิชาความรู้ที่มีอยู่ แม้ไม่เคยร่ำเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นเพียงลูกชาวนาคนหนึ่งที่ขยันหมั่นเพียรหาความรู้ แต่เป็นทักษะวิชาชีวิตที่ฝึกฝนด้วยตัวเองผ่านประสบการณ์จริงที่บากบั่นเรียนรู้ไปตลอดชีวิต และยังต้องออกเดินทางไปวัดต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้งานพุทธศิลป์ไปทั่วประเทศ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาพัฒนาวัดตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่ง

Share