สัก ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tectona grandis L.f. ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปีฮี ปีฮือ เป้อยี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ปายี้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), เส่บายี้ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), เคาะเยียโอ (ละว้า-เชียงใหม่) เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นสัก มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย พม่า ลาว และไทย (ส่วนที่ติดภาคเหนือของไทย) โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ ที่มีความสูงของต้นตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร มีลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลมค่อนข้างทึบ เปลือกต้นหนาเป็นเทา หรือสีนํ้าตาลอ่อนแกมเทา เปลือกต้นเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามความยาวของลำต้น พอต้นแก่โคนต้นจะเป็นร่องและมีพูพอนขึ้นบ้างเล็กน้อย ตามกิ่งอ่อนเป็นรูปเหลี่ยม ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีเหลือง ส่วนลักษณะของเนื้อไม้จะเป็นสีนํ้าตาลทอง (เรียกว่า “สักทอง”) ถึงสีนํ้าตาลแก่ และมักมีเส้นสีนํ้าตาลแก่แทรกอยู่ (เรียกว่า “สักทองลายดำ”) เนื้อไม้สักเป็นเสี้ยนตรง เนื้อหยาบ มีความแข็งปานกลาง เลื่อยไสกบตกแต่งได้ง่าย และไม่ค่อยยืดหดหรือบิดงอง่ายเหมือนไม้ชนิดอื่น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวใหญ่มาก ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ปลายใบแหลมโคนมน ยาว 25-30 ซม. ใบของต้นอ่อนจะใหญ่กว่านี้มาก ผิวใบขนสากคายสีเขียวเข้ม มีการสลัดใบทิ้งเมื่อถึงฤดูหนาว
ดอก : มีขนาดเล็ก สีขาวนวลออกเป็นช่อตาม ปลายกิ่ง ออกดอกและเป็นผลเดือน มิถุนายน – ตุลาคม
ผล : เป็นผลแห้งค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. เปลือกแข็ง ภายในมี 1-3 เมล็ด
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดและแบบไม่อาศัยเมล็ด (การติดตา, การปักชำ, เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ) ชอบขึ้นตามพื้นที่ทีเป็นภูเขา หรือตามพื้นราบ ที่มีดินระบายนํ้าได้ดี และนํ้าไม่ท่วมขัง หรืออาจจะเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินที่มีความลึกมาก ๆ (โดยเฉพาะดินที่เกิดจากหินปูน ที่แตกแยกผุพังจนกลายเป็นดินร่วนลึก) ต้นสักจะเจริญเติบโตได้ดีมาก โดยมักจะขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ หรืออาจขึ้นปะปนกับไม้เบญจพรรณอื่น ๆ
สรรพคุณทางยา
ใบ : นำมาต้มกับนํ้ารับประทานเป็นยาลดระดับนํ้าตาลในเลือด, ใบมีรสเผ็ดเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษโลหิต, ใช้ทำเป็นยาอมแก้เจ็บคอ, มีสรรพคุณเป็นยาขับลม, ใช้เป็นยาแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ, ช่วยรักษาประจำเดือนไม่ปกติ
เนื้อไม้และใบ : มีรสเผ็ดเล็กน้อย สรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต
เนื้อไม้ : ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย, ช่วยแก้ไข้ คุมธาตุในร่างกาย, ใช้รับประทานเป็นยาขับลมได้ดีมาก, เป็นยาขับพยาธิ, ช่วยรักษาโรคผิวหนัง, มีสรรพคุณเป็นยาแก้บวม, ช่วยแก้ลมในกระดูก
เปลือกไม้ : มีสรรพคุณแก้อาการปวดศีรษะ, ช่วยบรรเทาอาการบวม
เมล็ด : ใช้เป็นยารักษาโรคตา
เนื้อไม้, ใบ, ดอก : มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ
เปลือก : มีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน